xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” แนะส่องฝ่ายการเมืองหวังผลประชามติ - “อุเทน” จี้ กรธ.แจงประเด็นขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต สปช. แนะชาวบ้านตรวจสอบฝ่ายการเมืองหวังผลประชามติแบบใด ด้านหัวหน้าพรรคคนไทย เชื่อ ประชามติไม่ล่ม ฟันธงร่างรัฐธรรมนูญผ่านแน่ ฝาก คสช. คุมสถานการณ์อย่าให้วุ่น ปราม กรธ.- กกต. สร้างกระแสเกลียดชังมากกว่าสร้างความเข้าใจ สับพูดแต่ข้อดี ไม่เคยตอบข้อสงสัย จี้ 2 ปมที่เคยถามแต่ไม่เคยได้คำตอบ

วันนี้ (31 ก.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า การตัดสินใจของประชาชนในการลงประชามติครั้งนี้ มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่มากไปกว่าเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เช่น การรับหรือไม่รับจะมีผลอย่างไรต่อปัญหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อยู่บริหารประเทศต่อหรือไม่ รับหรือไม่รับจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ทำให้ประเทศชาติเข้าไปในวังวนการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมหรือไม่ รับหรือไม่รับจะทำให้บ้านเมืองสงบหรือไม่สงบ บ้านเมืองเดินหน้าไปได้หรือไม่ ถ้ารับแล้วเลือกตั้ง จะทำให้ช่วงเลือกตั้งมีเงินสะพัดจ่ายออกมา อดีต ส.ส. หัวคะแนนทั่วประเทศ ชาวบ้าน โรงพิมพ์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งได้รับอานิสงส์นี้ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจของประชาชนด้วย

นายประสาร กล่าวต่อว่า หากมองโลกแบบไม่สวย ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ฝ่ายที่ตั้งธงคว่ำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ยังไม่ทันเขียนมาตราแรก จะถือโอกาสเหมารวมโฆษณา ว่า ร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแล้วที่ประชาชนไม่เอา ดังนั้น คสช. ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป จึงต้องจัดหาตัวแทนประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ พวกเขาจะอ้างว่า การทำประชามติไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากประชาชนไม่มีข้อมูล เพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึงมือประชาชน มีการจำกัดสิทธิประชาชนในการแสดงออก ทำให้ไม่สามารถถกเถียงกันได้อย่างเสรี อาจถึงขั้นที่กล่าวหาว่ามีการโกง ดังที่เขาเคยคิดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติมาแล้ว ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิลงประชามติ และช่วยกันตรวจสอบฝ่ายการเมืองด้วยว่าผลประชามติจะเป็นที่ยอมรับอย่างไรหรือไม่

ด้าน นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ว่า มาถึงวันนี้แล้วอย่างไรก็เชื่อว่าจะมีการประชามติตามกำหนด คงไม่มีการยกเลิกตามที่หลายฝ่ายมีความกังวล อีกทั้งก็ยังเชื่อว่า ผลการประชามติมีแนวโน้มที่จะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายอยากฝากให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หรือการสร้างสถานการณ์วุ่นวาย โดยเฉพาะองคาพยพของ คสช. เอง ที่หลายครั้งมักมีการแสดงความคิดเห็น หรือการปฏิบัติที่นำไปสู่ความโกรธแค้นเกลียดชังในสังคมมากกว่าการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างที่พยายามกล่าวอ้าง ทั้งในส่วนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นอกจากนี้ ยังมองว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องยังบกพร่องในการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มีเพียงความพยายามป่าวประกาศเฉพาะในประเด็นที่ กรธ. ต้องการเท่านั้น ส่วนข้อเสียหรือข้อสงสัยที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญกลับพยายามที่จะเลี่ยงหรือไม่พูดถึงเลย พรรคคนไทยเองก็เคยถามผ่านสื่อ รวมทั้งทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยัง กรธ. ใน 2 ประเด็นที่เห็นว่า ต่อไปจะสร้างความขัดแย้งขึ้นในอนาคต แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบใด ๆ จากทาง กรธ.

โดยประเด็นที่สอบถาม คือ เรื่องมาตรา 98 (11) ที่ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดลงสมัครเป็น ส.ส. ตรงนี้ หมายถึงใคร ครอบคลุมถึงผู้ใดบ้าง กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หรือที่รู้จักกันในนามสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้าข่ายมาตรานี้หรือไม่ รวมไปถึงประเด็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตที่แทบทำไม่ได้เลย ทั้งอุปสรรคจากเสียงข้างน้อยจากพรรคการเมือง หรือบรรดา ส.ว. แต่งตั้ง ที่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็ต้องมาดูเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญอีกว่าใครเป็นผู้ที่มีบทบาทในการสรรหา และผลงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น