xs
xsm
sm
md
lg

คนเพื่อไทยย้ำ 2 จุดยืนคว่ำ รธน. ระบุ “ฉบับกดหัวประชาชน” จุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แกนนำเพื่อไทย” ย้ำจุดยืน สปช.ไม่ควรผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ชี้หากไม่รอบคอบในที่สุดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ จวกเป็น “ฉบับกดหัวประชาชน” จุดเริ่มต้นวงจรอุบาทว์

วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชวลิต วิชยสุทธิ รักษารองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าวย้ำจุดยืนในการคัดค้านและชูให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

โดยนายสามารถได้อ่านแถลงการณ์ว่า เพื่อไทยย้ำจุดยืน สปช.ไม่ควรผ่านร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่รอบคอบในที่สุดจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความคิดเห็นของสมาชิกและวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นฉบับกดหัวประชาชน เนื่องจากเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มิได้ให้ความเคารพในอำนาจของประชาชน อำนาจที่แท้จริงกลับตกอยู่กับองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ได้สร้างกลไกเพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจและไร้การตรวจสอบ ประชาชนขาดสิทธิและโอกาส เป็นการทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือและตกผลึกทางความคิดโดยการยอมรับจากประชาชนแล้ว หากผลของร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ บริหารประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งตกต่ำ และจะนำพาประเทศไปสู่ความขัดแย้งในทุกระดับ ยากที่จะกลับคืนสู่สันติสุขได้ เป็นที่น่าห่วงใยว่าประเทศชาติจะตกอยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างไม่สิ้นสุด

นายสามารถกล่าวอีกว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นโดยสุจริต ทั้งจากพรรคการเมือง นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ประชาชนและสื่อมวลชนโดยทั่วไป ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเนื้อหาที่นำพาประเทศถอยหลังไปจากเดิมจนเป็นการย้อนยุค มีลักษณะเป็นการสืบทอดอำนาจ สร้างรัฐซ้อนรัฐ อำนาจของประชาชนถูกเหยียบย่ำ จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้แม้จะผ่านความเห็นชอบของ สปช.ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ผ่านประชามติจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจต้องสูญเปล่าทั้งในแง่ของกระบวนการยกร่างฯ และงบประมาณแผ่นดินที่ต้องนำมาใช้ถึงกว่า 3,000 ล้านบาทในการยกร่างฯ และจัดทำประชามติ พรรคเพื่อไทยจึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันไตร่ตรองคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและหาทางแก้ไข โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันที่ 6 กันยายน 2558 ควรแสดงความรับผิดชอบและแสดงบทบาทในวาระสำคัญด้วยวิจารณญาณที่ปรารถนาจะเห็นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อระงับยับยั้งมิให้ประเทศก้าวไปสู่วิกฤต โดยการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่หลายๆ ฝ่ายสามารถที่จะยอมรับได้

2. หากกรณีมิได้เป็นไปตามข้อ 1 โดย สปช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าปัญหารัฐธรรมนูญที่พยายามจะยัดเยียดให้ประชาชนโดยขาดการมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะร่วมคิดหรือร่วมร่างฯ จะเป็นต้นเหตุของการนำชาติเข้าสู่ภาวะแห่งความขัดแย้ง นำชาติดำดิ่งสู่วงจรอุบาทว์ รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลต่อความเชื่อถือของประเทศในสังคมโลก ในที่สุดจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ

ทั้งนี้ นายสามารถได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า การออกมาแถลงครั้งนี้ไม่ได้ขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ต้องขออนุญาตใคร มานั่งกันแค่ 4 คน และที่ผ่านมาได้แถลงการณ์และได้ยื่นข้อเสนอต่างๆไปหลายครั้งแล้ว และครั้งนี้เพียงแค่ต้องการย้ำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยก่อนถึงวันที่ 6 ก.ย. ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงโหวตลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวถามว่าความเห็นของพรรคเพื่อไทยไม่ตรงกับความเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย จะเกิดความขัดแย้งกันอีกหรือไม่ พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับนายสุเทพ เพราะนี่คือจุดยืนของพรรคเพื่อไทย เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ

ถามว่าจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สนับสนุนให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปรองดองและการปฏิรูปแห่งชาติ (คปป.) นายสามารถ กล่าวว่า นายกฯ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ละความเห็นเป็นเรื่องความเห็นของแต่ละบุคคล แต่ความเห็นของนายกรัฐมนตรีอาจจะมีน้ำหนักที่จะสามารถชี้นำได้ ทั้งนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราย้ำจุดยืนของเรามาโดยตลอด ที่ยืนหยัดว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อว่า สปช.ยังมีวิจารณญาณว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าผ่านแล้วอะไรจะเกิดขึ้น แต่เสียงที่ก้ำกึ่งของ สปช.แสดงให้เห็นว่า สปช.เริ่มคิดได้แล้ว

นายสามารถกล่าวอีกว่า เมื่อผ่านขั้นตอน สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.ไปแล้ว เพื่อไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ เมื่อถึงช่วงนั้นต้องดูว่าจะมีปัญหา อุปสรรคอะไรหรือไม่เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาบอกแล้วว่าห้ามรณรงค์กับประชาชน แม้กระทั่งการส่งข้อความผ่านไลน์ก็ทำไม่ได้ เมื่อถึงช่วงนั้นพรรคก็อาจเรียกร้องไปยัง คสช.ขอให้เปิดกว้างให้พรรคการเมืองได้รณรงค์พูดจารัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการล้มล้างรัฐบาล เพียงแต่อยากให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน

ถามว่าแนวโน้มร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้น สปช.น่าจะดีกว่าคว่ำตอนลงประชามติ นายสามารถกล่าวว่า หากไปถึงช่วงการทำประชามติก็ต้องเสียงบประมาณ 3 พันล้านบาท เมื่อไปถึงช่วงนั้นถ้าให้ข้อมูลไม่รอบด้านเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่างที่นายวิษณุบอกว่าการส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส ส่งข้อความผ่านไลน์จะมีความผิดแล้วจะทำอย่างไร ส่วนท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ สปช.โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญนั้น เราคงไม่ได้ไปร่วมมือด้วย เพราะถือเป็นความคิดเห็นของนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่รู้ว่าท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ที่ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้นายอภิสิทธิ์เปลี่ยนใจไปแล้วหรือยัง

ถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ นายสามารถกล่าวว่า รอให้ถึงวันนั้นก่อน แล้วค่อยมาพูดกันอีกที หากพูดไปวันนี้เดี๋ยวนายกฯ จะให้จดจำคำพูดเอาไว้อีก



กำลังโหลดความคิดเห็น