xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” บอกนักการเมืองบีบ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่ผิด แต่อย่าให้เห็นช่วงประชามติ - ชมดีกว่าปี 40-50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ชี้ นักการเมืองกดดัน สปช. ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่ผิดอะไร แต่อย่าให้เห็นช่วงก่อนประชามติ ขณะที่การส่งไลน์ เอสเอ็มเอส แสดงความคิดเห็นธรรมดาไม่เป็นไร แต่อย่าหยาบคาย ข่มขู่ แจงมาตรา 260 ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อ่านผ่าน ๆ ดูน่ากลัว แต่พอทำจริงมันต้องมีศาลปกครอง - ศาลรัฐธรรมนูญควบคุม ชมเปาะดีกว่าฉบับปี 40 และ 50 เขียนได้เคลียร์ขึ้น ดักคอไม่อยากตอบปม สปช. ที่ยกร่างฯ สมควรโหวตหรือไม่

วันนี้ (27 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักการเมืองออกมาเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่ความผิดอะไร ต่อให้ สปช. โหวตไปแล้วก็ยังไม่กล้าชี้ชัดว่าการออกมาเรียกร้องไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมืองจะเป็นความผิด เนื่องจากยังไม่เห็นระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเขียนไว้อย่างไร ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นการแสดงความเห็นทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่จะสมควรหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพอใจ หากพูดจายั่วยุจนไม่เกิดความแตกแยกร้าวฉานก็ไม่เป็นไร มีหลายคนที่ออกมาพูดในเชิงสร้างสรรค์ เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า ไม่อยากให้เสียเวลาเถียงกันเรื่องคำปรารภ แต่ขอให้เลือกพิจารณาในเนื้อหา

นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องการทำประชามติต้องมีการทำความเข้าใจให้กับประชาชน โดย กกต. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ แต่ที่เป็นปัญหาคือ คนที่ไปจัดกันเองจะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ 2 อย่าง คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และ ระเบียบว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นของใหม่ที่ กกต. มีอำนาจกำหนด คาดว่า จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจาณาในเดือน ก.ย. นี้ ระเบียบดังกล่าวจะมีข้อห้ามมากแค่ไหนยังไม่ทราบ แต่จากการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สนับสนุนให้มีการปลุกระดม ไม่ว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะอาจเข้าข่ายผิดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากนี้ การส่งไลน์ เอสเอ็มเอส ในลักษณะยั่วยุ ปลุกระดม ใช้คำพูดหยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ ก้าวร้าว ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการแสดงความคิดเห็นธรรมดา

รองนายกฯ ยังกล่าวถึงมาตรา 260 ที่บัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า ในทางกฎหมายทั้งหลายล้วนมี 2 นัยยะ คือ 1. นัยยะที่เขียน และ 2. นัยยะที่เอามาใช้ ถ้าดูเฉพาะที่เขียนอาจเห็นว่ารุนแรง แต่พอนัยยะที่นำมาใช้กลับตรงกันข้าม เพราะมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำกับอยู่ ต้องดูบริบทหรือข้อความอื่น หากยกเฉพาะมาตรา 260 อาจดูน่ากลัว แต่มาตราดังกล่าวยังอยู่ภายใต้บทบัญญัติทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แล้วเงื่อนเวลาในมาตรา 260 ใช่ว่าจะนำมาใช้ได้ง่ายๆ เจตนาของ กมธ. ยกร่างฯ เป็นการป้องกันการรัฐประหาร การยกเหตุผลที่จะทำรัฐประหารจะยากขึ้น

เมื่อถามว่า อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ดีกว่าฉบับปี 40 และ 50 อย่างน้อยเราได้เรียนรู้ว่า คนที่ตบมือทีหลังดังกว่าคนที่ตบมือก่อนแน่ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 นั้นเขาเขียนไว้ดี แต่มักจะมีปัญหาเคลือบแคลงสงสัยว่าคำต่าง ๆ แปลว่าอะไร วันนี้พอมีบทเรียนจึงทำให้มันชัดขึ้น ซึ่งแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ส่วนตัวพอใจในบางมาตรา โดยรัฐธรรมนูญในฉบับก่อน ๆ ก่อปัญหา พอไม่ชัดเจนจะมาถกเถียงกัน หลายเรื่องในรัฐบาลชุดก่อน ๆ ส่งไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เขาจะไม่ตอบในเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีอำนาจ ขืนตอบไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปอีกทิศหนึ่งจะหน้าแตก แต่หากไปถามศาลรัฐธรรมนูญศาลจะบอกว่าศาลไม่ใช่ที่ปรึกษา ไปทำมาก่อนผิดแล้วจะบอก แต่ตอนนี้ตนพอใจ เพราะหากมีปัญหาสงสัยสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญช่วยชี้ขาดหรือแนะนำให้ก่อนได้

เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีกว่า 2 ฉบับที่ผ่านมา จะเป็นการชี้นำให้ สปช. รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ชี้ เพราะตนไม่มีสิทธิโหวตใน สปช. แต่มีสิทธิโหวตเหมือนประชาชนทั่วไปในชั้นประชามติ แต่เอาให้รอดในชั้น สปช. ก่อน เมื่อถามต่อว่า สปช. ที่เป็น กมธ. ยกร่างฯ ควรที่จะร่วมโหวตด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่จริงไม่มีปัญหาถ้าจะตอบ แต่ตนเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีคนชูขึ้นมามีนัยยะบางอย่าง จึงไม่อยากพูดอะไรตรงนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น