xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ชี้ทีม ศก.ใหม่ลดอนุรักษนิยมเพิ่มกำลังซื้อ หนุนคว่ำร่างฯ ฉะ คปป.ตัวปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” มองทีม ศก.ใหม่ ลดอนุรักษนิยม ชมปรับนโยบายเพิ่มกำลังซื้อ เตือนให้สินเชื่อ ปชช.ต้องเหมาะสม ไม่ประชานิยม แนะประคอง ศก.-ฟื้นกำลังซื้อเกษตรกร ชงปรับนโยบายพลังงาน-ตรึงราคาแก๊ส จี้ร่วมทุนรถไฟจีน-ญี่ปุ่นมากกว่าแบกภาระเอง หนุน สปช.คว่ำร่างฯ ปลดความวุ่นวาย ตั้งกก.ยกร่างฯ ปรับเนื้อหา 2-3 เดือน ก่อนประชามติ ย้ำ คปป.ตัวปัญหาทำประเทศติดหล่ม ชี้บ้านเมืองจะเดินได้ต้องใช้ รธน.เต็มร้อย

วันนี้ (25 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 3 ว่า เป็นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจที่มีลักษณะอนุรักษนิยมน้อยลงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องกำลังซื้อมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่คงไม่ได้หมายความว่ารื้อทุกสิ่งที่ทำมา อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องปัจจัยเศรษฐกิจโลกและปัจจัยอื่นๆ ทั้งนี้เห็นว่าเป็นความพยายามที่จะเรียกความเชื่อมั่นและประคับประคองเศรษฐกิจ แต่ถ้าเปลี่ยนบุคคลโดยไม่เปลี่ยนนโยบาย ปัญหาจะยังคงอยู่ ซึ่งเท่าที่ทราบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้มุ่งมาที่ประเด็นเพิ่มกำลังซื้อจึงน่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในระดับหนึ่ง

อดีตนายกรัฐมนตรียังเตือนว่า การมุ่งให้สินเชื่อกับประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อมีข้อควรระวัง เพราะหนี้ครัวเรือนขณะนี้สูงอยู่แล้วจึงต้องรอดูว่ารูปแบบที่รัฐจะดำเนินการเป็นอย่างไร แต่การยอมรับว่ากำลังซื้อในชนบทเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจถือว่ายอมรับความจริงที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาถูกตรงจุดมากขึ้น แต่ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมด้วยโดยระวังว่าอย่าให้กลับไปสูงลักษณะประชานิยม ที่ไม่ยั่งยืน ทั้งในแย่ภาครัฐและครัวเรือน คือสร้างหนี้ทั้งรัฐและครัวเรือน แต่มาตรการสนับสนุนประกันรายได้ หรือให้สวัสดิการที่เหมาะสม จะเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งต้องเริ่มทำให้เร็วที่สุด เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเกิดผลกระทบต่อตลาดทุน ส่วนกรณีที่รายได้รัฐจัดเก็บได้ลดลงกว่าสองแสนล้านบาทนั้น รัฐบาลก็ต้องจัดสมดุลอยู่บนความพอดี เพราะการไม่ใช้เงินก็ไม่ได้ทำให้รัฐมีเงินมากขึ้น เพราะเก็บภาษีไม่ได้ จึงต้องประเมินขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสม และปรับโครงสร้างควบคู่กันไป

“ผมคิดว่าสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ประคับประคองเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อในหมู่เกษตรกร ประชาชนที่ยากจน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และอยากให้รัฐให้ความสำคัญกับต้นทุน เช่น พลังงาน เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันลดลงมาก ควรส่งต่อประโยชน์ตรงนี้ให้ประชาชน จากการบริหารกองทุนน้ำมันโดยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานใหม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลพยายามผลักภาระให้ประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงจึงต้องเปลี่ยนและแก๊สหุงต้มที่จำเป็นในชีวิต ควรให้ประชาชนใช้ในราคาต้นทุนไม่จำเป็นต้องใช้ราคาอุตสาหกรรม หรือปิโตรเคมี จึงคิดว่าควรกลับมาตรึงราคาแก๊สหุงต้ม และเชื่อว่าอาจจะทำให้ราคาลดลงด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันโครงการขนาดใหญ่ก็ต้องพิจารณาในความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์และความคุ้มค่า ต้องดำเนินการในรูปแบบที่เหมาะสมด้วย เช่นกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ควรเป็นการร่วมทุน ไม่ใช่กู้จากจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการร่วมทุนจะเป็นหลักประกันให้โครงการนี้เป็นการเชื่อมโยงสูงภูมิภาคจริงๆ โดยลาวควรจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นการกู้เงินเท่ากับไทยเป็นผู้ทำรถไฟเอง ซึ่งจะมีปัญหาต่อไปในเรื่องการบริหารและการเชื่อมโยง จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนรูปแบบการดำเนินโครงการนี้ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมวลชน เช่น โครงการปากบารา โรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ ต้องมีคำตอบชัดเจนว่าเหตุใดต้องใช้พื้นที่ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีทางเลือกอื่นหรือไม่ และโครงการโปรแตสที่จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ดี รวมถึงรูปแบบโครงการรถไฟความเร็วกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่กำลังเจรจากับประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลต้องประเมินว่าสามารถร่วมทุนได้หรือไม่ ใช้ประโยชน์ใช้ทักษะของเขาได้หรือไม่ มากกว่าไปกู้เงิน เพราะดีไม่ดีกลายเป็นกู้เงินมาจ้างประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศต้องแบกรับภาระการบริหารและหนี้

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนเตรียมส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยประเด็นไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากไม่มีคำปรารภ ว่า ตนคิดว่าไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลักการทักท้วง เพราะเคยทำแล้วครั้งหนึ่งในปี 2540 ซึ่งมีบทสรุปไปแล้วว่าคำปรารภเขียนล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องบรรยายกระบวนการทั้งหมดจนกระทั่งเกิดการตรารัฐธรรมนูญ จึงขอให้ดูสาระของรัฐธรรมนูญ เพราะการใส่เนื้อหาเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) อย่างกระชั้นชิดเป็นการสร้างปัญหารัฐซ้อนรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต เป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่เคยขัดข้องว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องถูกกำกับไม่ให้ใช้อำนาจในทางไม่ชอบ และไม่ขัดข้องที่จะมีบทบัญญัติให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป แต่สิ่งที่เขียนอยู่ไม่ได้บอกว่าการปฏิรูปคืออะไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และยังมีบทบัญญัติบังคับรัฐบาลได้ เช่นกรณีมีความคิดเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้ารัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วเสนอนิรโทษกรรมแบบที่เคยเกิดขึ้น รัฐบาลและสภาก็ขัดไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาหรือแม้แต่การปฏิรูปตำรวจที่เคยเขียนไว้ดีแล้วกลับเอาออกไปหมด แต่จะเสนอเป็นกระทรวงตำรวจ ถ้ารัฐบาลจากการเลือกตั้งอยากปฏิรูป แต่เห็นว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจก็จะไม่เกิดการปฏิรูปได้จริง แต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะจะมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ในขณะที่คปป.ก็จะขัดขวางเพราะกระทบต่อตัวเอง แล้วใช้อำนาจที่มีมาบังคับซึ่งจะยิ่งเกิดความขัดแย้งมากขึ้น จึงอยากให้สปช.คว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ผมไม่อยากให้สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ไม่ใช่เพราะว่าทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ แต่เป็นการปรับปรุงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้ดีก่อนทำประชามติ เพราะหลายเรื่องไปได้แต่มีปัญหาเรื่อง คปป.ซึ่งมีช่องโหว่ในอนาคต เช่น รัฐบาลในอนาคตอาจสามารถแก้ไขกฎหมายลูกในการกำหนดกติกาการได้มาซึ่ง ส.ว.และ คปป.ก็จะเกิดปัญหามาก ดังนั้นไม่ควรนำไปสู่ความขัดแย้งไปสู่จุดการทำประชามติหรือหลังเลือกตั้ง ดังนั้น สปช.ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้เลย ส่วนการปรับปรุงเนื้อหาไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว แค่เชิญทุกฝ่ายมาหารือพร้อมบอกเป้าหมายกับสังคมที่ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปอย่างไร และจะให้มีกลไกอะไรมากำกับดูแลที่ดีกว่าทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นค่อยทำประชามติ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า แม้สังคมจะกังวลว่าบ้านเมืองจะกลับไปวุ่นวาย จะไม่มีการปฏิรูป จึงมีความพยายามคิดสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ โดยปราศจากรูปธรรมของการปฏิรูปและไม่มีกลไกที่ชัดเจนในเรื่องป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิด จะยิ่งเพิ่มความวุ่นวายความสับสนและความรุนแรงในอนาคต ดังนั้นเห็นว่า คสช.ควรเปิดใจหารือสิ่งที่ตัวเองเป็นกังวล เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น ต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายอมรับทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ทางออกที่ดีที่สุดคือสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ มีคณะกรรมการ 21 คน มาปรับปรุงเนื้อหา คงเป้าหมายการปฏิรูปการรักษาความสงบและการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไว้ แต่ถ้าไม่รับฟังตนก็กังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งในทุกขั้นตอนนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะไม่มีทางลัด จะใจร้อนหรือคิดง่ายๆไม่ได้ เพราะปัญหามีที่มาที่ไปชัดเจน แต่ตอนนี้พูดปลายทางว่าปัญหาคือคนทะเลาะกัน โดยไม่ดูว่าความขัดแย้งมาจากต้นเหตุใด เพราะ คปป.ที่เขียนขึ้นมาไม่มีรูปธรรมว่าขอบเขตการใช้อำนาจคืออะไร ต่างจากการบัญญัติในเรื่องการสกัดนโยบายประชานิยม ดังนั้นหากสปช.ผ่านร่างนี้จะนำไปสู่การทำประชามติ จะสร้างปัญหาแน่และความรุนแรงจะมากขึ้น เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเคลื่อนไหว หาก คสช.ไม่ให้เคลื่อนไหวก็จะเกิดปัญหาว่าจะทำประชามติทำไม ซึ่งเป็นความขัดแย้งเบื้องต้น ขั้นตอนต่อไปถ้าไม่ผ่านประชามติก็จะเกิดปัญหากับหลายฝ่ายโดยเฉพาะกับ คสช. แม้ว่าผ่านประชามติก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะต่อสู้ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมองไม่เห็นว่าการเดินเช่นนี้จะช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้า หลุดพ้นจากปัญหาเดิมได้อย่างไร ตนมองในแง่ดีว่าเป็นความพยายามที่จะคลายความกังวลของสังคมที่กลัวว่าจะไม่มีการปฏิรูปและสังคมจะไม่สงบก็ควรนำเป้าหมายนี้มาคุยกันทุกฝ่ายให้สังคมยอมรับแล้วเดินไปในทางเดียวกัน

“พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า สปช.ไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีกว่า เพราะเมื่อไปถึงประชามติจะมีปัจจัยอื่นเข้ามา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเลือกตั้ง ยิ่งมีการพ่วงคำถาม จะทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นก็จะเกิดความยุ่งยาก จึงอยากให้คำนึงด้วยว่ากติกานี้ต้องใช้ตลอดไป อย่าคิดว่าผ่านๆไปก่อนตอนนี้ไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งผมเคยแสดงจุดยืนว่าให้ผ่านไปก่อน เพราะยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ และไม่ใช่ต้นตอของปัญหาในขณะนี้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายจุดที่เป็นปัญหาแน่นอน ผมไม่อยากให้มองว่าเกิดการเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ต้องมองว่าถ้าจะเลือกตั้งได้จะอยู่ในภาวะอย่างไร เมื่อมีการรัฐประหารแล้วสังคมตั้งความหวังให้สะสางปัญหาเดิมเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ผมมองมาเห็นว่าสังคมจะเดินหน้าอย่างราบรื่นได้ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สปช.จึงควรปลดสลักแล้วกลับมาตั้งหลักกันใหม่ แก้ในส่วนที่เป็นปัญหา และให้เกิดความชัดเจนในเรื่องหลักคิด เพราะทุกวันนี้เป็นเรื่องวาทกรรม ปฏิรูป ปรองดอง ประชาธิปไตย ทำให้เกิดการโต้เถียงไปมา ซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายเหมือนเดิม ทั้งนี้ คสช.และ สปช.ต้องทำหน้าที่ของตัวเองโดยอำนาจของ สปช.มีเรื่องลงมติร่างรัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียวที่มีผลในทางปฏิบัติ นอกนั้นเป็นเพียงคำเสนอแนะ จึงอยากให้ดูตามเนื้อหาว่ากติกาสูงสุดของประเทศที่ร่างขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยอย่าไปคิดว่าคว่ำรัฐธรรมนูญและให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ”

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในอดีตรัฐธรรมนูญเพียงวรรคเดียวเป็นชนวนจนทำให้ฆ่ากันตาย เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่ว่าดี 99 เปอร์เซ็นต์ แล้วจะไม่มีปัญหา เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐจะทำให้เกิดความวุ่นวายมาก ถามง่ายๆว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะปฏิรูป แต่ไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินจะทำได้หรือ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิรูปต้องควบคู่กัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งมาก ขอให้ตั้งหลักใหม่ ถ้าจะเสียเวลาอีก 2-3 เดือนก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าพวกตนเห็นแก่ตัวอยากกลับไปเป็นผู้แทนก็คงบอกให้รีบผ่านเพื่อให้มีเลือกตั้ง แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะไม่ต้องการกลับไปเลือกตั้งแล้วไปวุ่นวายอีก แต่ต้องการการเลือกตั้งมีประชาธิปไตยที่ดีและสมดุล

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อสายตานานาชาติ ว่า นานาชาติคงมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ไม่สำคัญเท่ากับผลลัพธ์ที่มีต่อสังคมไทย ถ้าดีแต่นานาชาติไม่ชอบเราก็ไม่จำเป็นต้องตามใจนานาชาติ แต่สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพราะจะเกิดปัญหาตรงกันข้าม จึงอยากให้รับฟังรวมถึงกรณีที่จะพ่วงคำถามเรื่องรัฐบาลปรองดอง ตนยืนยันมาโดยตลอดไม่เห็นด้วยกับการพ่วงคำถามใดๆทั้งสิ้น เช่น ถามว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปี ถ้าผลออกมาว่าประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบกับคำถามด้วย จะปฏิบัติอย่างไร เพราะขัดแย้งกันเอง ก็จะยิ่งวุ่นวายไปหมด ทุกคนต้องเลิกคิดเรื่องการเมืองแต่ต้องคิดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับบ้านเมืองในอนาคต

“วิธีคิดที่จะให้มีรัฐบาลแห่งชาติเพื่อแบ่งสรรผลประโยชน์ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เพราะต้นตอเกิดจากการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด การจะให้ใครร่วมกันเป็นรัฐบาลไม่ใช่การแก้ไขปัญหานี้ ถ้าไม่มีการแก้ไขว่าการใช้อำนาจที่ผิดต้องถูกตรวจสอบด้วยกลไกที่เหมาะสม จึงอยากให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีกติกาที่เหมาสมและยั่งยืนในอนาคต” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น