xs
xsm
sm
md
lg

หักมุมในโค้งสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ในที่สุด หลังจากการรอคอยมาเป็นเวลานาน เพราะเป็นคนสุดท้ายที่แสดงจุดยืนว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาแถลงแบบชัดเจนเต็มปากเต็มคำ ว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แม้จะออกตัวว่าเป็น “ความเห็นส่วนตัว” ไม่ใช่มติพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ประชุมพรรคไม่ได้เนื่องจากติดคำสั่ง คสช.

แต่ในฐานะของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสียงของ “อภิสิทธิ์” ก็ไม่ต่างอะไรจากเสียงของพรรค และเชื่อว่าเอาเข้าจริงแล้วแม้จะเป็นการประกาศในนามส่วนตัว แต่ก็น่าจะมีการหารือนอกรอบ หรือได้รับความเห็นชอบแล้วจากพรรค

เพราะหัวหน้าพรรคเป็นตัวแทนของพรรค เสียงของหัวหน้าพรรคก็เหมือนเสียงของพรรค

เหตุผลของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์นั้นหนักไปในทางว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังขาดความเป็นประชาธิปไตย และกลไกปราบโกงนั้นทำไม่ได้จริง และยังมีช่องโหว่บางเรื่องในที่สุดอาจจะเป็นประโยชน์ต่อจำเลยในคดีจำนำข้าวที่คดียังค้างอยู่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ท่าทีของนายอภิสิทธิ์นั้นทำให้ผลของประชามติเริ่มเทไปในทิศทางของการ “ไม่รับ” มากขึ้นเรื่อยๆ

ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน ตลอดจนผู้ชื่นชอบส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์เอง ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะออกเสียงเทไปในทางเดียวกันนั้นเอง

ส่วนทางพรรคเพื่อไทยนั้น แม้ยังไม่มีลักษณะของการประกาศเป็นทางการ เพราะไม่มีตัวบุคคลที่อาจเรียกว่าเป็น “หัวหน้าพรรค” หรือ “ผู้นำพรรค” อย่างเป็นทางการได้ เว้นแต่เจ้าของตัวจริงที่ยังไม่มีท่าทีอะไร แต่จากบรรดาแกนนำคนสำคัญของพรรค ก็แสดงให้เห็นและคาดเดาได้ว่า เป็นไปในแนวทาง “ไม่รับ” แน่ละ

ส่วนฝ่ายที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวร่วมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือที่เรียกตัวเองว่าฝ่าย “ประชาธิปไตย” เช่น บรรดานักวิชาการ อาจารย์ นักศึกษากลุ่มหน้าเดิมๆ ทั้งหลาย เช่นกลุ่ม NDM หรือนิติราษฎร์ และภาคีเครือข่ายประชาชน 43 องค์กรไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกลุ่มนี้แสดงท่าทีมานาน และแสดงจุดยืนกันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เรียกว่าตอนนี้ ใครๆ ก็ “รุม” รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ทั้งฝ่ายการเมืองสองพรรคใหญ่ ฝ่ายนักวิชาการ ฝ่ายประชาชน และนักศึกษา

นอกจากนั้น เมื่อคนกลางๆ ที่ยังไม่ตัดสินใจ โดยยังไม่มีแนวทางชัดเจน เมื่อเห็นทั้งสองพรรคใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาแสดงจุดยืนเช่นนี้ ก็อาจจะคิดได้ว่า รัฐธรรมนูญนี้คงมีอะไรไม่โอเคจริงๆ นั่นแหละ ทุกฝ่ายถึงประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกันอย่างนี้

รวมถึงท่าที “เคร่งเครียด” ของทั้ง กกต. และ คสช.ที่เอาจริงเอาจังจับกุมตัวคนที่แสดงความเห็นไปในทางไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ หรือกติกาการรณรงค์ก่อนการทำประชามติที่ดูจะเคร่งครัดจนใครๆ ก็พูดอะไรไม่ได้หรือไม่กล้าแสดงออกอะไร

แม้ว่าเจตนารมณ์ของทางฝ่ายบ้านเมือง อาจจะเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายปลุกระดม แต่ในทางกลับกัน มันก็ถูกตั้งคำถามและถูกโจมตีว่า นี่เป็นประชามติที่ไม่ฟรี และไม่แฟร์

คนกลางๆ อาจจะมองว่า ถ้าของดีจริง ทำไมถึงห้ามคนพูดถึงกล่าวถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้อาจจะตั้งข้อกังขากับตัวร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนว่า หรือมีอะไรไม่น่าไว้วางใจ ท่าทีของภาครัฐจึงเป็นเช่นนั้น

และต้องไม่ลืมแนวร่วมในมุมกลับ ที่อาจจะมีแนวคิดแหวกแนว คือ ชื่นชมชื่นชอบในตัวท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. เสียจนอยากให้อยู่นานๆ ก็เลยคว่ำรัฐธรรมนูญดีกว่า

สรุปว่า เช็กเสียงตอนนี้ ฝ่ายที่ทำท่าจะไม่รับรัฐธรรมนูญมี 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มวลชนของพรรคใหญ่สองพรรค ฝ่ายนักวิชาการ และแอคติวิสต์สาย “ประชาธิปไตย” และประชาชนที่คลางแคลงใจกับกระบวนการประชามติ หรือฝ่ายที่เห็นว่ามีคนไม่รับมาก และกลุ่มที่เชื่อว่าถ้าโหวต “ไม่รับ” ลุงตู่จะอยู่ไปอีกยาวๆ

ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็อาจจะได้แก่กลุ่มที่ยังมั่นคงอยู่กับ กปปส.ที่คุณสุเทพ ออกมาประกาศไว้ล่วงหน้าว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าปราบโกงได้แน่ ซึ่งคนกลุ่มที่ศรัทธาเฉพาะตัวคุณสุเทพโดยแยกจากพรรคประชาธิปัตย์ และตัวอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ก็พอมีเหมือนกัน

นอกจากนี้ก็มีประชาชนอีกบางส่วนเหมือนกัน ที่มองไปในทางว่า เมื่อ “นักการเมือง” พรรคใหญ่ทั้งสองพรรคต่างก็ “ไม่เอา” รัฐธรรมนูญ ก็แปลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะเป็นยาแรงที่จะฆ่านักการเมืองทุจริตได้เป็นเบือ หรือทำให้การใช้อำนาจทางการเมืองไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจได้ เช่นนี้ไม่ว่าจะพรรคไหนหรือใครก็ต่าง “ปฏิเสธ” เพราะยังคิดจะหากินในวงการการเมืองอีกนาน คนกลุ่มนี้ก็น่าจะโหวตเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญได้

ส่วนเรื่องคำถามพ่วงนั้น ตอนนี้อาจจะไม่เป็นประเด็นเสียแล้ว เพราะลำพังแค่ตัว “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นเหมือนตัวแม่ก็ดูร่อแร่เสียแล้ว ส่วนต่อขยายอย่างคำถามพ่วงจึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง

ปัญหาคือถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจะไม่ผ่านประชามติขึ้นมาจริงๆ จะเป็นเช่นไร เพราะเท่ากับว่าเป็นกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่ทาง คสช.อำนวยการให้จัดทำขึ้นในรูปคณะกรรมการนั้น “แท้ง” ไปแล้วสองฉบับติด

โอกาสที่จะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในชื่อใหม่ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญนั้นดูจะริบหรี่เต็มทน และถึงจะทำอย่างนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ในรอบนี้จะมีนักกฎหมาย นักวิชาการ มือร่างรัฐธรรมนูญที่ไหนจะกล้าเอื้อมมือเข้ามารับ “เผือกร้อน” ไปอีก เมื่อได้เห็นชะตากรรมของทั้ง อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งถือเป็นมือวางอันดับต้นของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญเมืองไทยไปแล้ว

หนทางที่เป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่ คสช.กำหนดไว้ว่าอย่างน้อยในปีหน้าต้องมีเลือกตั้งใหม่แน่ๆ คือการไปขุดรัฐธรรมนูญฉบับเก่าสักฉบับขึ้นมาปรับปรุงใหม่เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งให้ได้ ซึ่งตัวเก็งอันดับหนึ่งก็น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2550

แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เท่ากับว่า การรัฐประหารหรือการปฏิรูปอาจจะ “เสียเปล่า” ไปหมด เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บท ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ต้องไปคว้าเอารัฐธรรมนูญเก่าๆ ที่เคยสร้างปัญหาไว้กลับมาใช้ใหม่อยู่ดี

แลดูช่างไม่มีความหวังเอาเสียเลย.
กำลังโหลดความคิดเห็น