xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ส่อตัด ม.182 ลังเลภาค 4 แย้มใส่อำนาจล้างผิดลง กม.ลูก เมินต่ออายุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยแบ่งปมแก้ รธน.เป็นกลุ่ม หวังถกคราวเดียว แย้มส่อตัด ม.182 ส่วน ม.181 ปรับเนื้อหา ตัดกลุ่มการเมือง แต่ให้ตั้งพรรคง่ายขึ้น ลังเลตัดภาค 4 ตาม ครม.แนะ อ้างเสียเจตนารมณ์ รธน.ฉบับปฏิรูป ไม่ชัดตัดทิ้งอำนาจ คกก.ล้างผิด แย้มเขียนในกฎหมายลูก ไม่ปลื้ม “สมบัติ” แนะยืดเวลา กมธ.ร่างกฎหมายลูกปีครึ่ง หวั่นถูกมองต่ออำนาจ ชี้การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไม่ควรปน รธน.

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของกรรมาธิการฯหลังรับฟังคำชี้แจงในการเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากทั้ง 9 คำขอแล้วว่า จะให้เจ้าหน้านำไปจัดเป็นกลุ่มเพื่อเรียงประเด็นในการพิจารณา เช่น กลุ่มระบบการเมือง กลุ่มองค์กรภาคประชาชน เป็นต้น โดยในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย. 58) กรรมาธิการฯจะได้นำมาอภิปรายในที่ประชุมเพื่อสรุปความเห็นว่าประเด็นใดทีคำขอมีน้ำหนักควรตัดทิ้ง ประเด็นไหนควรทำแค่ปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งการพิจารณาเป็นกลุ่มจะทำให้สามารถพิจารณาหลายมาตราที่เกี่ยวเนื่องไปในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะตัดมาตรา 182 ทิ้ง ส่วนมาตรา 181 อาจมีการปรับปรุงเนื้อหา คือยังให้นายกรัฐมนตรีสามารถยื่นเรื่องเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะไว้วางใจหรือไม่ โดยไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมเดียวกัน เช่นเดียวกับกรณี กลุ่มการเมือง อาจตัดทิ้งแต่ไปปรับปรุงในส่วนพรรคการเมืองให้ตั้งง่ายขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มใหม่ที่อาจไม่มีทุนเข้าสู่การเมืองมากขึ้น

สำหรับภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่ ครม.เสนอให้ตัดทิ้งและให้รวมคณะกรรมการปรองดองกับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เข้าด้วยกัน ส่วนรายละเอียดให้นำไปบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น นายคำนูณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กรรมาธิการฯ ต้องพิจารณาเพราะเอกลักษณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ “ฉบับปฏิรูป” หากไม่มีการบรรจุเนื้อหาเหล่านี้ไว้จะทำให้เสียเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงก็มีเหตุผลว่า เรื่องบางอย่างยังอ่อนไหว หากเขียนในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งได้ จึงเสนอให้ไปเขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และหากมีปัญหาก็ยังสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรรมาธิการฯ จะต้องไปพิจารณาร่วมกันอีกที อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแม้จะมีการตัดภาค 4 ออกแต่ยังคงมีคณะกรรมการปรองดองฯ อยู่ดี และในกฎหมายลูกก็อาจให้อำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ไม่ต่างจากที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะในส่วนของกรรมาธิการฯไม่มีใครติดใจการให้อำนาจนี้ เพียงแต่อาจเขียนให้มีความรัดกุมขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการตีความจนกลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัย

นายคำนูณยังกล่าวถึงข้อเสนอของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญให้สั้นลงเพื่อนำไปบรรจุในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนซึ่งจะทำให้มีการขยายเวลาการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ออกไปอีกประมาณ 1 ปีครึ่งว่า โดยส่วนตัวแล้วยังเห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกเพราะเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ควรเร่งดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว อีกทั้งการกำหนดว่าให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดการเลือกตั้ง แทนที่จะระบุให้มีการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้เกิดปัญหาเพราะไม่ทราบว่าจะมีกระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งอาจทำให้เป็นปัญหาและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยตามมาว่า เป็นข้อเสนอเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 2 ปีตามที่มีกระแสเรียกร้องอยู่ในขณะนี้หรือไม่

“โดยส่วนตัวผมคิดว่าการจะอยู่ในอำนาจต่อหรือไม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรนำมาปนกับเรื่องของรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการเสนอให้ทำประชามติเรื่องนี้พร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็จะทำให้เกิดความสับสนอีกทั้งยังขัดแย้งกันเองอีกด้วย เพราะคำถามหนึ่งคือจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งหากรับก็นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่อีกคำถามหนึ่งกลับถามว่าจะไม่เลือกตั้งสองปีหรือไม่” นายคำนูณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น