xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ จับกลุ่มคำขอแปรญัตติพรุ่งนี้ นัดแจง 2 - 6 มิ.ย.หลายเรื่องมีสิทธิ์ปรับปรุงหรือตัดทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เตรียมจับกลุ่มคำขอแปรญัตติพรุ่งนี้ ก่อนเชิญให้แจงเพิ่มตั้งแต่ 2 - 6 มิ.ย. ยังไม่รู้มีกี่กลุ่ม แต่เตรียมวางวันเชิญแล้ว เผย ม.181 - 182 ,คณะกรรมการปรองดอง เป็นไปได้สูงมีการปรับปรุงหรือตัดทิ้ง ชี้แรงกดดันเพิ่มเป็นธรรมดา

วันนี้ (25 พ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคำขอแปรญัตติจากส่วนต่าง ๆ ว่าเจ้าหน้าที่จะนำมาประมวลจับกลุ่มและระบบภายในวันพรุ่งนี้ (26 พ.ค.) เป็นต้นไปเพื่อให้เห็นภาพชัดว่าในแต่ละมาตราแต่ละประเด็นมีคำขอแก้ไขอย่างไรบ้างเพื่อให้ดูง่าย ซึ่งคงใช้เวลาสองสามวัน จากนั้นเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมชี้แจงด้วยวาจาเพิ่มเติมกลุ่มละ 3 - 5 คน ให้เวลากลุ่มละครึ่งวัน ใช้เวลาตั้งแต่ 2 - 6 มิถุนายน โดยวันพรุ่งนี้ (26 พ.ค.) กรรมาธิการยกร่างจะประชุมเพื่อหารือว่าจะเชิญใครมาวันไหน อย่างไรเพราะไม่ทราบว่ามีกี่กลุ่ม รวมถึงกรณีพรรคการเมืองว่าจะให้โอกาสส่งตัวแทนมาชี้แจงตามที่เคยคุยไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยอีกครั้ง

นายคำนูณ กล่าวว่า ทั้งนี้เห็นว่ากรรมาธิการฯ ควรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เราเห็นตารางเวลานี้แล้ว มีการกำหนดขั้นตอนทำงานก็กำหนดแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายนจะประชุมไม่มีวันหยุดราชการ และจะเดินทางไปที่สวนสนในวันที่ 22 มิ.ย. - 3 ก.ค. เพื่อประชุมได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนสัปดาห์สุดท้ายจะมีไปต่างจังหวัดหรือไม่ต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยในการพิจารณาจะพิจารณาเป็นรายมาตราเหมือนการพิจารณาวาระสองของกรรมาธิการฯและจะแถลงผลการพิจารณาต่อสาธารณะทุกวัน

“ถ้าประเด็นใดมาตราใดมีผู้ยื่นขอแก้ไขเป็นจำนวนมากก็ต้องพิจารณาอย่างแน่นอนที่สุด เพราะมีน้ำหนัก เช่นมาตรา 181 - 182 ที่ครม.และกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดทิ้ง โดยส่วนตัวก็เห็นว่ากรรมาธิการฯ ทุกคนมีประเด็นนี้อยู่ในใจรวมถึงอำนาจคณะกรรมการปรองดองในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้น หรือตัดทิ้งบางมาตรา เพื่อไม่ให้มีความหวาดระแวง ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับฉันทามติของที่ประชุม แต่ถ้าตกลงไม่ได้จะไม่เร่งลงมติเอาไปรวบรวมไว้ในช่วงท้าย” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ ยังยอมรับว่า มีแรงกดดันมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะก่อนรับหน้าที่ก็คาดหมายไว้แล้ว เพราะเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญในสถานการณ์พิเศษและแตกต่างจากปี2540 จึงคาดการณ์ได้ตั้งแต่แรกว่าจะมีแรงกดดันจากทุกสารทิศ


กำลังโหลดความคิดเห็น