xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ทำเอกสารจัดหมวดคำแก้ รธน. “คำนูณ” ลั่น สปช.คว่ำร่างก็ไม่เสียหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเผยนำคำขอแก้ รธน.ของ ครม.-สปช.ทำเป็นเอกสารตารางสรุปแยกรายมาตรา “คำนูณ” แจงจัดหมวดให้พิจารณาง่าย มีบางส่วนขอให้รื้อโครงสร้าง รธน. เผยมีบางคณะขอเลื่อนทำให้การจัดคิวแจง รธน.ยังไม่นิ่ง ขอทำดีที่สุด สปช.ไม่ให้ผ่านไม่เสียหน้า ต้องปล่อยวาง รับหาก ครม.ยืดเวลาให้เพิ่มก็มีเวลาหายใจมากขึ้น “ปกรณ์” แจงคิวชี้แจง



วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาความคืบหน้ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. และ ครม. ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจาก สปช. และ ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามี สปช. ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 8 กลุ่ม ครม.1 กลุ่ม รวมเป็น 9 กลุ่ม ซึ่งการประชุมครั้งที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ ได้จัดลำดับให้แต่ละกลุ่มได้เข้ามาชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยเรียงลำดับตามกลุ่มที่มายื่นคำขอแก้ไข เบื้องต้นขณะนี้ฝ่ายเลขาฯ ได้จัดทำเป็นเอกสารรูปแบบตารางสรุปข้อเสนอและความเห็นแบบเป็นรายมาตรา โดยเอกสารฉบับดังกล่าวจะระบุว่าตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 315 มี สปช. และ ครม. ยื่นเสนอขอแก้ไขอย่างไรบ้าง รวมทั้งเสนอขอเพิ่มมาตราใดบ้าง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้จะดูรายละเอียดคำขอไปจัดระบบเพื่อให้ดูง่าย ซึ่งในส่วนของ ครม.มี 117 ประเด็น ส่วนคำขออื่นก็มีคำขอที่ซ้ำมาตรากันว่ามีใครขอบ้าง เช่น ถ้ามาตราหนึ่งมี 9 คำขอเลยก็แยกออกมา ไม่ได้หมายความว่าในส่วนที่มีคำขอซักกันมากจะมีน้ำหนักมากหรือจะไม่สนใจคำขอที่มีกลุ่มเดียว แต่เป็นการจัดหมวดหมู่เพื่อให้พิจารณาง่ายเพราะแม้บางคำขอเหมือนกันแต่ข้อเสนอที่ให้เปลี่ยนแปลงอาจแตกต่างกันจึงต้องดูที่เหตุผล

นายคำนูณยอมรับว่า จากคำขอแก้ไขของ สปช.มีบางส่วนเป็นการรื้อโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เช่น คำขอของกรรมการปฏิรูปการเมืองและกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เรียงหมวดหมู่ใหม่จนโครงสร้างแตกต่างไปจากเดิม ส่วนการพิจารณาในประเด็นที่มีคำขอแก้ไขก็สามารถทำได้ทุกเรื่อง สุดท้ายอยู่ที่กรรมาธิการฯพิจารณาว่าจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งในวันนี้คงจะพิจารณาเอกสารที่เจ้าหน้าที่ส่งมา จากนั้นต้องรอรับฟังความคิดเห็นด้วยวาจาที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-6 มิ.ย. จึงจะมาไล่ดูรายมาตราว่ามีคำขอแก้ไขอย่างไรและจะปรับปรุงเนื้อหาหรือไม่ ซึ่งการเข้าชี้แจงก็จะกำหนดตามลำดับเวลาของกลุ่มที่ยื่นคำขอแก้ไข แต่มีบางคณะที่ติดภารกิจขอเลื่อนก็อาจมีการสลับวันกันบ้างจึงทำให้การจัดลำดับผู้เข้าชี้แจงยังไม่นิ่ง

โฆษกคณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่บอกว่ามั่นใจว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของ สปช.หรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะทำดีที่สุด และถ้าไม่ผ่าน สปช. กรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เสียหน้า เพราะไม่มีหน้ามีตาให้เสียเนื่องจากเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ถือว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องปล่อยวางว่าไม่ได้เป็นเจ้าของและพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ยึดของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปตามหลักการและเหตุผลควบคู่กันไป มั่นใจว่าจะทำให้ดีที่สุด

“หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.ก็ไม่ห่วงว่าจะสูญเวลาเปล่า 1 ปี เพราะทำดีที่สุดตามกรอบกติกา ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ในขณะนี้ตารางงานก็กำหนดให้ต้องเสร็จภายใน 23 ก.ค.แต่ถ้า ครม.จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาเพิ่มให้อีก 30 วันก็จะทำให้กรรมาธิการฯมีเวลาหายใจมากขึ้น” นายคำนูณกล่าว

ด้านนายปกรณ์ ปรียากร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้เลขานุการกรรมาธิการฯ ประมวลคำขอแก้ไขทั้งหมดว่ามีส่วนที่เหมือนหรือต่างอย่างไร จากนั้นระหว่างวันที่ 2-7 มิถุนายนนี้จะให้กลุ่มผู้เสนอคำขอแก้ไขชี้แจงหลักการเหตุผล โดยกลุ่มของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายฯ ของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ จะชี้แจงร่วมกัน ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 มิถุนายน และคณะรัฐมนตรีชี้แจงในวันที่ 7 มิถุนายน จากนั้นกรรมาธิการฯ ก็จะเริ่มพิจารณาแก้ไขตามข้อเสนอซึ่งกรอบระยะเวลาเดิมจะเหลือเวลาในการปรับแก้ประมาณ 40 วัน






กำลังโหลดความคิดเห็น