ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พอใจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จครบทั้ง 315 มาตราแล้ว เผย กรรมาธิการส่วนใหญ่หนุนทำประชามติ ถกประเด็นปฏิรูปตำรวจ ยึดตามแนวทางกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย โยนเรื่องไม่อยู่ในสายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ ห้ามการเมืองแทรกแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ให้อัยการ - นายอำเภอ - ผู้ว่าฯ ร่วมสอบสวนคดีร้องขอความเป็นธรรม ปรับนิติเวชทำงานอิสระ
วันนี้ (8 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รู้สึกพอใจที่ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาทบทวนร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ทั้ง 315 มาตราเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยหลังจากนี้ก็จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาภายในวันที่ 17 เม.ย. นี้
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนไม่เห็นชอบจะต้องเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ถ้าหากย้อนกลับไปเอารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็เชื่อว่าจะเป็นปัญหาเหมือนเดิม เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทั้งหมด และถ้าต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมดแล้วจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่นั้น ก็คงเป็นเรื่องของอนาคต อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นขณะนี้พบว่าเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าควรมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 มีความเข้มแข็งคือการทำประชามติ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็ควรจะมีการทำประชามติ
นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนถ้อยคำและเจตนารมณ์ที่เหลือเป็นส่วนสุดท้ายที่ค้างพิจารณา คือ หมวดเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในส่วนการปฏิรูปตำรวจ มาตรา 282 (8) โดยให้ยึดถ้อยคำตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของ สปช. เสนอมาโดยไม่มีการแก้ไข ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ภารกิจตำรวจ ไม่เกี่ยวกับการป้องกันและอาชญากรรมให้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ และให้แต่งตั้งตามหลักคุณธรรม โดยให้กระจายอำนาจการบริหารงานสู่จังหวัด ด้านกระบวนการการมีส่วนร่วมกิจการตำรวจปรับระบบสอบสวนให้เป็นอิสระ ให้อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอสอบสวนร่วมกับหน่วยงานสอบสวนในกรณีประชาชนร้องขอความเป็นธรรม และปรับปรุงงานนิติเวชศาสตร์ให้อิสระ มีระบบริหารงานยึดหลักความรู้ความชำนาญ กระจายอำนาจ บริหารงบประมาณ ให้มีหน่วยปฏิบัติในพื้นที่อย่างเพียงพอมีประสิทธิภาพ
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นดังกล่าวทางกรรมาธิการยกร่างฯส่วนน้อยได้เสนอให้มีการระบุถึงการปฏิรูปให้ชัดเจนว่ามีอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม ขณะที่กรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีสมาชิก สปช. อีกมากที่จะเสนอความเห็นว่าควรต้องปฏิรูปตำรวจอย่างไรบ้าง หลังการอภิปรายถกเถียงกันหลายชั่วโมง ที่สุดที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าให้ยืนยันตามแนวทางที่กรรมาธิการ ปฏิรูปกฎหมายฯเสนอมา เพราะหลังการอภิปรายของที่ประชุม สปช. ระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก ในช่วงเวลา 60 วันสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในวันที่ 20 - 26 เม.ย.