xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คสช.-ครม.ผู้ตัดสินใจประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุ เสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่า ควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ตัดสินใจ กมธ.ยกร่างฯไม่จำเป็นต้องเห็นว่าอะไรทั้งนั้น เพราะการทำประชามติหรือไม่ทำประชามติ ไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ เลย มีหน้าที่ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานเริ่มตั้งแต่ ร่างจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ แต่ถ้าอยากเสนอมา ก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่มีน้ำหนักอะไร ส่งมาโดยให้น้ำหนักว่า คิดว่าทำไมควรต้องมีการทำประชามติ มันก็จะมาประกอบการพิจารณา แต่ครม.และ คสช. คิดเองได้ว่า ควรมีหรือไม่มีการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 แล้วมีพิธีทำประชามติ ยาวอีก 4 - 5 เดือน ถึงได้กั๊กอยู่นี่ไง เพราะถ้าบอกว่าอยาก ก็จะหาว่าอยากอยู่ยาว ทั้งที่ส่วนตัวแล้วอยากไปเร็ว
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า จะมีการส่งข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.และ คสช. กลับไปยังกมธ.ยกร่างฯ ในเวลา 16.00 น. วันที่ 25 พ.ค. ไม่จำเป็นต้องส่งไปตั้งแต่ไก่โห่ ไม่ใช่เป็นการกั๊ก แต่เป็นการคิดให้รอบคอบ เพราะต้องคอยรับฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งมา ถ้าเอาของตนเป็นหลักคนเดียว พรุ่งนี้ตนก็ส่งได้ แต่ในนามครม. ต้องรอกระทรวงต่างๆ องค์กรต่างๆ ส่งมาที่เราอีก ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็บอกว่า จะส่งมาที่รัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ต้องกั๊ก
นอกจากนี้ ที่ตนบอกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเรียบๆ ง่ายๆ จะดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบหวือหวานั้น คือ ตนมองว่ามันยืดยาวเกินไป ถ้าไม่หวือหวาก็ได้ แต่ถ้าไม่หวือหวา เดี๋ยวจะโดนว่าไม่มีอะไรใหม่บ้างเลย ซึ่งหลายเรื่องก็ดี ชมว่าเขาเข้าใจคิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่นักการเมืองไม่เห็นด้วย จะมีการเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนะเข้ามาหรือไม่ ดีกว่าให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ จะเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ แต่ถ้าจะส่งความเห็นมาทางอื่น เช่น ครม.หรือ คสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ส่งต่อไปยังกมธ.ยกร่างฯอยู่แล้ว ก็ยินดีรับฟัง วันนี้องค์กรอิสระหลายองค์กร ส่งข้อเสนอแนะมาที่รัฐบาล และคสช. เพราะเขาไม่มีสิทธิส่งไปกมธ.ยกร่างฯ แต่ทางเราต้องกรองด้วย ไม่ใช่ส่งอะไรมาก็ส่งต่อ แต่ กมธ.ยกร่างฯจะเอาด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ช่องทางมันมี 2 ช่องทาง คือ เป็นทางการ จึงต้องมาที่ครม. คสช. และ สปช. ส่วนช่องทางที่ไม่เป็นทางการ ให้ส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ

** ใช้ ม. 44 สั่งทำประชามติไม่ได้

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้มีการลงประชามติ ว่า มาตรา 44 มีสื่อใช้คำผิดว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ความจริงหัวหน้าคสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เมื่อวันที่ทำการรัฐประหาร จนถึงวันที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงหมดลง เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว เป็นการปกครองแบบนิติรัฐ กฎหมายเป็นใหญ่ รัฐธรรมนูญ ควบคุมองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง องค์กรต่างๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องปฏิบัติตามรัฐ ธรรมนูญนี้
เมื่อ คสช.เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ให้คสช. ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามโรดแมป 3 ขั้น ไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้น การให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 สั่งให้มีการทำประชามติ จึงทำไม่ได้ ถึงจะสั่งก็ไม่ผูกพัน หรือไม่มีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มาตรา 44 ให้อำนาจคสช. ออกคำสั่งที่มีผลในทางนิติบัญญัติได้ ในทางปกครอง เช่น ย้ายข้าราชการได้ ทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่สามารถทำเกินรัฐธรรมนูญได้
นายพรเพชร กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อยู่ในมาตรา 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการตามโรดแมป เป็นไปตามที่ คสช.เห็นสมควร หากมีอุปสรรคเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ จึงจะมีการแก้ไขได้ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อตามโรดแมป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการลงประชามติ เพราะไม่ได้เขียนไว้ ถ้าอยากลงประชามติ ต้องแก้ไข มาตรา 46 ที่แก้ไขกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญได้ จะต้องทำโดย 3 องค์กรร่วมกันคือ ครม. คสช. และ สนช. การตัดสินใจเบื้องต้นเป็นอำนาจของครม. และ คสช. แต่การเสนอเป็นของใครก็ได้ ต้องมีเหตุผลเป็นกระบวนการของ กฎหมาย ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นปัจจัยที่ 3 องค์กรจะพิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือตนเพียงคนเดียว

** กมธ.ยกร่างฯหนุนประชามติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ออกมาระบุว่า อำนาจการตัดสินใจการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นของกมธ.ยกร่างฯ และ สปช. ว่า อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ครม. และคสช. หากเห็นสมควรว่าต้องมีการทำประชามติ ก็ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้เข้าใจว่าการที่พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุเช่นนี้ คงหมายความว่า ถ้าหาก กมธ.ยกร่างฯ และสปช. มีความเห็นว่า ควรทำประชามติก็สามารถเสนอความเห็นไปได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็คงต้องมีการนำมาหารือกันในที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ อีกครั้ง ว่าจะคิดเห็นกันอย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ส่วน สปช. ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเช่นกัน
" ที่สุดแล้วหากมีการทำประชามติ อำนาจที่แท้จริงก็จะอยู่ที่ ครม.และ คสช.ที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ขณะที่ สนช.ก็มีอำนาจตัดสินใจว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สำหรับกมธ.ยกร่างฯ ก็มีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการทำประชามติกันบ้าง แต่ไม่ได้เป็นแบบทางการ หรือเป็นมติ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ก็พูดมาตลอดว่า เห็นสมควรว่า จะต้องมีการทำประชามติ ผมก็เห็นว่า ควรทำประชามติเช่นกัน" โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น