โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยได้รับคำขอแก้ไขจากฝ่ายต่างๆ แล้ว ยกเว้น คสช.ที่ไม่ได้ยื่นเข้ามา พร้อมแจงไทม์ไลน์ กมธ.ยกร่างฯ เตรียมนัดดูภาพรวมก่อนจัดลำดับให้เสร็จภายใน 5 มิ.ย.จากนั้นเปิดให้ สปช.-ครม.ชี้แจง เริ่มปรับแก้ร่างฯ 8 มิ.ย. ยันไม่กังวลแม้หลายฝ่ายเสนอแก้จำนวนมาก ยังเปิดรับความเห็นทุกฝ่ายอย่างไม่เป็นทางการเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างฯ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าหลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญครบจากทุกฝ่ายแล้ว แบ่งเป็น สปช.8 คำขอ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 คำขอ ส่วนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ยื่นเข้ามา โดยไปสัปดาห์นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะได้นัดประชุมร่วมกันจำนวน 3 ครั้ง เพื่อดูภาพรวมของคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดลำดับคำขอว่าขอแก้ไขประเด็นใด มาตราใดบ้าง เสร็จแล้วในวันที่ 2-5 มิ.ย.ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะเปิดโอกาสให้ สปช.แต่ละกลุ่มที่ยื่นคำขอมาชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอปรับแก้ไข โดยกำหนดให้ส่งตัวแทนกลุ่มละไม่เกิน 5 คน และให้เวลาชี้แจงกลุ่มละ 3 ชั่วโมง ส่วนวันที่ 6 มิ.ย.จะเปิดโอกาสให้ ครม.เข้ามาชี้แจง และอธิบายเหตุผลในการปรับแก้ไขเช่นกัน ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้กำหนดว่าบุคคลที่จะมาชี้แจงเป็นใคร แต่ส่วนใหญ่จะมีตัวแทนของ ครม.เข้ามา ทั้งนี้ตนไม่ขัดข้องหาก ครม.จะเข้าชี้แจงทั้งคณะ ส่วนเวลาชี้แจงคำขอแก้ไขนั้นไม่ได้กำหนดเวลาไว้เหมือนกับ สปช.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 8 มิ.ย.เป็นต้นไป ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะมีระยะเวลาอีก 40 วันในการพิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ ปรับแก้ไขเรียงรายมาตรา หรือไล่เรียงประเด็นที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้แนวทางใดนั้นต้องรอให้ที่ประชุมหารือกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มิ.ย. - 3 ก.ค. ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะไปประชุมนอกสถานที่ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวทาง กมธ.ยกร่างฯ จะใช้เวลาพิจารณาอย่างจริงจังและเข้มข้น ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญเพราะเท่าที่ทราบข้อมูลว่าพบว่า ครม. มีการเสนอขอแก้ไข จำนวน 110 ประเด็น ขณะที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองก็มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่นกัน ดังนั้นทาง กมธ.ยกร่างฯ จำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณาด้วยความรอบคอบ
“ยืนยันว่าไม่มีความกังวลเป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันกรอบระยะเวลา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการออกแบบแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ หรือการปฏิรูป ซึ่งข้อเสนอที่แต่ละฝ่ายเสนอเข้ามานั้น ถือเป็นข้อเสนอที่ดีมีเหตุผล โดย กมธ.ยกร่างฯ จะนำทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะมาประกอบการพิจารณา”
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงการส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคการเมืองว่า เบื้องต้นมีพรรคการเมืองเสนอคำขอแก้ไขเข้ามา จำนวน 8 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา และพรรคอื่นๆ อีก 4 พรรคซึ่งไม่เคยมี ส.ส. ส่วนจะเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่นั้น ต้องรอหารือที่ประชุมกันอีกครั้ง ส่วนตัวมองว่าเมื่อมีพรรคการเมืองเสนอเข้ามาจำนวนน้อย หากเชิญมาเฉพาะพรรคที่ส่งคำขอ จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองที่เหลือได้ ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์การจะเชิญพรรคการเมืองมาหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดคำขอแก้ไขว่ามีความชัดเจนมากน้อยหรือไม่ หากประเด็นใดที่ กมธ.ยกร่างฯ ติดใจอาจจะเชิญมาชี้แจงก็ได้
ส่วนการปรับเพิ่มเวลาพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน จากเดิมที่กำหนดให้มีเวลาทำงาน 60 วันนั้น โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า กรอบเวลานั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ต้องรอฟังความชัดเจนจาก ครม.ก่อน เข้าใจว่าน่าจะประมาณ 1-2 สัปดาห์นี้คาดว่า ครม.จะมีความชัดเจนต่อการพิจารณารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยกรอบเวลา 60 วันหรือ 90 วันนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีปัญหาสามารถทำงานได้เสร็จทันตามกรอบเวลาอยู่แล้ว หากมีการขยายเวลาเพิ่มอีก 30 วัน จะทำให้ปฏิทินการทำงาน กมธ.ยกร่างฯ ขยับออกไป จากเดิมที่กำหนดให้ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาภายในวันที่ 23 กรกฎาคม จะปรับเป็นวันที่ 21 สิงหาคม และการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของ สปช. จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 6 สิงหาคม จะเลื่อนไปเป็นวันที่ 4 กันยายน
“ระหว่างนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังเปิดรับความเห็นของทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานที่ส่งมาอย่างไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกความเห็นที่เสนอมานั้นล้วนเป็นประโยชน์กับกมธ.ยกร่างฯ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้เกิดความเหมาะสม” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว