xs
xsm
sm
md
lg

ถึงมือ “บวรศักดิ์” แล้ว! 16.30 น. คำข้อแก้ รธน.วันสุดท้าย ทั้งของ “ครม.- 8 กลุ่ม สปช.”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ที่รวมกลุ่ม เพื่อยื่นคำขอแก้ไข ได้ทยอยยื่นเอกสารต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ครบแล้ว
ถึงมือ “บวรศักดิ์” แล้ว! คำข้อแก้ รธน. วันสุดท้าย ทั้งของ “ครม.- 8 กลุ่ม สปช.” รอง ปธ. ยกร่างฯ รับต้องปรับปรุงเนื้อหาเยอะ หลังภาคธุรกิจ - เอกชน ติงเขียนเพื่อแก้ปัญหาอดีต ไม่ตอบโจทย์อนาคต เล็งขอแก้ร่าง “พลเมือง” ยกระดับให้ประชาชน ด้าน “มท.1” รับเน้น สรุปรูปแบบกระจายอำนาจ 3 ฝ่ายหลัก “ส่วนกลาง - ภูมิภาค - ท้องถิ่น” เน้นเชื่อมโยงป้องกลุ่มเดิมครองอำนาจ

วันนี้ (25 พ.ค.) มีรายงานว่า ขณะนี้การยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้เป็นวันสุดท้าย ได้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่รวมกลุ่ม เพื่อยื่นคำขอแก้ไข ได้ทยอยยื่นเอกสารต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ครบแล้ว ซึ่งโดยสรุปของ สปช. มี 8 คำขอ ได้แก่

1. กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ ของ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช.
2. กลุ่มการเมืองและกฎหมาย ของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.
3. กลุ่มเศรษฐกิจ ของ นายสมชัย ฤชุพันธุ์
4. กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของ นายมนูญ ศิริวรรณ
5. กลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ของ นายประสาร มฤคพิทักษ์
6. กลุ่มการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ของ นายพงศ์โพยม วาศภูติ
7. กลุ่มของ นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ
8. กลุ่มสังคมและพลเมืองของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

“บวรศักดิ์” รับคำขอแก้ไขร่าง รธน. “ดีนะ! ครม. ที่ยังส่งทันเวลา”

ขณะที่คำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย นำเอกสารมายื่นต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ก่อนเวลา 16.30 น. เพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ พร้อมด้วย นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ได้เข้ามาตรวจความเรียบร้อย ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของทำเนียบรัฐบาล นำเอกสารมายื่น ซึ่ง นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า “ดีนะ ที่ ครม. ยังส่งมาทันเวลา”

กมธ.ยกร่างฯ รับต้องปรับปรุงเนื้อหาอีกมาก หลังเอกชน ติง

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 6 กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ นัดประชุมวันที่ 26 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นคำขอแก้ไข และความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ทำความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างฯ ขณะที่ความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคธุรกิจ และ อุตสาหกรรม ที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้รับฟังความเห็น เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีประเด็นจำนวนมากที่ต้องนำไปปรับปรุง อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นของภาคธุรกิจที่สะท้อนในประเด็นว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการนั้น อย่าได้ตกใจ หรือ ตื่นตระหนก เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังปรับแก้ไขได้ ขณะที่ความเห็นของผู้นำด้านอุตสาหกรรม ที่ทักท้วงว่าการเขียนร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเป็นการแก้ปัญหาในอดีต และไม่ตอบโจทย์ของอนาคตนั้น ขอให้ไปพิจารณาในหมวดการปฏิรูป ที่ สปช. ในสายธุรกิจอุตสาหรรม ที่มีความเชี่ยวชาญร่วมเสนอความเห็นและถูกกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ

“การพิจารณาปรับปรุงเนื้อหามีไม่น้อยที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ยกเว้นนักเลือกตั้งที่มุ่งแต่การเอาชนะเลือกตั้งต่อ ให้ปรับอย่างไรก็ไม่มีวันพอใจ ขณะที่นักการเมืองที่มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ จะให้การยอมรับ” นพ.ชูชัย กล่าว

เล็งขอแก้ร่าง “พลเมือง” ยกระดับให้ประชาชน

นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่สอง กล่าวว่า หลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียบร้อยแล้ว ทางฝ่ายเลขานุการของ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะนำขอแก้ไขมาประมวลและแยกออกเป็นรายมาตรา เพื่อดูว่ามาตราใดมีการเสนอขอแก้ไขบ้าง จากนั้นจะลำดับในการเชิญแต่ละฝ่ายมาชี้แจงและอธิบายเหตุผล ที่ขอเสนอปรับแก้ไขในวันที่ 2 - 6 มิ.ย. โดยเบื้องต้นกำหนดให้แต่ละคณะสามารถส่งตัวแทนชี้แจงคณะละ 5 คน คณะละ 3 ชม. โดยกระบวนการต่อจากนี้ ทาง กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบครอบ เพื่อนำไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนกรณีที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสนอให้เปลี่ยนคำว่า พลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นประชาชนแทน เพื่อป้องกันความสับสน ตนมองว่า การกำหนดคำว่าพลเมืองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพลเมืองในยุคใหม่ต้องรู้จักสิทธิ หน้าที่ ซื่อสัตย์ และคารพสิทธิ ซึ่งการที่กำหนดให้คนไทยคารพสิทธิหน้าที่ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย นอกจากนี้ คำว่าพลเมืองคือการยกระดับประชาชน โดยในวันที่ 26 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯจะประชุมเพื่อพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายส่งเข้ามา

ด้าน พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ระหว่างนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ อยู่ระหว่างเดินสายรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ยืนยันว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะนำความเห็นที่ทุกฝ่ายเสนอมาไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญด้วยความรอบคอบ ส่วนการทำงานก็ยังคงเป็นไปตามปฏิทินเดิม และเร่งทำงานให้ทันกรอบเวลา โดยไม่ได้มีวันหยุด เพราะไม่ได้นิ่งนอนใจว่าจะได้เวลาการทำงานเพิ่มเติมตามมติของ ครม. อีก 30 วัน

มท. เสนอเน้นการกระจายอำนาจภูมิภาค ลงไปท้องถิ่น

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ภายหลังการประชุม ครม. นัดพิเศษ ที่ให้แต่ละกระทรวงเสนอข้อสรุปความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ได้ส่งความเห็นไปยัง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่ทางสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จะไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาค และข้าราชการฝ่ายปกครอง หรือต้องถูกยุบลดทอนอำนาจหน้าที่นั้น ต้องดู กมธ.ยกร่างฯ จะสรุปความเห็นออกมาอย่างไร

ส่วนการสร้างความสมดุล ในส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น ที่เป็นกลไกกระทรวงมหาดไทยนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษได้ข้อสรุป ซึ่งตนเข้าใจความสำคัญของท้องถิ่น ที่ผ่านมา ก็มีรูปแบบการกระจายอำนาจ แต่ราชการส่วนภูมิภาคก็จำเป็น เพราะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกันแล้ว

“การกระจายอำนาจจากส่วนภูมิภาค ลงไปยังท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกัน ส่วนภูมิภาคก็ต้องค่อยๆ กระจายปริมาณงานลงไปยังท้องถิ่นให้เหมาะสม ไม่ใช่ให้ท้องถิ่นรับอยู่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นประเทศชาติต้องมีความเชื่อมโยงทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น” รมว.มหาดไทย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เราจะทำอย่างไรให้ทั้ง 3 ฝ่าย มีความเชื่อมโยงกัน สิ่งสำคัญถ้ากลไกในระบบการเลือกตั้งนั้นดี และแฟร์ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเลือกตั้งโดยเฉพาะในท้องถิ่น แล้วได้มาด้วยกลุ่มคนเดิมๆ ตลอดเวลา ก็อาจจะส่งผลกลับไปเกิดเป็นหัวเมืองประเทศราชดั่งในอดีตได้

“หมอนิรันดร์”แนะรัฐผ่อนปรนมาตรการ ก่อนทำประชามติ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รัฐบาลควรมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมต่างๆ ว่า ควรต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะการทำประชามติต้องให้ประชาชนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล และนำความรู้ที่ได้ไปตัดสินใจโดยวิจารณญาณของตน ซึ่งการทำประชามติก็มีกระบวนการของมันอยู่แล้ว แต่หากไม่มีกระบวนการเหล่านี้การทำประชามติก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะการทำประชามติจะเกิดขึ้นในสังคมที่เงียบไม่ได้ อยู่ดีๆ จะให้ประชาชนไปลงประชามติเลยก็ไม่ได้ ส่วนจะผ่อนคลายอย่างไร แค่ไหนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น