“ไพบูลย์” เชื่อ “ประยุทธ์” ไม่ยอมแก้ไข รธน. ชั่วคราว ให้ สปช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อ หลังคว่ำร่าง รธน. ห่วงถูกมอง สปช. เคลื่อนไหวให้ตัวเองอยู่ต่อ จี้โหวตเปิดเผยวันลงมติใครโหวตหนุน หรือคว่ำ แนะใช้ทีวีดีเบตร่าง รธน.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะมีประเด็นที่จะแก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะการแก้ไขให้ สปช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. เพราะถือเป็นการแก้ไขในหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่า เมื่อ สปช. ลงมติไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. สิ้นสุดลงไปพร้อมกัน ดังนั้น ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่เห็นด้วยและยอมให้แก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เกินกว่าหลักการเดิม เพราะหากแก้ไขอาจเกิดแรงกระเพื่อมได้
ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะเป็นเพียงการแก้ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแนวทางหลังการทำประชามติแล้วเสร็จ โดยส่วนตัวมองว่าหากประชามติไม่ผ่านควรเข้าสู่แนวทางตามมาตรา 37 และ มาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. สิ้นสุดลง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือก สปช. และ กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายไพบูลย์ กล่าวดัวยว่า กรณีที่มี กลุ่ม สปช. ออกมาเคลื่อนไหว ให้ความเห็นว่าจะไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกปรับปรุงและแก้ไขตามที่มีข้อเสนอ อาจถูกมองได้ว่าพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้ สปช. อยู่ต่อ แม้จะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นการปักธงล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่อยู่บนพื้นฐานการพิจารณาตามเหตุผล ดังนั้น ในวันที่จะมีการประชุม สปช. เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อ ตามที่ข้อบังคับการประชุม สปช. ข้อ 120 กำหนด สปช. เหล่านั้นต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ด้วยว่าไม่เห็นชอบเพราะอะไร
“ผมมองว่าเมื่อเปิดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การตัดสินใจจะอยู่ที่ประชาชนทั้งแผ่นดิน ส่วน สปช. เป็นเพียงผู้กลั่นกรองเท่านั้น ดังนั้น สปช.ไม่ควรลุแก่อำนาจ พึงตระหนักในการทำหน้าที่และใช้ดุลยพินิจ ก่อนส่งต่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ สำหรับการทำประชามติที่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่ายนั้น ผมมองว่าควรใช้พื้นที่หรือรายการโทรทัศน์เป็นเวทีดีเบตคนทุกฝ่าย”