xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ชี้ทำประชามติร่าง รธน.ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขข้อห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช. ยันพร้อมแก้ไข รธน. ฉบับชั่วคราว เปิดทางทำประชามติร่าง รธน. โดยต้องแล้วเสร็จใน 15 วัน ระบุในการแก้ต้องมีเงื่อนไขในการทำประชามติ พร้อมผ่อนปรนข้อห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเปิดเวทีในการแสดงความคิดเห็น

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยว่า หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตามขั้นตอนจะต้องมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดย สนช. มีเวลาการพิจาณาให้เสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสุรชัย กล่าวว่า เมื่อมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้ว สนช. จะไม่มีอำนาจในการแก้ไขเนื้อหาหรือเสนอคำแปรญัตติแต่อย่างใด เว้นแต่ ครม. และ คสช. จะเห็นชอบด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติคาดว่า สนช. จะไม่มีการพิจารณาเป็น 3 วาระเหมือนกับการพิจารณากฎหมายปกติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้ สนช. ต้องเร่งดำเนินการภายใน 15 วัน ดังนั้น สนช. อาจจะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาให้เสร็จในคราวเดียวกัน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ให้สมาชิก สนช. ได้มีเวลาศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความรอบคอบด้วย

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ของการทำประชามติ เช่น หากเกิดกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลอย่างไร โดยเฉพาะการกลับไปเริ่มต้นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าในทางเทคนิคกฎหมาย คสช. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ได้เลยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสนอร่างแก้ไขมาให้กับ สนช. นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากมาตรา 44 มีไว้บังคับใช้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ เท่ากับว่าก็ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนหากมีการประกาศให้ทำประชามติ จำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาล และ คสช.ต้องผ่อนปรนข้อห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ นายสุรชัย กล่าวว่า คิดว่าต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประชามติ ที่ต้องมีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่าฝ่ายที่จะเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีดังกล่าว คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้เขียนรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น