xs
xsm
sm
md
lg

สปช.รับประชามติสัญญาณดี พร้อมลงพื้นที่ปัดชี้นำ จี้แก้ใช้ ม.44 หวั่นทำลาย ปชต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.(แฟ้มภาพ)
“เทียนฉาย” เผยสัญญาณที่ดี ครม.-คสช.ไฟเขียวประชามติ แนะ พิจารณาแก้เรื่องอื่นด้วย เน้นปมมาตรา 44 รับใช้แก้ไขปัญหาการปกครองได้เร็ว แต่จะทำลายประชาธิปไตย ชี้ สปช.มีหน้าที่เพิ่ม ต้องลงพื้นที่แจงรัฐธรรมนูญใหม่ เน้นทำความเข้าใจมากกว่าชี้นำ

วันนี้ (20 พ.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสัญญาณที่ดีและทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 57 เพื่อทำประชามติ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีกติกาที่กำหนดไว้ว่าต้องส่งไปให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบภายใน 15 วันนับแต่วันที่รับร่างแก้ไข ส่วนตัวมองว่าเมื่อ คสช.และครม.มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว ควรที่จะพิจาณาแก้ไขเผื่อไว้เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัด โดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งการทางปกครองตามมาตรา 44 กำหนดไว้

“ยอมรับว่าการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สามารถแก้ไขปัญหาที่ในสถานการณ์ปกติทำได้ยาก หรือเกิดความล้าช้า เช่น การแก้ปัญหาโรฮีนจา การย้ายข้าราชการระดับสูง แต่ผมมองว่าในการแก้ไขปัญหาในทางปกครองควรเน้นในการทำระบบและกลไกที่มีความเหมาะสมและปรับให้มีความพอดี ซึ่งการใช้คำสั่งพิเศษสั่งในการปกครอง ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่แก้ไขปัญหาได้รวดเร็วแต่ในที่สุดจะเป็นสิ่งที่ทำลายรากฐานประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยใหม่ควรทำให้เกิดระบบและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย”

ส่วนกรณีที่จะมีการตัดสินใจทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ประธาน สปช.กล่าวว่า ต้องติดตามดู ขณะที่สปช.ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องต้องมีภาระงานเพิ่มเติม คือ การลงพื้นที่ให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเบื้องต้นอาจจะต้องมีการหารือกับสมาชิก สปช.กันอีกครั้ง โดยส่วนตัวมองว่าการลงพื้นที่จะต้องเน้นในการสร้างความเข้าใจและตอบข้อซักถามประชาชนมากกว่าการชี้นำ ว่าให้รับหรือไม่รับร่างฯ เพราะหากมีการชี้นำอาจทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกยกไปโจมตีได้ ขณะที่การทำงานของ สปช.ในด้านการปฏิรูปยังคงเดินหน้าตามกรอบเวลาที่ได้มีการกำหนดไว้และไม่ถือว่า สปช.ได้รับการขยายเวลาเพิ่มเติมแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น