xs
xsm
sm
md
lg

11ปีปชต.ไทย ละเลงงบฯ 3.6หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) กล่าวว่า การที่ครม. และคสช. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้มีการจัดทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นไปตามเสียงเรียกร้องของหลายๆ ฝ่าย และตรงกับความประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และสปช. เพราะจะทำให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มุ่งจะทำให้เป็นที่พอใจ และยอมรับได้ของประชาชน และเป็นโอกาสที่จะได้อธิบาย ชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ก่อนจะไปออกเสียงประชามติ แต่การจัดการออกเสียงประชามติ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ
นายบุญเลิศ กล่าวว่า จากการสำรวจสถิติการไปใช้สิทธิกาบัตรลงคะแนนเสียงของประชาชนในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2548–2557 ประเทศไทยใช้เงินไปกับการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. และออกเสียงประชามติ ครั้งละ 3 พันล้านบาท ดังนี้
ครั้งที่ 1 ปี 2548 วันที่ 6 ก.พ. เลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ 2 ปี 2549 วันที่ 2 เม.ย. เลือกตั้งส.ส. (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ยุบสภา –พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 3 พรรคบอตคอต ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ) ครั้งที่ 3 ปี 2549 วันที่ 19 เม.ย. เลือกตั้งส.ว. ครั้งที่ 4 ปี 2550 วันที่ 19 ส.ค. ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ครั้งที่ 5 ปี 2550 วันที่ 23 ธ.ค. เลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ 6 ปี 2551 วันที่ 2 มี.ค. เลือกตั้ง ส.ว. ครั้งที่ 7 ปี 2554 วันที่ 3 ก.ค. เลือกตั้งส.ส. ครั้งที่ 8 ปี 2557 วันที่ 2 ก.พ. เลือกตั้งส.ส. (มีพรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง มวลชนจำนวนหนึ่งขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งโมฆะ ) และ ครั้งที่ 9 ปี 2557 วันที่ 30 มี.ค. เลือกตั้งส.ว.
สรุปแล้ว การเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. และออกเสียงประชามติ กระทำมาแล้ว 9 ครั้ง ในรอบ 9 ปี หมดเงินไป 27,000 ล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ที่เป็นโมฆะ คณะกรรมการเลือกตั้ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะดำเนินคดีเพื่อหาผู้รับผิดชอบและชดใช้เงิน 3 พันล้านบาท ที่ทำให้การเลือกตั้งสูญเปล่า แต่กาลเวลาผ่านมาหลายเดือนแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการอย่างไร มีการดำเนินการใด เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจัดทำ จะนำไปออกเสียงประชามติ ในต้นปี 2559 ก็จะต้องใช้งบประมาณอีก 3 พันล้านบาท ถือเป็นการไปใช้สิทธิของประชาชน ครั้งที่ 10 จากนั้น ในปี 2559
มีการเลือกตั้งส.ส. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการใช้สิทธิเลือกตั้ง ครั้งที่ 11 และสมมติว่า ส.ว. ส่วนหนึ่งให้มาจากการเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นครั้งที่ 12 รวม 3 ครั้ง จะใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท รวมความในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2548 –2559 ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง 12 ครั้งๆ ละ 3,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วไปใช้สิทธิปีละครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท
"หากการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของประชาชนประสบผลในทางที่ดี กล่าวคือ ส.ส. และส.ว. ที่ได้รับเลือกไปทำหน้าที่แล้วเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง แก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริงๆ นักการ เมืองไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ด่าทอใส่ร้ายกล่าวหาโจมตีกันทุกวัน ไม่ขัดแย้งแบ่งขั้ว ไม่เกิดวิกฤตการเมือง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมนองเลือด ไม่มีคดีความต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมากมาย ชาวบ้านไม่ลำบากเดือดร้อนฯลฯ เงินที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ ก็น่าจะคุ้มค่า แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เลือกตั้งครั้งแล้ว ครั้งเล่า แต่สภาอยู่ไม่ยืด ยุบสภากันเรื่อย แล้วสลับแกด้วยการ เกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ที่น่าเสียใจก็ตรงมีเหตุการณ์นองเลือด คนเจ็บคนตาย ก็เป็นชาบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร การออกเสียงประชามติแล้วไปสร้างปัญหา นี่มันประชาธิปไตยตรงไหน นักการเมืองและนักเลือกตั้ง ต้องตอบคำถามนี้ และจะรับผิดชอบอย่างไร หรือไม่ การเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้ครั้งละ 3,000 ล้านบาท กับการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. และออกเสียงประชามติ โดยไม่เกิดประโยชน์จึงเท่ากับผลาญเงินไปอย่างน่าเสียดาย สู้เอาเงินไปสร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัย สร้างโรงพยาบาล หรือแจกชาวบ้านคนยากคนจน ยังจะดีเสียกว่า จึงเป็นข้อคิดว่าการใช้เงิน 3,000 ล้านบาท ไปกับการออกเสียงประชามติครั้งใหม่ ในช่วงต้นปี 2559 จะต้องทำให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป" นายบุญเลิศ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น