“บุญเลิศ” เผยประชามติเป็นที่ต้องการหลายฝ่าย แต่ต้องใช้งบถึง 3 พันล้าน ย้อนใช้สิทธิ 9 ครั้ง 9 ปีหมดเงินกว่า 2.7 หมื่นล้าน เลือกตั้งโมฆะ ก.พ. 57 ยังไร้การรับผิดชอบ อนาคตจ่อใช้งบอีก 9 พันล้าน รวม 11 ฟาดงบ 3.6 หมื่นล้าน ชี้หากทำแล้วเกิดประโยชน์ก็คุ้ม แต่ความจริงตรงข้าม ลั่นประชามติแล้วสร้างปัญหาผลาญเงิน ปชต.ตรงไหน จี้นักการเมืองรับผิดชอบอย่างไร หวังใช้เงินให้คุ้มค่า
วันนี้ (20 พ.ค.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นไปตามเสียงเรียกร้องของหลายๆฝ่าย และตรงกับความประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปฯ เพราะจะทำให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มุ่งจะทำให้เป็นที่พอใจและยอมรับได้ของประชาชน และเป็นโอกาสที่จะได้อธิบายชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ก่อนจะไปออกเสียงประชามติ แต่การจัดการออกเสียงประชามติคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ
นายบุญเลิศกล่าวว่า จากการสำรวจสถิติการไปใช้สิทธิกาบัตรลงคะแนนเสียงของประชาชน ในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 ประเทศไทยใช้เงินไปกับการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. และออกเสียงประชามติ ครั้งละ 3 พันล้านบาท ดังนี้ ครั้งที่ 1 ปี 2548 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 2 ปี 2549 วันที่ 2 เมษายน เลือกตั้ง ส.ส. (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ยุบสภา - พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 3 พรรคบอตคอตไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง) ครั้งที่ 3 ปี 2549 วันที่ 19 เมษายน เลือกตั้ง ส.ว. ครั้งที่ 4 ปี 2550 วันที่ 19 สิงหาคม ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ครั้งที่ 5 ปี 2550 วันที่ 23 ธันวาคม เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 ปี 2551 วันที่ 2 มีนาคม เลือกตั้งส.ว. ครั้งที่ 7 ปี 2554 วันที่ 3 กรกฎาคม เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 8 ปี 2557 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เลือกตั้ง ส.ส. (มีพรรคฝ่ายค้านบอยคอตเลือกตั้ง มวลชนจำนวนหนึ่งขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งโมฆะ) และครั้งที่ 9 ปี 2557 วันที่ 30 มีนาคม เลือกตั้ง ส.ว.
นายบุญเลิศกล่าวว่า สรุปแล้ว การเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว.และออกเสียงประชามติกระทำมาแล้ว 9 ครั้ง ในรอบ 9 ปี หมดเงินไป 27,000 ล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ ก.พ. 2557 ที่เป็นโมฆะ คณะกรรมการเลือกตั้งเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะดำเนินคดีเพื่อหาผู้รับผิดชอบและชดใช้เงิน 3 พันล้านบาท ที่ทำให้การเลือกตั้งสูญเปล่า แต่กาลเวลาผ่านมาหลายเดือนแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการอย่างไรมีการดำเนินการใด เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำ จะนำไปออกเสียงประชามติ ในต้นปี 2559 ก็จะต้องใช้งบประมาณอีก 3 พันล้านบาท ถือเป็นการไปใช้สิทธิของประชาชน ครั้งที่ 10 จากนั้น ในปี 2559 มีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการใช้สิทธิเลือกตั้ง ครั้งที่ 11 และสมมติว่า ส.ว.ส่วนหนึ่งให้มาจากการเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นครั้งที่ 12 รวม 3 ครั้ง จะใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาทรวมความในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2559 ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง 12 ครั้งๆละ 3,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วไปใช้สิทธิปีละครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท
“หากการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของประชาชนประสบผลในทางที่ดี กล่าวคือ ส.ส.และ ส.ว.ที่ได้รับเลือกไปทำหน้าที่แล้วเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง แก้ปัญหาให้ประชาชนได้จริงๆ นักการเมืองไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ด่าทอใส่ร้ายกล่าวหาโจมตีกันทุกวัน ไม่ขัดแย้งแบ่งขั้ว ไม่เกิดวิกฤตการเมืองจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมนองเลือด ไม่มีคดีความต้องขึ้นโรงขึ้นศาลมากมาย ชาวบ้านไม่ลำบากเดือดร้อน เงินที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติก็น่าจะคุ้มค่า แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สภาอยู่ไม่ยืด ยุบสภากันเรื่อย แล้วสลับด้วยการเกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ที่น่าเสียใจก็ตรงมีเหตุการณ์นองเลือด คนเจ็บคนตายก็เป็นชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร การออกเสียงประชามติแล้วไปสร้างปัญหา นี่มันประชาธิปไตยตรงไหน นักการเมืองและนักเลือกตั้งต้องตอบคำถามนี้และจะรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ การเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้ครั้งละ 3,000 ล้านบาทกับการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว.และออกเสียงประชามติโดยไม่เกิดประโยชน์จึงเท่ากับผลาญเงินไปอย่างน่าเสียดาย สู้เอาเงินไปสร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัย สร้างโรงพยาบาล หรือแจกชาวบ้านคนยากคนจนยังจะดีเสียกว่า จึงเป็นข้อคิดว่าการใช้เงิน 3,000 ล้านบาทไปกับการออกเสียงประชามติครั้งใหม่ในช่วงต้นปี 2559 จะต้องทำให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป” นายบุญเลิศระบุ