ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีการพูดถึงกันมาก เรื่องจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศใช้หรือไม่
กระแสหนึ่งคือ การทำประชามติ ตามปกติเหมือนที่เคยทำกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 คือ รอให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างเสร็จแล้วส่งไปขอมติจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถ้า สปช.เห็นชอบ แล้วจึงทำประชามติเป็นขั้นตอนตอไป
อีกกระแสหนึ่ง ที่มีการเสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เสนอเป็นความเห็นส่วนตัว โดยมีสมาชิกสปช.ส่วนหนึ่งเห็นพ้องด้วย และเตรียมเข้าชื่อกันยื่นเสนอความเห็นต่อ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ให้แก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 ว่า ควรจะทำประชามติหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว ภายใน 90 วัน โดยถามว่า จะปฏิรูปประเทศก่อน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความเรียบร้อย สังคมสมานฉันท์ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แล้วค่อยเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงการปฏิรูปนี้จะใช้เวลา 2 ปี แล้วค่อยเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อน แล้วค่อยปฏิรูป
ข้อเสนอนี้ ถูกนักการเมืองทั้งสองขั้วรุมถล่มทันที ที่สุภาพหน่อยก็ว่าเป็นการ "โยนหินถามทาง" ที่หยาบหน่อยก็บอกว่า ในที่สุดก็ "หางโผล่" รับงานจากฝ่ายทหารมาสร้างกระแส ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กระแสในเรื่องนี้จะลุกลาม หรือไม่การวิพากษ์วิจารณ์ไปมากกว่านี้ กรรมาธิการยกร่างฯ ก็ได้มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีมติออกมาว่า เห็นชอบที่จะให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ หลังได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช.
โดยมีเหตุผลที่ควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 5 ประการ คือ
1 . ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจ มีส่วนให้ความเห็นชอบเพื่อเป็นสัญญาประชาคม
2. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ การมีส่วนร่วมของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ
3. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติ จึงเป็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ใหม่ ควรจะทำประชามติด้วยเช่นกัน
4. เป็นโอกาสสำคัญ ที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชน และนักการเมืองได้เข้าใจ
5. เนื่องด้วยการบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีการออกเสียงประชามติ เช่นกัน
และในวันเดียวกันนี้ วิปสปช. ก็มีประชุมร่วมกันกับ ประธานกรรมาธิการ 18 คณะ และ คณะกรรมาธิการกระบวนการอีก 5 คณะ แล้วมติออกมาว่า ให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการประกาศใช้ เช่นกัน โดยเสนอให้เป็นการทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ดังนั้น ขั้นตอนหลังจากนี้ กรรมาธิการยกร่าง และ สปช. ก็ทำทำเรื่องเสนอความเห็นไปยังรัฐบาล คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งมีกำหนดว่าจะประชุมกันในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ว่าจะทำหรือไม่
ถ้า ครม.และคสช. พิจารณาแล้ว เห็นชอบตามที่ กรรมาธิการยกร่างฯ และสปช. เสนอ อันดับแรกคือต้อง ทำการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 46 เสียก่อน เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีการเขียนล็อกเวลาไว้ ทั้งช่วงเวลาการแปรญัตติ การลงมติเห็นชอบของสปช. รวมถึงการทูลเกล้าฯ
หากมีการทำประชามติ ก็เท่ากับว่าไปเปลี่ยนกำหนดเวลาตาม "โรดแมป" ที่ได้วางไว้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้ไขครั้งนี้ จะต้องระบุถึงกระบวนการทำประชามติ ว่าจะทำแบบไหน ทั้งฉบับหรือรายมาตรา เวลาในการทำ ใครเป็นผู้กำกับดูแล และ ถ้าผ่าน หรือไม่ผ่าน จะต้องทำอย่างไรต่อไป โดยทั้งหมดต้องเขียนให้ชัด
สำหรับเงื่อนไขด้านเวลา ถ้าทำประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็น่าจะทำกันในช่วงเดือนมิถุนายน -กรกฎาคม ให้เสร็จก่อนที่ สปช. จะโหวตรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2558
ถ้า สปช.เห็นชอบ ก็จะต้องจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ แจกจ่ายให้ประชาชนได้ศึกษารายละเอียด รวมทั้งทำการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อต่างๆ คาดว่าในส่วนนี้ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงจะทำการลงประชามติ
ดังนั้น การทำประชามติ อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 คือประมาณเดือนธันวาคม หรืออาจยืดเยื้อไปเป็นต้นปี 2559 ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องการทำประชามติหรือไม่นี้ สำหรับกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ เพราะเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ที่ชัดเจนคือ มักแสดงอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว พูดจาประชดประชัน เมื่อถูกสื่อถาม
เป็นต้นว่า อยากให้ไปนักหรือไง ที่อยู่ทุกวันนี้ก็เบื่อจะแย่ แต่เพราะมีความจำเป็น เมื่อเข้ามาแล้วต้องทำงานให้สำเร็จ ตอนนี้ยังไม่เลิกขัดแย้งกันเลย ใจเย็นๆ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการเสนอความเห็นให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯนำไปปรับปรุงแก้ไข ยังไม่รู้เลยว่า จะผ่านในชั้น สปช. หรือไม่ ประชามติต้องใช้งบประมาณตั้ง 3,000 ล้าน เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ อย่างช่วยเหลือคนจน หรือบอกว่าขึ้นอยู่กับโรดแมป ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะต้องเดินไปตามโรดแมป โรดแมปว่าอย่างไรก็เดินไปตามนั้น
" ... วันนี้เป็นการทำงานตามโรดแมป หากยังไม่ถึงแยกนั้น เราต้องระวังตัว ขับไปอย่างระมัดระวัง มันมีหลายคนเข้ามา
เกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมด อย่าขับมาชนกันก็แล้วกัน พอชนกัน ก็ปิดถนน...
... ทหารถ้ารบไม่ชนะ มีอย่างเดียวคือตาย ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งไปรบ รบก็ต้องชนะ เสร็จภารกิจจึงกลับบ้าน ทหารเป็นแบบนี้ ...
... ประเทศไทยจะเริ่มใช้รัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ ก็ต้องบอกว่า เมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมา แต่เวลานี้ยังไม่ถึงตอนนั้น เพราะต้อง
ผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นออกไปจากหลายส่วน ส่วนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็อยู่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ และในส่วนของ คสช. ผมก็ไม่ได้สั่งการแต่อย่างใด และผมไม่สามารถสั่งล้มรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากไม่ผ่าน ก็ต้องยกร่างกันใหม่ จะทำประชามติหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากทำ ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ถามกันอยู่ได้ ว่าจะทำหรือไม่ อย่างไร ถามกันอยู่ได้ อะไรกันนักหนา ถามทุกวัน จนผมรู้สึกรำคาญ และจะไม่ตอบอีกแล้ว เอาเวลามาคิดเรื่องการบริหารประเทศดีกว่า การเลือกตั้งก็ดี หากเลือกแล้วได้นักการเมืองที่ดี มีจริยธรรม ทุกอย่างก็จบ จะไม่มีการถกเถียงกันอีก แต่วันนี้มีไหม คนอย่างนั้นน่ะ... " เป็นคำให้สัมภาษณ์ล่าสุด ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผู้สื่อข่าวถามหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีมติให้ทำประชามติ
ลองตีความระหว่างบรรทัด กันดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร จะให้มีการทำประชามติหรือไม่ โดยเฉพาะการต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านๆมาเหมือนมีอาถรรพ์ ใครไปแตะรัฐธรรมนูญเมื่อไร เป็นได้เรื่องทุกที !!