xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลวิบัติของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติเห็นชอบให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2558 โดยให้เหตุผล 5 ประการ ผมเห็นว่าเหตุผลทั้งห้าประการที่คณะกรรมการอ้างเพื่อสนับสนุนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็น “การทิ้งเหตุ” หรือเป็นการใช้เหตุผลที่มีลักษณะเป็น “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) ทั้งสิ้น

การใช้เหตุผลวิบัติเยี่ยงนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ สร้างน่าความประหลาดใจยิ่งนัก เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าสภาวะสะท้อนความอับจนของปัญญาจะเกิดขึ้นกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำทางปัญญาของสังคมที่ออกแบบการปกครองของประเทศ แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้ ทำให้คิดต่อไปว่า หากกลุ่มชนชั้นนำที่วางกรอบการบริหารปกครองประเทศมีการใช้เหตุผลวิบัติเยี่ยงนี้แล้ว อนาคตของประเทศไทยคงยากที่จะเกิดพัฒนาการของการใช้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ซึ่งก็หมายความว่าคงยากที่จะพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยได้นั่นเอง

เหตุผลวิบัติเป็นความผิดพลาดในการให้เหตุผลที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนทางตรรกอย่างหนักแน่นเพียงพอแก่ข้อสรุป มีความผิดพลาดทั้งในแง่ของการขาดความสมเหตุสมผลเชิงหลักการและความไม่สมจริงเชิงประจักษ์ เป็นการใช้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนฐานของความปรารถนาที่รุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือโน้มน้าวทางอารมณ์ให้ผู้อื่นสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองปรารถนา

การใช้เหตุผลวิบัติดำรงอยู่ทั้งในแวดวงการวิจัย การเขียนงานวิชาการ การเขียนบทความในสื่อมวลชน การประชุมคณะกรรมมาธิการต่างๆ การประชุมรัฐสภา การประชุมในหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ และการอภิปรายถกเถียงกันในสาธารณะ สังคมใดที่มีการใช้เหตุผลวิบัติแพร่หลายย่อมแสดงว่าภูมิปัญญาของคนในสังคมนั้นอยู่ในระดับที่ด้อยพัฒนามาก

สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทยคือ เรามีการใช้เหตุผลวิบัติเป็นฐานคิดในการปฏิบัติของแทบทุกวงการทั้งด้านการศึกษา การเมือง สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จนอาจกล่าวได้ว่าการใช้เหตุผลวิบัติเป็นรากเหง้าของปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของสังคมไทย

ผลกระทบจากการแพร่กระจายของการใช้เหตุผลวิบัติมีหลายด้านด้วยกัน นอกจากการใช้เหตุผลวิบัตินำไปสู่การถดถอยทางปัญญา เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ความก้าวหน้า และการปฏิรูปประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ความขัดแย้งทางสังคมเกิดขึ้นได้ง่าย และแพร่กระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงอีกด้วย

รูปแบบของการเหตุผลวิบัติมีหลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อตอบสนองต้องการอย่างรุนแรงของผู้ใช้เพื่อให้บรรลุความปรารถนาของตนเองหรือกลุ่มตนเอง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบทางลบที่ตามมา หากปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียวใช้เหตุผลวิบัติในแวดวงที่จำกัด ผลกระทบอาจไม่มากเท่าไรนัก แต่หากเป็นคณะบุคคลที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการปฏิรูปและการบริหารประเทศ เฉกเช่น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เหตุผลวิบัติแล้ว ย่อมสร้างผลกระทบทางลบอย่างประมาณมิได้ต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาปัญญาของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ตัวอย่างรูปแบบของการใช้เหตุผลวิบัติ เช่น การบิดเบือนหลักการเพื่อสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองต้องการกระทำ การใช้ข้อมูลบางส่วนแล้วสรุปเป็นความจริงทั้งหมด การอ้างความสิ่งที่อยู่ภายในตัวเองเพื่อใช้ยืนยันในสิ่งที่ประสงค์กระทำ การอ้างความเคยชินหรือสิ่งที่เคยทำในอดีตเพื่อมาทำซ้ำในปัจจุบัน การอ้างว่าหน่วยงานอื่นประเทศอื่นทำกัน แล้วจะต้องทำตามโดยไม่ใช้สติปัญญาพิจารณาบริบทความเป็นจริง และการอ้างการกระทำเพื่อให้ตนเองและพวกพวกพ้องได้ประโยชน์ เป็นต้น

กลับมาดูว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลวิบัติอย่างไรในการมีมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ

เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯแถลงต่อสาธารณะมี 5 เหตุผล คือ 1. ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นสัญญาประชาคม 2 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของพลเมือง ในร่างรัฐธรรมนูญ 3.รัฐธรรมนูญฉบับปี2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติจึง เห็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ใหม่ควรจะทำประชามติเช่นกัน 4. เป็นโอกาส สำคัญที่กรรมาธิการยกร่างฯจะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชน และนักการเมืองได้เข้าใจ และ5. เนื่องด้วยการบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีการออกเสียงประชามติ เช่นกัน

ในภาพรวมเหตุผลทั้งห้านี้เป็นเหตุผลวิบัติทั้งสิ้น ไม่มีเหตุผลใดข้อใดที่ใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักการของการให้เหตุผลเชิงตรรกที่ดี รวมทั้งไม่มีการพิจารณาว่าการลงประชามติครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาการเมืองอย่างไร มีแต่การอ้างเหตุผลที่ยืนบนหลักการที่ผิดพลาด ตามความเคยชินแบบเดิมๆที่เคยทำมา และใช้เนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญเองมาเป็นข้ออ้างในการลงประชามติ ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่เขียนเองมาเป็นเหตุผล ปูทางให้ตนเองกระทำในสิ่งที่ปรารถนาทั้งนั้น


ดังเหตุผลข้อ1ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดควรให้พลเมืองผู้เป็น เจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบเพื่อเป็นสัญญาประชาคม

การใช้เหตุผลข้อ 1 นั้นเป็นการอ้างคำว่า “ให้พลเมืองมีส่วนให้ความเห็นชอบ” และ “สัญญาประชาคม” มาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม แต่เป็นการอ้างที่มีความผิดพลาดทั้งในเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับการกำเนิดรัฐ และนัยของสัญญาประคมในยุคสมัยใหม่

ในส่วนของทฤษฎีการกำเนิดรัฐนั้นจะเห็นได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พลเมืองมิได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พลเมืองมิได้มีส่วนในการเลือกหรือยินยอมให้กลุ่มที่เป็นคณะกรรมาธิการฯเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากแต่กลุ่มผู้ยกร่างได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจพิเศษทางการเมือง ดังนั้นการหยิบยกคำว่าสัญญาประชาคมเฉพาะในส่วนที่ “ให้ความเห็นชอบ” จึงเป็นการใช้หลักคิดแบบเสี่ยงเสี้ยวและที่ผิดพลาด และเป็นไปเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดของกลุ่มผู้ร่างเท่านั้น

ยิ่งว่านั้นการเสนอให้ลงประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่ถูกต้องตามหลักการลงประชามติ หากประสงค์จะลงประชามติให้ถูกต้องก็จะต้องลงมติทีละประเด็น และแต่ละประเด็นต้องมีความชัดเจน วิธีการลงประชามติก็ควรกระทำดุจเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. กระทำต่อรัฐธรรมนูญ นั่นคือที่จะต้องให้ความเห็นชอบรายประเด็นหรือรายมาตรา มิใช่การให้ความเห็นชอบแบบ “เหมาเข่ง” ดังที่เสนอ การทำทำประชามติแบบเหมาเข่งเป็นการสร้างพิธีกรรมและมายาคติเพื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้น

การลงประชามติรัฐธรรมนูญแบบเหมาเข่ง เหมือนกับการบังคับให้เราซื้อผลไม้แบบเหมาทั้งเข่งซึ่งมีทั้งผลไม้เน่าๆและดีผสมกันไป ประชาชนอยากเอาผลไม้เน่าทิ้งไป แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีโอกาสเลือก พวกพ่อค้าผลไม้อย่างคณะกรรมาธิการยกร่างยื่นคำขาดให้เราว่า เราต้องเลือกเอาทั้งเข่ง หรือ ไม่เอาทั้งเข่ง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างยิ่ง และไม่ก่อให้เกิดสัญญาประชาคมอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นทำประชามติเป็นแบบยัดเยียดและจอมปลอม

สำหรับคำว่า “สัญญาประชาคม” ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน หมายถึงการมีคู่สัญญาทางสังคมระหว่าง “นักการเมืองและพรรคการเมือง” กับ “ประชาชน” โดยนักการเมืองและพรรคการเมืองเสนอนโยบายต่อประชาชน และประชาชนก็จะพิจารณาว่าเห็นด้วยกับนโยบายนั้นหรือไม่ หากเห็นด้วยก็เลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นเข้าไปบริหารประเทศ โดยถือว่ามีการทำสัญญาประชาคมเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาสองฝ่าย

แต่ขอถามว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นคู่สัญญากับประชาชนหรือไม่ ก็เปล่า เป็นเพียงกลุ่มคนที่คณะ คสช.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงทางการเมืองแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่ใช่คู่สัญญาของประชาชน แต่คู่สัญญาที่แท้จริงของประชาชนคือ คสช. ดังนั้นหาก คสช.จะปฏิบัติตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ คสช.ก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นด้วย หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มีนัยว่า ประชาชนไม่ต้องยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. นั่นเอง

ส่วนเหตุผลข้อสองและข้อห้า เป็นการอ้างเหตุผลโดยใช้เนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญเองมาสนับสนุนการลงประชามติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า การลงประชามติที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอนั้นเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ไร้คุณภาพที่เน้นพิธีกรรมเท่านั้น

หากพิจารณาพฤติกรรมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่ผ่านมา ก็มิได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเพียงพอระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่เชิญกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในแวดวงที่จำกัดมาเสนอความเห็นเท่านั้น และความเห็นต่างๆที่ผู้คนเสนอก็เป็นเพียงพอเป็นพิธีให้ดูดีเท่านั้นเพราะคณะกรรมาธิการฯได้มีพิมพ์เขียวเอาไว้แล้วอย่างชัดเจนว่าต้องการทิศทางแบบใดในรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการอ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน “การให้ความเห็นชอบ” จึงเป็นเรื่องที่สร้างพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อนำมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองหรือจะได้ข้ออ้างลอยตัวเลี่ยงความรับผิดชอบเท่านั้นเอง

ส่วนที่ระบุว่าในรัฐธรรมนูญมีการเขียนว่า การแก้ไขต้องลงประชามตินั้น แล้วนำสิ่งที่ตัวเองเขียนมาใช้เป็นเหตุผลในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ดูจะเป็นการใช้เหตุผลแบบข้างๆคูๆ มากเกินไปหน่อย หากยังมีสติปัญญาไม่มืดบอดจนเกินไป ลองกลับไปคิดและถามตัวเองสักนิดนะครับว่า การใช้เหตุผลเยี่ยงนี้เป็นการเอาสีข้างเข้าถูหรือไม่ เป็นการใช้เหตุผลโดยผู้มีปัญญาหรือไม่

สำหรับเหตุผลข้อ 3 เป็นประเภทการใช้สิ่งที่เคยทำในอดีตมาเป็นข้ออ้างในการทำปัจจุบัน ทั้งที่การทำในอดีต (การลงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550) ก็ผิดพลาด เท่ากับเป็นการนำความผิดพลาดในอดีต มาใช้เป็นเหตุผลของกระทำในปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่าผิดพลาดซ้ำซาก

สุดท้ายเหตุผลประการที่ 4 เหตุผลนี้น่าอับอายที่สุด เพราะเป็นการอ้างเหตุผลเพื่อตัวเองล้วนๆ หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประสงค์จะเผยแพร่เนื้อรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องใช้การลงประชามติให้เปลืองเงินถึง 3 พันล้านบาทก็ได้ เพียงแค่เสนอของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อใช้การรณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆอย่างเข้มข้น ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่าการลงประชามติอย่างมหาศาล เรียกว่า ประหยัดกว่าแต่ได้ผลลัพธ์ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนดีกว่าการลงประชามติด้วยซ้ำไป ดังนั้นการอ้างเหตุผลว่าการทำประชามติจะทำให้คณะกรรมาธิการมีโอกาสเผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญแก่คนในสังคมจึงขาดน้ำหนักและตื้นเขินยิ่งหนัก เพราะมีวิธีการอื่นๆ ที่จะสร้างความรู้แก่ประชาชนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกว่าการลงประชามติด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม การที่ผมคัดค้านการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเพราะผมไม่เห็นด้วยกับหลักการการลงประชามติ การลงประชามติที่ถูกต้องสามารถทำได้และควรทำอย่างยิ่งในประเด็นที่สังคมมีความขัดแย้งกัน เป็นประเด็นที่มีความชัดเจน และมีการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียของทางเลือกต่างๆอย่างละเอียด มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และเพียงพอ จนเกิดความเข้าใจและสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลในการเลือก นี่ต่างหากคือ การลงประชามติที่ดี ไม่ใช่ลงประชามติที่มั่วๆแบบที่กลายเป็นกระแสในขณะนี้

และประเด็นที่ผมคิดว่าควรนำไปลงประชามติเป็นอย่างยิ่งคือ “นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกโดยตรงของประชาชน” หรือ “มาจากการเลือกโดยอ้อมของ ส.ส.” หากใครกล้าไม่ว่าเป็นคณะกรรมาธิการ หรือ คสช. ก็ลองเอาไปทำ แล้วเราจะเห็นสิ่งที่แตกต่างขึ้นมากกว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น