ป้อมพระอาทิตย์
โดย โสภณ องค์การณ์
อืมม์...บ้านเมืองถึงวาระเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เป็นเรื่องของรูปแบบอำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์ต่อเนื่อง บางคนบอกว่าเป็นเหมือนหนีเสือปะจระเข้ บางคนไม่เดือดร้อน
นั่นขึ้นอยู่กับว่าผู้ยอมรับอำนาจนั้นเป็นใคร มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรโดยทั่วไป ถ้าไม่ยุ่งเรื่องการเมือง ไม่ประกอบอาชีพด้านสื่อย่อมไม่เดือดร้อน จะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ตราบใดที่ตัวเองยังไม่ได้รับผลกระทบ
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นตัววัดว่าผู้บริหารบ้านเมืองมีคุณธรรมในการจัดการปัญหาเกี่ยวโยงกับประชาชนหรือไม่ และทัศนคติปัจจุบันยังเป็นในรูปแบบของประชาชนคือ “ผู้ถูกปกครอง” และผู้มีอำนาจเป็นผู้อยู่ไต้อำนาจการปกครองหรือไม่
อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชน นั่นเป็นเพียงคำพูดเขียนไว้โก้หรูเอาไว้หลอกชาวบ้านให้ปลื้ม ลืมไปว่าประชาชนไม่เคยได้มีอำนาจบริหารจัดการบ้านเมืองแท้จริงเป็นเพียงอำนาจเลือกตัวแทนเข้าไปบริหาร เสร็จแล้วร้อยทั้งร้อย เป็นไอ้ตัวโกงทั้งนั้น
ถ้าไม่โกงเอง ก็ให้ลูกน้อง เครือข่ายบริวารโกงให้ ป้องกันการถูกตรวจสอบ
ถ้าถูกกล่าวหา ก็พูดได้เต็มปากว่า “ไหนละหลักฐาน ใบเสร็จ”
แบบนี้ต่อให้เอาใบเสร็จมาโชว์ก็ยังอ้างว่าหลักฐานเท็จ ถูกใส่ร้าย มีสักกี่รายที่นักการเมืองในชาติด้อยพัฒนายอมรับว่ากระทำความผิด
ศาลตัดสินว่าผิด มีโทษอาญา แต่รอไว้ ก็ทำเป็นเหมือนว่าไม่มีความผิด
ประชาชนจึงไม่ใช่เป็นเจ้าของอำนาจ ถูกนายทุนรวมหัวลงขันตั้งกลุ่มขึ้นมาซื้อใบเบิกทางไปแสวงหาอำนาจ ซื้อคน ซื้อเสียงด้วยเงินเพียงไม่กี่ร้อยบาท อย่างมากก็ระดับพันต้นๆ
พวกชาวบ้านจอมหัวหมอชอบอ้างนักหนาว่า “ผมเป็นคนมีศักดิ์ศรี” “อย่ามาหยามกัน” กลับยอมให้คนโกงเอาเงินฟาดหัว ลืมศักดิ์ศรี ไม่เหลือไว้บนบ่า ใบหน้ายอมรับสภาพว่าต้องการเงิน
คนซื้อเสียงคือ “คนโกง” เลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีชาวบ้านหน้าไหนวิ่งโร่ไปแจ้งตำรวจว่าพบคนโกง คนทำผิดกฎหมาย กลับยอมเป็นตัวช่วยคนโกง ผู้สมรู้ร่วมโกงการเลือกตั้งด้วยการสมยอมขายตัว
คนโกงคือคนชั่วร้าย แต่คนขายเสียงยกย่อง เป็นหนี้บุญคุณคนโกง ยกมือไหว้เมื่อได้รับเศษเงิน โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือการมอบอำนาจให้คนโกงไปถอนทุนหลายเท่าตัว หาทุนไว้โกงรอบต่อไป
มีทุนสร้างเครือข่ายคนโกงมากกว่าเดิม กินคำโตกว่าเดิม ผยองอำนาจ ไม่เห็นหัวประชาชน
การเมืองไทยเป็นเรื่องของวงจรอุบาทว์ อำนาจถูกเปลี่ยนมือซ้ำซาก ระหว่างนักการเมืองสลับกับการรัฐประหารโดยกองทัพ โดยข้ออ้างว่านักการเมืองชั่วร้าย โกงบ้านกินเมือง
รัฐประหารแล้วบริหาร จัดให้มีการเลือกตั้ง วนเวียนอย่างนี้บ้านเมืองไม่ดีขึ้น มีแต่พวกกุมอำนาจร่ำรวยขึ้น ไม่เคยมีคนยากจนจากการกุมอำนาจรัฐ
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเห็นการรัฐประหาร 17-18 ครั้ง สลับกับการเลือกตั้ง ถ้าการรัฐประหาร และผู้กุมอำนาจรัฐจากการรัฐประหารเก่งกาจสามารถจริง ไม่ควรมีรัฐประหารมากครั้ง จนน่าจะติดอันดับในกลุ่มประเทศการเมืองด้อยพัฒนา
การบริหารโดยนักการเมืองเลวร้ายถึงขั้นโกงกินระดับ 30-40 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่านั้น ไม่รู้สึกอาย ไม่รู้สึกโกรธแค้นกับผู้ทรยศประชาชน คำร่ำลือเรื่อง “โกงทั้งโคตร” อยู่ในยุคนักการเมือง ไม่สำนึก ไม่หวั่นกฎหมาย การเมืองด้อยพัฒนามักอ้างหลักการสูงส่ง แต่ดูผู้เกี่ยวข้องล้วนอาบด้วยมลทิน
เมื่อบุคคลมีอำนาจ ต้องมีการใช้อำนาจ หาทางเพิ่มอำนาจ วันหนึ่งต้องมีวาระสิ้นอำนาจ โดยการถูกอำนาจเหนือกว่าบังคับ หรือการลงจากอำนาจโดยสมัครใจ จากนั้นผลของอำนาจจะได้รับการยกย่องหรือถูกประณาม ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจ และผู้ได้รับผลกระทบนั้น ทั้งด้านดีและร้าย
การใช้อำนาจอย่างไร้คุณธรรมเพื่อผลประโยชน์ด้านทุจริตและรักษาอำนาจมักมีจุดจบไม่สวย
ค่ำวันที่ 1 เมษายน อำนาจกฎอัยการศึกสิ้นสุดลงหลังจากมีเสียงเรียกร้องโดยกลุ่มต่างๆ ในประเทศ แรงกดดันจากประเทศมหาอำนาจและองค์กรสากล
แต่เหตุผลสำคัญคือปัญหาเศรษฐกิจ ความต้องการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว แรงกดดันส่วนหนึ่งมาจากความต้องการเห็นผลการบริหาร
นี่เป็นการขอโอกาสจากประชาชน
เพียงแต่ไม่ใช่คำขอ มีเงื่อนไขของการบีบรัด จำกัดสิทธิ ดังที่มีรายละเอียด
ภาวะจำยอมเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า จะปฏิรูปกี่ครั้ง ไม่มีวันหลุดจากวงจรอุบาทว์ตราบใดที่ “คณะประชาชน” ไม่มีโอกาสได้บริหารบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ต้องให้โอกาสผู้อาสา อีกไม่นานผลงานย่อมมีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว