xs
xsm
sm
md
lg

"2สาย"ถกแก้รธน.ชั่วคราววันนี้ หนุนประชามติพรึบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ในการประชุมร่วมระหว่าง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (19 พ.ค.) จะมีการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ว่าจะเปิดทางให้มีการลงประชามติหรือไม่ หากที่ประชุมเห็นชอบ จะไปดำเนินการ ว่าจะแก้ไขอะไรบ้าง เมื่อทำเสร็จเรียบร้อย จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายใน 15 วัน ส่วนหลังจากนั้น จะมีการทำประชามติหรือไม่ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดไว้ให้ทำแล้ว สามารถตัดสินใจได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากที่ประชุมไม่ให้ความเห็นชอบ บอกว่าประตูปิดล็อกดีอยู่แล้ว ถือว่าจบ ไม่ต้องพูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตนจะขอหลักการว่า การทำประชามติ จะต้องทำอย่างไร ยกตัวอย่างจะทำประชามติก่อน หรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นหลังประกาศใช้ ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำก่อนดีกว่า จะได้ตอบสังคมให้ชัด และจะให้เวลาทำประชามติเท่าไร โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 –4 เดือน รวมทั้งต้องคิด หากทำแล้วไม่ผ่าน จะทำอย่างไรต่อไป จะมีการเสนอทางเลือก 3 –4 ทาง เพื่อที่จะเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจมีการแก้ไขในส่วนของระยะเวลาการแปรญัตติของ กมธ.ยกร่างฯ ที่อาจขยายให้ จากเดิมกำหนดไว้ 60 วัน เป็นภายในไม่เกิน 90 วัน
ต่อจากนั้น ในการประชุมครม. ตนจะรายงานถึงข้อเสนอ และความเห็นจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ องค์กรอิสระ นักวิชาการ และประชาชน โดยใช้วิธีการฉายภาพให้เห็น สรุปว่า มีกี่ประเด็นที่จะส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เพื่อขอความเห็นชอบจากครม.จากนั้นจะทำเอกสารส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ
ทั้งนี้ กรอบที่ครม. จะเสนอไปมีเยอะมาก แบ่งเป็นประเภท คือ 1. การแก้ไขถ้อยคำที่ไม่มีความชัดเจน และเกิดความไม่เข้าใจ 2.ประเภทที่ไม่ควรบัญญัติไว้ แต่ควรไปบัญญัติไว้ที่อื่น หากอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ หรือบางเรื่องไม่ควรจะอยู่ในหมวดนี้ มาตรานี้ 3. สิ่งที่ควรจะเขียนแต่กลับไม่เขียน ตรงนี้เราจะบอก และ 4. หลักการสำคัญที่ควรทบทวนตัดออก บางเรื่องเป็นข่าวไปแล้ว ส่วนที่จะมีการตัดมาตรา ให้เหลือ 200 กว่ามาตรานั้นคิดตรงกัน ส่วนหลักใหญ่ๆ ที่จะต้องตัด ยังไม่ขอบอก
ส่วนข้อเสนอแนะที่ให้มีการแก้ไข มาตรา 181 - 182 และกรณีนายกฯ คนนอก นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องที่มานายกฯ เห็นด้วยกับสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯ เขียน แต่อยากให้ว่าเป็นข้อยกเว้นจริงๆ ไม่ใช่ไปเลือกนายกฯ คนนอก ส่วน มาตรา 181-182 หากไม่มีใครเสนอให้ตัด ตนจะเสนอให้ตัดอยู่แล้ว เพราะไม่เห็นประโยชน์จาก 2 มาตรานี้ เป็นแค่การชิงไหวชิงพริบกันเท่านั้น
ส่วนประเด็นคณะกรรมการคัดสรรหาผู้สมัคร ส.ว. มองว่า เป็นความหวังดี แต่จะเกิดคนแพ้ในรอบแรกที่ถูกตัดออกไป คนที่ถูกคัดออกคงน้อยใจ จึงไม่ควรจะมีคณะกรรมการชุดนี้ เชื่อว่าคนที่จะสมัครแต่ละจังหวัด มีไม่เกิน 10 คน อยู่แล้ว

** ส่งมติสปช.หนุนทำประชามติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช .) เปิดเผยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงมติของ สปช. ที่เห็นด้วยให้มีการออกเสียงลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ หลังสปช. มีมติเห็นชอบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว โดยต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ทั้งฉบับ พร้อมเสนอให้มีหน่วยงาน และองค์กรรับผิดชอบดำเนินการการออกเสียงลงประชามติอย่างครอบคลุม และโปร่งใส รวมทั้งยังเสนอให้ขยายเวลาการออกเสียงลงประชามติ อย่างน้อย 6 เดือน จากเดิมที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เบื้องต้น 3 เดือน เนื่องจากเห็นว่า ระยะเวลา 3 เดือน อาจไม่เพียงพอ เพราะการแจกจ่ายสำเนา ร่าง รัฐธรรมนูญ ให้กับประชาชนกว่า 47 ล้านฉบับนั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เห็นว่าครม. และคสช. ยังมีเวลาถึงวันที่ 6 ส.ค. ในการพิจารณาว่าจะออกเสียงทำประชามติหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบมีมติหลังการประชุมร่วมกันในวันที่ 19 พ.ค.
"สปช.ไม่มีเจตนาประวิงเวลา หรือยืดเวลาเพื่อต่ออายุการทำงาน เพราะตระหนักดีว่า การเข้ามาทำหน้าที่ของ สปช. คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เข้ามาภายใต้กฎหมายพิเศษ หลังจากการทำรัฐประหาร ประกอบกับรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ ข้อมูลของรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด”นายอลงกรณ์กล่าว

** เชื่อจะเห็นชอบให้ทำประชามติ

วานนี้ (18 พ.ค.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น หลังจากรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน โดยในที่ประชุมมีมติว่า ให้กรรมาธิการฯ ระมัดระวังในการแสดงความเห็น โดยขอให้ย้ำว่า เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ทิศทางของกรรมาธิการฯ เพราะยังไม่มีการหารือว่า จะปรับปรุง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการประชุมระหว่าง ครม. และ คสช. เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (19 พ.ค.) ว่า คสช.และครม. คงมีความเห็นร่วมกัน ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องของทุกฝ่าย ด้วยการทำประชามติ ว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการลงมติของสปช.แล้ว แต่ถ้าไม่ผ่าน สปช. ก็ถือว่าจบ
ส่วนกระบวนการทำประชามติจะเป็นอย่างไรเป็นดุลพินิจของ ครม.และ คสช. ว่า จะมีรัฐธรรมนูญอื่นเปรียบเทียบหรือไม่ หรือถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่าน จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวยังมั่นใจว่า จะผ่านการทำประชามติ เพราะกรรมาธิการฯ รับฟังทุกฝ่ายน่าจะมีการแก้ไขในหลายประเด็น เพื่อให้สังคมยอมรับ
"ถ้าท้วงแรงตรงกันทุกฝ่าย เราก็ต้องฟัง เช่น มาตรา 181 และ 182 และอำนาจกรรมการปรองดอง ในการเสนอร่าง พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เพราะน้ำหนักในการท้วงมาน่าสนใจ ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น เช่น คณะกรรมการปรองดอง เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้เท่านั้น ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เสนอแล้วบังคับให้ครม. ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ผมตระหนักดีว่า ถ้อยคำขณะนี้ผูกมัดว่า ต้องทำ ก็จะเสนอให้มีการแก้ไข" นายไพบูลย์ กล่าว

** คนใช้เน็ต 93%ให้ทำประชามติ

วานนี้ เว็บไซต์ Prachamati.org เปิดผลการออกเสียงในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็น เผยผู้ใช้เน็ต 93% อยากให้มีการทำประชามติ 87% ไม่เห็นด้วยกับการเขียนที่มาส.ว. และ 90% ไม่เอานายกฯคนนอก
โดยคำถามที่ว่า"รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องผ่านการทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่" มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 2,522 คน เห็นด้วย 2,359 คน ไม่เห็นด้วย 163 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 93.54 % เห็นด้วยว่าควรทำประชามติ
สำหรับคำถามที่ว่า" ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นด้วยหรือไม่" มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 1,878 คน เห็นด้วย 239 คน ไม่เห็นด้วย 1,636 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 87.27% ไม่เห็นด้วยกับที่มาส.ว.ที่เขียนไว้ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และคำถามที่ว่า"นายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยหรือไม่" มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตออกเสียงลงคะแนนแล้ว 1,933 คน เห็นด้วย 178 คน ไม่เห็นด้วย 1,755 คน เท่ากับผู้ที่ลงคะแนน 90.79% ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง

** กกต.แจงงบประชามติ 3พันล้าน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ยังกล่าวถึงการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีการพูดถึงงบประมาณการจัดราว 3 พันล้านบาทว่า ปกติการจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะใช้ราว 3.8 พันล้านบาท แต่งบประมาณประชามติ จะน้อยกว่า เพราะใช้จำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพียง 5 คน จาก 11 คน ลดค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยง และจำนวนบัตรลงคะแนน เหลือเพียงบัตรเดียว จึงอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่ทั้งนี้ไม่รวมงบประมาณค่าใช้จ่ายการเผยแพร่ และการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 47 ล้านฉบับ
ส่วนการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ไม่ควรให้กกต. ดำเนินการเพราะกกต. ต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สปช. กับ กมธ. ดูแล กกต. ต้องเป็นกลาง อาจให้ได้เพียงข้อมูลวิธีการลงคะแนน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการสนับสนุน แต่ กกต.อาจจัดเวที หรือเงื่อนไขที่เป็นกลาง เช่น ประสานสถานีโทรทัศน์วิทยุ ให้กลุ่มเห็นด้วย และกลุ่มคัดค้าน ออกอากาศเท่าเทียมกัน โดยยังมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในการลงประชามติ รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐสั่งการโดยมิชอบ ข่มขู่คุกคาม หรือจัดสรรเวลาการชี้แจงโดยได้เปรียบเสียเปรียบ นอกจากนี้ตาม พ.ร.ป. การออกเสียงประชามตินั้น การลงคะแนนออกเสียงประชามติ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า การลงคะแนนในเขตนอกเขตเลือกตั้งรวมทั้งนอกราชอาณาจักร เหมือนการเลือกตั้งทุกอย่าง

**จี้ตัด 3 มาตราหมกเม็ดร่างรธน.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การยกร่างรธน. ที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า อาจพิจารณาตัดออก 2 มาตรา คือ ม.181 กับ ม.182 นั้น ความจริงไม่ได้มีแค่ 2 มาตรา ที่ควรตัดออก แต่ยังมีอีกมาตราที่ยัง "หมก" อยู่นอกเหนือจาก ม.181 ที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรี สามารถหนีการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาได้ ตลอดวาระ 4 ปี และ ม.182 ที่เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรี สามารถเสนอกฎหมายได้ด้วยวิธีพิเศษ จนอาจนำไปสู่การเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยอาศัยวิธีพิเศษตามช่องทางมาตรานี้ จนนำประเทศไปสู่วิกฤตได้อีกในอนาคตแล้ว ยังมีอีกมาตราที่ควรเอาออกคือ ม. 254 ที่กำหนดให้การถอดถอนบุคคล ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ 2 สภารวมกัน คือไม่น้อยกว่า 390 เสียงใน 650 เสียง นั้น เห็นว่า หากนายกฯ คนใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเกินกว่า 2 ใน 5 ของ 2 สภารวมกันได้ คือ มีเสียงเกินกว่า 260 เสียงขึ้นไป นั่นคือ มีแค่ 261 เสียง ก็จะทำให้ตลอดการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะโกงอย่างไร ประพฤติ มิชอบขนาดไหน ตัวนายกฯ และครม. ก็จะไม่มีวันถูกถอดถอนได้เลย เพราะเสียงที่เหลือจะมีเพียง 389 เสียง ซึ่งไม่มีทางพอถอดถอน ตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เอาเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ไปมีส่วนร่วมในการถอดถอนบุคคล แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภา หรือกลไกอื่นแทน ดังนั้นที่ต้องตัดออก จึงไม่ได้มีแค่ 2 มาตรา แต่เป็น 3 มาตรา คือ ม.181 ม.182 และ ม. 254

** เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

นายอรรถพล อรุโณรส ตัวแทนประชาชนเครือข่ายประชาชน จ.ปทุมธานี พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยผ่านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. เพื่อเรียกร้องให้ปฎิรูปให้สำเร็จในทุกมิติ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยนายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนใน จ.พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ได้เข้ายื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันนี้ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งหากยังไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ทางเครือข่ายประชาชน ก็จะออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น
ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการทำประชามติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงขอให้มีการจัดทำประชามติ พร้อมกันไปในคราวเดียวว่า " ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้งหรือไม่" ตามที่มีหลายฝ่ายออกมาร้องขอ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการทำประชามติ ที่ต้องใช้เงิน 3 พันล้านบาท และอยากให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติ ออกมาสนับสนุนการทำประชามติในประเด็นเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งไปด้วย ไม่ใช่เรียกร้องแค่ว่า จะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นสองมาตรฐาน ที่เรียกร้องเฉพาะในประเด็นที่ตัวเองจะได้ประโยชน์เท่านั้น และ ขอให้มั่นใจในเสียงของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 47 ล้านเสียง ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ที่จะชี้ขาดว่า จะเห็นชอบหรือไม่
ด้าน นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสปช. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และถ้าหากมีประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วย ก็จะออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็น ซึ่งสุดท้ายก็ต้องไปชี้ขาดที่การทำประชามติ ซึ่งการทำรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ล้วนแต่ต้องเสียเงินงบประมาณ แต่หากทำแล้วมีปัญหา สุดท้ายนอกจากจะเสียเงินงบประมาณแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น