xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้ รธน.ไม่ผ่านชาติเดินลำบาก จี้ ฟังความเห็น ย้ำ นายกฯเร่งตัดสินใจประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
“องอาจ” เรียกร้อง กมธ. ยกร่างฯ จริงใจฟังความเห็น ชี้ ปชต. เสรีไม่ใช่หลัก ปชต. ชี้นำ จี้ คำนึงถึง ปชช. ยึดนิติรัฐ นิติธรรม เลี่ยงวาระซ่อนเร้น หวั่น รธน. ไม่ได้รับการตอบรับชาติเดินลำบาก ย้อน รัฐ อ้าง กมธ. ยกร่างฯ เสนอประชามติไม่มีน้ำหนักไม่ได้ ย้ำ ต้องทำเลี่ยงไม่ได้ บี้ “บิ๊กตู่” เหลือเวลาตัดสินใจไม่มาก



วันนี้ (17 พ.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังความเห็นภาคส่วนต่างๆ อย่างจริงใจให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ จึงต้องคำนึงถึงหลัก 5 ประการคือ 1. หลักการประชาธิปไตยเสรีไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยชี้นำ 2. คำนึงถึงสิทธิที่เท่าเทียมของประชาชน 3. สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน 4. ยึดโยงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ 5. ควรหลีกเลี่ยงการบัญญัติข้อความที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็น “วาระซ่อนเร้น”

“ผมเชื่อว่า กรรมาธิการยกร่างฯมีเจตนาดี แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับ โอกาสที่ประเทศจะเดินหน้าก็ลำบาก เพราะจะมีโรคแทรกซ้อน ดังนั้น จากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่กรรมาธิการจะทำให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ ด้วยการพิจารณาข้อเสนอของทุกฝ่าย”

ส่วนการทำประชามตินั้น นายองอาจ กล่าวว่า นับตั้งแต่กรรมาธิการฯมีมติให้ทำประชามติส่งไปยัง ครม. และ คสช. แล้ว แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยพูดว่าเสนอได้แต่ไม่มีน้ำหนัก จึงอยากให้มองข้อเสนอใหม่จะมองว่าไม่มีน้ำหนักไม่ได้ เนื่องจากความเห็นเป็นเอกฉันท์ที่จะให้รัฐบาล และ คสช. ให้มีประชามติในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่ารัฐบาล และ คสช. จะหลีกเลี่ยงที่จะผูกมัดตัวเองในเรื่องการทำประชามติ เพราะกลัวคนเข้าใจว่าต้องการอยู่ในอำนาจนั้น ในขณะนี้ความเห็น สปช. และ สนช. ต่างก็เห็นว่าควรทำประชามติ ดังนั้น รัฐบาล และ คสช. จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะทำประชามติหรือไม่อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสำคัญในการตัดสินใจเรื่องนี้เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

นายองอาจ กล่าวว่า เวลาในการตัดสินใจมีไม่มากแล้ว เนื่องจากวันสุดท้ายของการปรับปรุงเนื้อหาจะจบในวันที่ 29 กรกฎาคม จากนั้น 6 สิงหาคม สปช. จะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาไม่มากถ้าตัดสินใจให้ทำประชามติ เพราะถ้า สปช.รับรัฐธรรมนูญนี้กระบวนการก็คงเกิดหลัง สปช. รับมติ หรือแม้ สปช. ไม่รับรัฐธรรมนูญ กระบวนการทำประชามติก็ควรดำเนินการโดยแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2557 จึงเหลือเวลาอีกไม่มาก วันที่ 19 พ.ค. ที่จะมีการประชุมแม่น้ำสองสาย จะเป็นโอกาสสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเข้ามาแก้ไขประเทศบ้านเมืองให้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ จึงหวังว่าการทำประชามติจะมีส่วนสำคัญทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญใหม่” นายองอาจ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น