xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ร่อนหนังสือด่วนถึง “บิ๊กตู่” หนุนประชามติร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ  (แฟ้มภาพ)
กมธ. ยกร่าง รธน. เห็นควรให้ ปชช. ออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ เสนอนายกฯอนุมัติเผยแพร่ ด้วยวิธีจัดพิมพ์ ออกอากาศทางวิทยุ โทรทัศน์ ชี้แจงให้ประชาชนทำความเข้าใจ 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ (รธน.) 562/2558 ลงวันที่ 13 พ.ค. 2558 เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง ขอเสนอให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดยในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญ ว่า คณะ กมธ. ยกร่างฯ มีมติให้นำความเห็นเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพื่อดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ควรใช้เวลาในการให้ประชาชนศึกษาและรับฟังความเห็นทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยประมาณ 90 วัน หลังจากที่ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนไปศึกษา

2. ขอให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอธิบายโดยสรุปของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เผยแพร่ให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียง 47 ล้านคน และ 3. ขอความกรุณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุเคราะห์มีมติให้สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงของรัฐ ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ อสมท และของเหล่าทัพ สนับสนุนให้กมธ.ยกร่างฯและผู้ซึ่งคณะกมธ.ยกร่างฯมอบหมาย ไปออกอากาศชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือยังระบุด้วยว่า การออกเสียงประชามติมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ดังนี้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารประเทศและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมควรที่จะให้ปวงชนชาวไทยเจ้าของอำนาจสูงสุดได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นสัญญาประชาคม ขณะที่ในทางรัฐศาสตร์หรือการเมืองนั้น การมีส่วนร่วมของพลเมืองที่สำคัญที่สุด คือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ก่อตั้งสถาบันการเมือง และกำหนดกฎเกณฑ์ให้สถาบันการเมืองต้องยึดถือ และปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ยังเห็นว่าเมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งได้ทำประชามติไว้

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงสมควรให้มีการออกประชามติเพื่อยืนยันความชอบธรรมของร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงหากไม่ให้ทำประชามติ จะไม่สามารถอธิบายในทางทฤษฏีและในทางนิติศาสตร์ว่าเหตุใดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
กำลังโหลดความคิดเห็น