วิป สนช. สรุป 10 ประเด็น ชำแหละ ร่าง รธน. พรุ่งนี้ ด้าน กมธ. ปฏิรูปการเมือง ตัดประเด็น “กลุ่มการเมือง” ห้ามส่งผู้สมัคร ส.ส. ส่วนที่มา “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากสภา และเป็น ส.ส. เท่านั้น คาดสัปดาห์หน้าสรุป ส่วน “คนเพื่อไทย” จวกอย่าตัดสินแทน ปชช. -ชี้ “ทำประมติ” ไม่ยาก ถ้า ครม. ต้องการ
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายนิรันทร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาจัดทำประเด็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญใน กมธ. ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า มีผู้ลงชื่อสนับสนุนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแล้ว 8 คน ซึ่งจะเน้นไปที่ประเด็นทางการเมือง โครงสร้างทางการเมือง โดยมีประเด็นที่ตกผลึกร่วมกัน คือ 1. การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ขอตัดประเด็น “กลุ่มการเมือง” ออกให้คงไว้เพียง “พรรคการเมือง” ที่มีสิทธิส่งผู้สมัครได้ 2. เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติเป็น ส.ส. เป็นต้น ส่วนประเด็นที่ยังไม่ตกผลึก อาทิ
1. ที่มาของ ส.ส. โดย นายชัย ชิดชอบ สปช. เสนอให้มี ส.ส. จำนวน 450 คน และมีเฉพาะระบบเลือกตั้งแบบเขตเท่านั้นในขณะที่ สปช. คนอื่นๆ เห็นว่า ให้คง ส.ส. จากบัญชีรายชื่อไว้
2. เรื่องระบบเลือกตั้ง ที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า ควรให้แก้ไขและกลับไปใช้รูปแบบเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะจะไม่มีปัญหามากนักโดยเฉพาะการเติมเต็ม ส.ส. บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองตามคะแนนนิยมที่แท้จริงของประชาชนหากเกิดกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือถูกสั่งให้เลือกตั้งใหม่อาจกระทบต่อการคำนวณ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อได้และหากรอให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นแล้วเสร็จ อาจกระทบต่อระยะเวลาการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกนายกรัฐมนตรี
3. ประเด็นที่มาของ ส.ว. มีข้อเสนอหลากหลายเช่น ให้มีจำนวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด และมาจากการสรรหา หรือให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแต่ส่วนหนึ่งยังเห็นว่าให้คงไว้ตามที่กมธ.ยกร่างฯกำหนด
นายนิรันดร์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นการทำคำขอแก้ไขยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะต้องรอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากกลุ่ม สปช. ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่จะส่งมาภายในสัปดาห์หน้า และต้องรอฟังประเด็นจากนักการเมืองที่จะให้ความเห็นผ่านเวทีรับฟังความเห็นในวันที่ 15 พ.ค. นี้ และความเห็นของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ซึ่งจะมาให้ความเห็นในวันที่ 18 พ.ค. นี้ คาดว่า ในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
76 สปช. ค้าน กมธ. ยกร่างฯตั้ง 27 อนุ กมธ.ร่างประกอบ ม.39
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สชป.) เปิดเผยว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่น ไลน์ในกลุ่มสปช. เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ส่งจดหมายเปิดผนึกท้วงติงการแต่งตั้งคณะอนุ กมธ. พิจารณายกร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 12 คณะ และคณะอนุ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่จำเป็นต้องตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คณะ ว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 39 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ ร่วมกัน ทั้งนี้ได้ขอให้ทบทวนว่า สปช. เห็นด้วยกับนายนิรันดร์ ตามจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวหรือไม่ พร้อมกับให้ สปช. ในกลุ่มร่วมลงชื่อ โดยล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. มี สปช. ที่ลงชื่อสนับสนุนความเห็นของนายนิรันดร์แล้วทั้งสิ้น 76 คน
“ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมี สปช. สนับสนุนเพิ่มอีกส่วนจะนำไปสู่การทบทวนหรือยกเลิกอนุ กมธ. ทั้ง 2 คณะหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ แต่เห็นว่า หากสมาชิก สปช. ลงความเห็นดังกล่าวในทิศทางเดียวกันน่าจะยุติดำเนินการของอนุ กมธ. ชุดต่างๆ ส่วนประเด็นค่าเบี้ยประชุมที่ได้เบิกไปแล้วนั้น ทราบว่าไม่มีสปช.ท่านใดติดใจที่จะทวงคืน” นายบุญเลิศ กล่าว
วิป สนช. เตรียม สรุป 10 ประเด็น ชำแหละร่าง รธน. พรุ่งนี้
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติ คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่ สนช. จะนัดประชุมเพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายและแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการหารือกันของสมาชิก สนช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่าความเห็นของ สนช.น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการพิจารณาของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสุดท้าย ทั้งนี้ อาจจะมีการบรรจุระเบียบวาระเพิ่มเติมในวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม นี้ เพียงวันเดียว เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นกันในที่ประชุมกันอย่างกว้างขวาง แต่คงไม่ใช้เป็นการอภิปรายทั้งร่างเรียงลำดับทีละมาตรา เพราะเรามีเวลาจำกัด เนื่องจาก สนช. มีระเบียบวาระที่ต้องประชุมพิจารณากฎหมายอื่นตามปกติด้วย
ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดรูปแบบขึ้นมา โดยจะมีการแบ่งกลุ่มสรุปประเด็นสำคัญๆ จากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่สังคมให้ความสนใจหรือมีข้อโต้แย้งขึ้นมาให้สมาชิก โดยเบี้องต้นจะมีการแบ่งประเด็นออกเป็น 10 กลุ่มให้สมาชิกอภิปรายทีละกลุ่มเรียงลำดับความสำคัญ ส่วนแต่ละกลุ่มมีเรื่องใดหรือประเด็นใดบ้าง รวมถึงจะวิธีการโหวต หรือรูปแบบอื่นใดที่จะได้เป็นมติอันเป็นความเห็นของ สนช.เพื่อส่งต่อให้ยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงมีการนำเข้าไปหารือกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.30 น.
คนพท.จวกอย่าตัดสินแทน ปชช. - ชี้ไม่ยาก ถ้า ครม. ต้องการ
ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้มีการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ถ้าตั้งใจจะทำประชามติแล้ว ใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมันไม่ได้ยากเย็นอะไร นักกฎหมายทั้งหลายสามารถกำหนดให้มีการทำประชามติโดยไม่ให้มีปัญหาทางกฎหมายได้ง่าย โดยไม่ต้องไปคิดว่าจะหยิบมาตราไหนมาใช้ ซึ่งช่องทางที่ง่ายที่สุด คือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้มีการทำประชามติ ถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ต้องการอย่างแท้จริง เชื่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ภายในเวลาอันสั้นแน่นอน
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีต ส.ส. พะเยา พรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การทำประชามติ คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนชาวบ้าน หรือกรรมาธิการชุดนี้รู้ดีว่า ประชาชนจะไม่ยอมรับดังนั้นยอมรับความจริงแล้วอย่าดื้อจะดีกว่า
ทั้งนี้ ตนไม่ได้พูดในฐานะนักการเมืองแต่พูดสะท้อนมาจากชาวบ้านที่ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยด้วย ถึงแม้ว่าการทำประชามติอาจจะทำให้ต้องมีการมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และอาจจะกระทบถึงระยะเวลาที่จะมีการเลือกตั้งแต่ตนก็ยอมรับ เพราะตนไม่ได้อยากเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง.