สนช. ได้ฤกษ์ 15 พ.ค. ชำแหล่ะร่าง รธน. เน้นปมร้อนการเมือง - วิปฯ เผยคุยลับเหตุแค่แสดงความเห็นขอแก้ไขร่าง รธน. ไม่ได้ ด้าน “ปธ. 5 องค์กรอิสระ” มีความเห็นรวมกัน ยึดรูปแบบสรรหาตาม รธน.50 ตามความเหมาะสม ชงข้อเสนอถึงรัฐบาล ภายใน 14 พ.ค. นี้
วันนี้ (12 พ.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และ นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุม ว่า ในวันที่ 15 พ.ค. นี้ สนช. จะมีวาระการประชุมที่ให้สมาชิก สนช. ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปประกอบการพิจารณา
โดย นายสรุชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ได้ตั้งประเด็นที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 10 ประเด็น อาทิ สิทธิ เสรีภาพ ผู้นำทางการเมืองที่ดี กระบวนการยุติธรรม การสร้างความปรองดอง รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ซึ่งในที่ประชุมจะมีการพูดถึงเรื่องการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรีคนนอก ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ อำนาจหน้าที่ ส.ว. หรือกลุ่มการเมือง มาตรา 181 - 182 ตามที่ กมธ. ยกร่างฯ เสนอนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะประชุมจะเสนอเป็นกรอบการอภิปราย แต่ก็เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายถึงประเด็นอื่นนอกเหนือจากนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะให้สมาชิกอภิปรายคนละ 7 นาที แต่ก็จะดูความยืดหยุ่นว่าสมาชิกที่ประสงค์จะอภิปรายนั้นมีจำนวนเท่าใด อีกทั้งการอภิปรายดังกล่าวอาจใช้เวลาไปถึงวันที่ 16 พ.ค. เนื่องจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าไปจำกัดการอภิปรายจนเกินไปจะไม่เหมาะสม แต่จะพยายามกำหนดไม่ให้ยืดเยื้อ
“การอภิปรายของ สนช. นั้น เป็นเพียงข้อเสนอแนะ จะไม่มีการลงมติ เพราะ สนช. ไม่สามารถยื่นแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่เห็นว่าขณะนี้ กมธ. ยกร่างฯ อยู่ในช่วงที่รับฟังความคิดเห็น และที่ผ่านมา สนช. มักจะมีความเห็นที่หลากหลายต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น สนช. ก็จะนำสิ่งที่สมาชิกแสดงความคิดเห็นมาขมวดเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ความเห็นอย่างเป็นเอกภาพและง่ายต่อการพิจารณาของ กมธ. ยกร่างฯ แต่คาดว่าอาจจะเป็นการอภิปรายกันภายในไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม สนช. จะส่งความเห็นไปยัง กมธ. ยกร่างฯ ให้ทันก่อนวันที่ 25 พ.ค. นี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียของ”
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า วิป สนช. ได้กำหนดวาระการประชุมเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 21 หรือ 22 พ.ค. นี้ ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้น สนช. ยังไม่เห็นรายละเอียดหรือเอกสารใดๆ ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีส่งหนังสืออย่างเป็นทางการมาให้อีกครั้งจึงจะทราบว่าได้ตั้งงบประมาณไว้จำนวนเท่าไหร่
ปธ.5 องค์กรอิสระ เสนอให้ยึดรูปแบบสรรหาตาม รธน.50
มีรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมของประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานของรัฐทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือประมาณชั่วโมงเศษ ภายหลังการประชุม นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงความเห็นร่วมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เพื่อนำไปรวมกับข้อเสนอของแต่ละองค์กรที่จะเสนอไปยังรัฐบาล
โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ในเรื่องคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ควรยึดรูปแบบตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการสรรหาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นยังมีความซับซ้อนเกินไป การเพิ่มคณะกรรมการสรรหา อาจทำให้เกิดปัญหาได้”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กสม. ไม่เห็นด้วยกับการยึดรูปแบบการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะรูปแบบการสรรหากสม.ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ละแห่ง จะต้องทำข้อเสนอของตน เพื่อเสนอต่อรัฐบาล และจะนำผลการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นคำยืนยันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐบาลด้วย โดยในส่วนของ ป.ป.ช. กำลังดำเนินการ และคาดว่าจะส่งข้อเสนอได้ภายในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งข้อเสนอมีหลายประเด็น
ทั้งนี้ สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้การสรรหา กกต. มีตัวแทนจากสภาผู้แทนราษฎร 2 ราย ตัวแทนจากศาลฎีกา 2 ราย ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย และตัวแทนจากศาลปกครอง 1 ราย, การสรรหา กสม. มีตัวแทนจากสภาผู้แทนฯ 2 ราย ตัวแทนจากศาลฎีกา 2 ราย ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย และตัวแทนจากศาลปกครอง 2 ราย, การสรรหา ป.ป.ช. มีตัวแทนจากสภาผู้แทนฯ 2 ราย ตัวแทนจากศาลฎีกา 1 ราย ตัวแทนจากศาลปกครอง 1 รายตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย, การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน มีตัวแทนจากสภาผู้แทนฯ 2 ราย ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ 1 ราย ตัวแทนจากศาลปกครอง 2 ราย ตัวแทนจากศาลปกครอง 2 ราย และการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีตัวแทนจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตัวแทนจากสภาผู้แทนฯ 2 ราย และประธานองค์กรอิสระ ซึ่งเลือกกันเองเหลือ 1 ราย.