xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 ต่ออายุ “ปานเทพ” นั่งประธาน ป.ป.ช. ถึง 21 ก.ย. นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ภาพจากแฟ้ม)
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยมาตรา 44 ต่ออายุ “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ประธาน ป.ป.ช. อยู่ในตําแหน่งต่อไปถึง 21 ก.ย. พ้นวาระพร้อมกับ “วิชา - ภักดี - ประสาท - วิชัย” ระบุไม่ต้องการสรรหา ป.ป.ช. ใหม่ 2 ครั้ง สร้างภาระแก่ผู้สนใจลงสมัคร และสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น

วันนี้ (8 พ.ค.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๒/๒๕๕๘ เรื่อง ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ในตําแหน่งต่อไป ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๙ ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นไป นั้น

บัดนี้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยประกาศฉบับดังกล่าว กําลังจะพ้นจากตําแหน่งในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เนื่องจากอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ในขณะที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอีก ๔ คน ได้แก่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ นายวิชา มหาคุณ และนายวิชัย วิวิตเสวี ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยประกาศฉบับเดียวกัน ยังคงอยู่ในตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ ๙ ปี ในวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ดังนั้น เพื่อมิให้ต้องดําเนินการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ๒ ครั้ง ในเวลาใกล้เคียงกัน อันจะเป็นการสร้างภาระแก่ผู้สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อีกทั้งจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศโดยไม่จําเป็น จึงเห็นสมควรให้ดําเนินการสรรหาบุคคลแทนตําแหน่งที่ว่างไปในคราวเดียวกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งให้ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต่อไปจนถึงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ได้ออกคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๓/๒๕๕๘ เรื่อง การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๘/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ กําหนดว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นต้องสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้ดําเนินการสรรหาผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เคยดําเนินการสรรหามาแล้วตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และหากในการสรรหาดังกล่าวไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งใด ซึ่งเป็นตําแหน่งที่ต้องมีในคณะกรรมการสรรหาด้วย ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ นั้น

โดยที่มาตรา ๒๔๖ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาจํานวนห้าคน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับประธานศาลปกครองสูงสุดก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการถูกพักราชการตามมติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คงมีแต่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๖ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗

ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาโดยการเพิ่มผู้แทนจากฝ่ายบริหาร เพื่อให้คณะกรรมการสรรหามีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและได้สมดุล โดยมีที่มาจากอํานาจทั้งสามฝ่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศและการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่งให้คณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองนายกรัฐมนตรีที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น