xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ นิยาม “เงินแผ่นดิน” ใหม่ สกัดรัฐบาลใช้เงินนอกงบประมาณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
กมธ.ยกร่างฯ นิยามคำว่า “เงินแผ่นดิน” ไม่ให้รวมถึงเงินฝาก ทรัพย์สิน ที่หน่วยบงานรัฐมีไว้ครอบครอง ป้องกันนักการเมืองฉวยโอกาสนำไปใช้เพื่อผลทางการเมือง และยังสกัดรัฐบาลไม่ให้ใช้เงินนอกงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังให้สื่อ ทูตานุทูตร่วมฟังการพิจารณา



นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯว่า กมธ.ยกร่างฯ ขยายเวลาให้คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มีนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เลขาธิการ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน เพื่อให้จัดทำให้สมบูรณ์มากขึ้น จนถึงวันที่ 11 ม.ค. 58 เมื่อเสร็จแล้วก็ให้นำเสนอสู่การพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 12 ม.ค. โดยไม่ต้องส่งกลับไปยังคณะอนุ กมธ.สารัตถะทั้ง 10 คณะ พิจารณาอีก

ส่วนการพิจารณารายมาตราของ กมธ.ยกร่างฯ ก็อาจจะมีการเชิญคณะอนุฯ ทั้ง 10 ด้าน มาให้ข้อมูล ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะทำการเชิญสื่อมวลชนทั้งของไทยและต่างประเทศเข้ารับฟังการพิจารณายกร่างฯรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.เป็นต้นไป แต่จะมีการยกเว้นในบางภาคบางหมวด ที่ประเด็นละเอียดอ่อน โดย กมธ.มอบหมายให้ นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่ 2 และนายมีชัย วีระไวทยะ กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกันพิจารณากฎเกณฑ์และจะหารือกับสื่อมวลชนอีกครั้ง นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ก็มีความคิดที่จะเชิญทูตานุทูตเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาด้วยเช่นกัน

นายคำนูณกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังมีการพิจารณาในหมวดของการเงินการคลัง ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ที่มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน เบื้องต้นได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “เงินแผ่นดิน” ใหม่ ดังนี้ กำหนดให้เงินแผ่นดินประกอบด้วย เงินรายได้นำส่งคลังทั้งมวล เงินกู้โดยกระทรวงการคลัง เงินและทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐ ทั้งนี้ไม่รวมเงินฝาก เงินโอน เงินและทรัพย์สิน ซึ่งหน่วยงานของรัฐมีไว้ในครอบครอง แต่รัฐมิได้เป็นเจ้าของโดยตรง ตลอดจนถึงเงิน และทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐวิสาหกิจ สาเหตุของการกำหนดนิยามใหม่นี้มี 2 ประการ คือ 1. เพื่อป้องกันการตีความ เงินแผ่นดิน ให้มีขอบเขตจำกัด เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา 2. เพื่อป้องกันมิให้ ครม.และส่วนราชการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดดังเช่นที่เคยทำกันมา





กำลังโหลดความคิดเห็น