โฆษก กมธ.ยกร่าง รธน.เผยที่ประชุมเห็นชอบตั้งอนุ กมธ.ด้านเนื้อหา 10 คณะ บวกอนุ กมธ.ตรา กม.ลูก วางปฏิทิน 20 ธ.ค.เริ่มร่าง รธน. มั่นใจเสร็จก่อนสงกรานต์ตามกำหนด
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมผ่านมติการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านเนื้อหาจำนวน 10 คณะและบวกอีก 1 คณะ โดย 10 คณะที่เกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะเริ่มทำงานทันที ส่วนอีกหนึ่งคณะเป็นการเตรียมการตราเป็นกฎหมายหรือแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูยเพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 11 คณะประกอบด้วย
คณะที่ 1 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน
คณะที่ 2 รับผิดชอบศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน
คณะที่ 3 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน
คณะที่ 4 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี สถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน
คณะที่ 5 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี สถาบันการเมืองที่ดี หมวด6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน
คณะ 6 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน
คณะที่ 7 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน
คณะที่ 8 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน
คณะที่ 9 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน
คณะที่ 10 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน
นายคำนูณกล่าวว่า อีกหนึ่งคณะคืออนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีนายเจษฏ์ โทณะวณิก เป็นประธาน โดยขณะนี้อนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะ รอ สปช.ส่งตัวแทนมาร่วมคณะละ 5 คน สนช.ส่งตัวแทนได้ 1 คนต่อ 1 คณะ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับคือมีจำนวนอนุกรรมาธิการฯแต่ละคณะไม่เกิน 15 คน ยกเว้นบางคณะที่มีความจำเป็นจะมีได้ไม่เกิน 21 คน โดยรายชื่อของคณะอนุกรรมาธิการฯทั้งหมดจะมีคำสั่งแต่งตั้งภายในวันศุกร์ หรือช้าที่สุดไม่เกินเช้าวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าช่วงเช้าหลังจากรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองแล้ว ช่วงบ่ายอนุกรรมาธิการทั้ง 10 คณะจะพิจารณากรอบเนื้อหาก่อนโดยจะยังไม่มีการยกร่างเป็นมาตรา และจะนำข้อสรุปผลการรับฟังความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ 26 พ.ย. 57 จากนั้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.น่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุม สปช.และส่งข้อเสนอจาก สปช.ให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันที่ 19 ธ.ค. และในวันที่ 20 ธ.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อส่งมอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 17 เม.ย. 2558 โดยมีความตั้งใจที่จะให้แล้วเสร็จก่อนสงกรานต์
“การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบเวลาเพราะเป็นบทบังคับของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และกรรมาธิการฯทั้ง 36 คนแต่ละคนก็สูงวัยก็ไม่อยากเอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ในชั้นนี้ รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทำงานไม่ทันมันก็ไม่ถูกต้อง ผมมั่นใจ 100% ถ้าฟ้าไม่ถล่มดินไม่ทลายกรรมาธิการฯต้องทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เสร็จภายในวันที่ 17 เม.ย. 58 และแม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเปิดช่องให้มีการร่างใหม่หากไม่เสร็จตามกรอบเวลา แต่ทุกคนมีเกียรติยศชื่อเสียง จึงขอให้ให้ความไว้วางใจต่อคนทำงานเพราะถ้าทำไม่เสร็จ มันก็ไม่มีประโยชน์อื่นใดกับบ้านเมือง และเชื่อว่าสังคมก็จะไม่สงบสุขแน่นอน และเชื่อว่าไม่ใช่ความปรารถนาของ คสช.เช่นเดียวกันที่จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ”