xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ไม่เปิดฟรีสื่อเกาะติด ยันร่างรธน.เพื่ออนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (5พ.ย.) ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายการประชุม กมธ.ยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการว่า ที่ประชุมมีฉันทมติใน 2 เรื่อง ดังนี้
1. มีการแบ่งงานในคณะกมธ.ด้านต่างๆ โดยจะมี รองประธาน กมธ. จำนวน 6 คน เรียงตามลำดับอาวุโส คือ นายกระแส ชนะวงศ์ เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นรองฯ คนที่ 2 นายสุจิต บุญบงการ เป็นรองฯ คนที่ 3 นางนรีวรรณ จินตกานนท์ เป็นรองฯคนที่ 4 นายปรีชา วัชราภัย เป็นรองฯ คนที่ 5 และ นายชูชัย ศุภวงศ์ เป็นรองฯ คนที่ 6
ขณะที่ตำแหน่งที่ปรึกษากมธ. ประกอบด้วย นายประสพสุข บุญเดช เป็นประธานที่ปรึกษาฯ นายจรูญ อินทจาร เป็นรองประธานที่ปรึกษา และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นที่ปรึกษา
ส่วนตำแหน่งเลขานุการกมธ. มี 2 คน คือ นายดิสทัต โหตระกิตย์ กับ นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ ส่วนโฆษกคณะกมธ.มี 6 คน คือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว นายวุฒิสภา ตันไชย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายปกรณ์ ปรียากร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำหนดแนวทางการทำงาน โดยแยก อนุกมธ.ฯ ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. อนุกมธ.ว่าด้วยกระบวนการทำงาน โดยจะมีการแยกออก 3 คณะ ดังนี้ 1. คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมย์และจัดทำจดหมายเหตุ โดยมี นายคำนูณ เป็นประธาน 2. อนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นชองประชาชน มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธาน และ 3. อนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจาก สปช. และองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนด โดยจะต้องไม่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ สปช. กับ 2. อนุกมธ.ว่าด้วยเนื้อหาของการทำงาน
ทั้งนี้ จะนำรายชื่อและข้อเสนอทั้งหมดเข้าสู่การประชุมของคณะกมธ.ในวันนี้ (6 พ.ย.) เพื่อให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพูดคุยกันเรื่องกรอบเวลาในการประชุม และการให้สื่อเข้ารับฟังรวมถึงการพิจารณาว่า จะดึงคู่ขัดแย้งเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติ
นายบวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากนับจากวันนี้ สปช. ยังเหลือเวลาในการจัดการความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะกมธ.ยกร่างฯ อีก 44 วัน โดยที่จะสิ้นสุดวันสุดท้ายในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลา 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ นับจากวันที่สปช.ได้ทำการประชุมครั้งแรก ในวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้น คณะกมธ. ก็จะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญกันทันที แต่ในระหว่างนี้ คณะกมธ.ก็จะเริ่มกระบวรการรับฟังความคิดเห็นคู่ขนานไปกับสปช.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้ารับฟังการประชุมเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของคณะกมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า "ผมไม่สนใจที่จะให้สื่อนั่งฟังตลอดเวลา เพราะไม่มีอะไรจะปิดบัง ถ้าจะให้ถ่ายทอดสดยังได้ แต่ตั้งแต่ปี 2548-2557 มีความขัดแย้งมายาวนาน 9 ปี มีสี มีจุดยืน ถ้าเราจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นแบบตาบอดสี เหมือนที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม ว่าไว้ ก็แปลว่า บางทีต้องจับเข่าคุยให้ทิ้งจุดยืนเดิม แล้วดูอนาคต ตาบอดสี คือ ไม่เห็นสีเหลือง สีแดง สีธงชาติ หรือ สีอะไรทั้งนั้น ถ้าสื่ออยู่ หรือถ่ายทอด บทบาทที่ยึดโยงกับอดีต มันก็จะทำให้เขาต้องถูกดึงไปสู่อดีต เราอยากจะอยู่กับอดีตหรืออนาคต ถ้าเราอยากผูกกับอดีต คนที่เสื้อเหลืองแล้วต้องมาแสดงจุดยืน ก็ถ่ายทอด แต่ถ้าเราอยากดูอนาคตกัน ก็อย่าไปผูกกับเสื้อสีในอดีต สื่อก็ต้องยอมรับว่า มันพูดไม่ได้ในการถ่ายทอด ขอร้องสื่อทั้งหมดถ้าจะเมตตา และเข้าใจอะไรที่เปิดเผยได้ เราจะเปิด ไม่ต้องห่วง แต่อะไรที่เปิดไม่ได้ ต้องคุยกันให้รู้ดำรู้แดง ก็ต้องพูดคุยกันในห้อง ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของประธาน ไม่รู้ว่า กรรมาธิการจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้รู้ไว้ด้วยว่า ผมและกรรมาธิการทราบว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ง่ายที่จะทำ เพราะว่า สื่อหลายสื่อ เริ่มจากการมีทัศนคติไม่เป็นบวกกับคณะกรรมาธิการ เราสำนึกและตระหนักดี อะไรก็ตาม ที่จะทำให้ความรู้สึกดีขึ้น อยากทำทั้งสิ้น แต่ถ้าทำให้ความรู้สึกดีขึ้นอย่างเดียว แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่องเลย ผมก็เลือกเนื้อหา" นายบวรศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น