xs
xsm
sm
md
lg

“มานิจ” เห็นชอบบัญญัติหน้าที่รัฐสร้างพลเมืองคุณภาพ-รู้เท่าทันสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มานิจ สุขสมจิตร (ภาพจากแฟ้ม)
“มานิจ” เผยเห็นชอบบทบัญญัติความเป็นพลเมืองและสิทธิ ให้รัฐมีหน้าที่สร้างพลเมืองคุณภาพ รู้เท่าทันสื่อ เคารพหลักความเสมอภาค แตกต่าง มีวินัย สิทธิของผู้อื่น กติกา ยึดมั่นความถูกต้องชอบธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม กำหนดหลักสูตรในสถานศึกษาทุกระดับ เบื้องต้นให้ พม. และ ศธ. ต้องปฏิบัติ ด้าน “มีชัย” เตรียมจัดโรดโชว์เยาวชน 10 ภาคทั่วประเทศ พร้อมขอความร่วมมือให้เยาวชนส่งความเห็นมาด้วย

วันนี้ (7 ธ.ค.) นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง ที่ระบุว่า “ให้รัฐมีหน้าที่สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รู้เท่าทันสื่อ เลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ พึ่งตนเองได้ เคารพหลักความเสมอภาค เคารพความแตกต่าง มีวินัย เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพกติกา ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม ทั้งนี้รัฐจะต้องให้การศึกษาเรื่องพลเมืองด้วยการกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของ หลักสูตรในสถานศึกษาทุกระดับ ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งผู้ที่พ้นวัยศึกษาด้วย” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งนี้ กลไกที่จะกำกับให้การดำเนินงานของรัฐเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นหน่วยงานหลักที่ต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องกำหนดโครงการเพื่อดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องกำหนดหลักสูตรที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายมีชัย วีระไวทยะ ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดี กล่าวว่า ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี่พบว่ากลุ่มเยาวชนให้การตอบรับ โดยแสดงความคิดเห็นด้านการปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างดี โดยกลุ่มเยาวชนส่งจดหมายผ่านตู้ ปณ.111 ปณฝ. รัฐสภา และอีเมลเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการเมือง และการศึกษา โดยจะนำมาแยกประเภทเพื่อจัดการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชนรุ่นต่อไป และอนุกรรมาธิการเตรียมเสนอตั้งองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานภายใต้สถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้เยาวชนร่วมการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมถึงสร้างเครือข่ายในสถาบันการศึกษาเพื่อทำงานหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ทางอนุกรรมาธิการเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นเยาวชน 10 จุด ทั่วประเทศในเร็วๆ นี้ โดยแบ่งออกเป็นภาค ซึ่งภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่างที่พิษณุโลก ภาคอีสานที่ขอนแก่น และแจ้งให้ทราบอีกครั้งในส่วนของภาคอื่น โดยในแต่ละเวทีรับฟังความคิดเห็นจะใช้เยาวชน ตั้งแต่มัธยมศึกษาที่ 1 - 6 จำนวน 60 คน แบ่งเป็นชาย 30 หญิง 30 คน เพื่อความเสมอภาคในการแสดงความเห็น ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ประสานไปยังสถานศึกษาต่างๆ รวบรวมความเห็นของนักเรียนแล้วส่งกลับมาคณะกรรมาธิการอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น