xs
xsm
sm
md
lg

โพลหนุนเลือกนายกฯ-ครม.ตรง กมธ.ชี้ขาดวันนี้ “อุดมเดช”ค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมบัติ" แจงข้อเสนอเลือก "นายกฯ-ครม." โดยตรง เพื่อแก้ปัญหา นายกฯอุปถัมภ์ ส.ส.- รวบอำนาจเด็ดขาด นัดประชุมชี้ขาดวันนี้ (8 ธ.ค.) ด้านนิด้าโพล เผยชาวบ้าน 66.8% ขอนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน 48.52% แนะที่มา ส.ส.เขตละ 1 คน 72.07% ครม. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง "วิรัตน์" ยกข้อดีเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง รู้ล่วงหน้า ไม่ยัดเยียดคนยี้ ให้ประชาชนต้องยอมรับ "มีชัย" เผยเยาวชนอยากให้เน้นปราบโกง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอของกมธ. ที่ให้มีการเลือกคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยตรงว่า ทางกมธ.ปฏิรูปการเมืองเสียงข้างมาก มีข้อสรุปเบื้องต้นคือ จะให้ประชาชนได้เลือกครม.โดยตรง เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นปัญหาจากรูปแบบเดิม คือ ระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้วให้ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น หาก ส.ส.มีความสุจริต เที่ยงธรรม ก็จะมีส่วนทำให้ได้นายกรัฐมนตรีที่ดี แต่ถ้าหากว่า ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งนั้น มาจากการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ก็จะมีปัญหาตามมาว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาดูแลและคอยอุปถัมภ์ตัวส.ส. ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียงเข้ามา และถ้าหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด ก็จะเข้าครอบงำทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะไม่เป็นผล เพราะอภิปรายเมื่อใดก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งเหิมเกริมในการทุจริต คอร์รัปชัน ส่งผลให้เป็นปัญหารุนแรงของประเทศ ไม่มีทางแก้ไขได้

นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่า แนวคิดในการเลือกครม.โดยตรง น่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะ ครม.ก็จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพา ส.ส. หรือยืมมือทำให้ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป และการเลือกครม.โดยตรง ก็จะทำให้ประชาชนได้รู้ว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและครม. มีประวัติมีผลงานน่าเชื่อถือเพียงใด รู้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เลือกเข้ามาทำงาน ถ้าไม่พอใจ ก็ไม่ต้องเลือกเข้ามาทำหน้าที่ หากปล่อยให้นายกรัฐมนตรี มาเลือก ครม.ภายหลัง บางครั้งตัวนายกรัฐมนตรี ก็อาจไปเลือกนายทุน ผู้อิทธิพล เจ้าของบ่อน เข้ามาเป็นครม. เพื่อเป็นการตอบแทนกันก็ได้ ดังนั้น การที่ประชาชนได้รู้ประวัติ และนโยบายของครม. ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ทาง กมธ.ปฏิรูปการเมือง ก็จะมีการประชุมเพื่อลงมติรับรองข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาแนวทางปฏิรูปการเมืองในประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี และครม. โดยตรง รวมถึงการเลือกส.ส.ให้มี ส.ส. 350 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีเฉพาะแบบแบ่งเขต กำหนดให้เลือกได้ไม่เกินเขตละ 3 คน ในชั้นของคณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดแล้ว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของกมธ. เห็นด้วยกับการเลือกนายกฯ และครม. รวมถึงการให้มี ส.ส.เฉพาะระบบเขตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีกมธ. 3-4 คน ที่ขอสงวนความเห็น ไปพูดในที่ประชุมสปช. ทั้งนี้ ในวันนี้ (8 ธ.ค.) กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณาประเด็นทั้งหมดเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอต่อ คณะกมธ.วิสามัญติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปตย์ แสดงความเห็นถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี และครม. โดยตรงว่า ต้องถามประชาชนว่า เห็นอย่างไรกับข้อเสนอนี้ ซึ่งข้อดีของมุมนี้คือ ประชาชนจะได้รู้ตัวนายกฯ และรัฐมนตรีล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นพรรคการเมือง จะยัดเยียดคนยี้ มาเป็นรัฐมนตรี เช่น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล จะมีคนนี้มาเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยที่ผู้บริหารพรรคไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้

ส่วนข้อเสียนั้น ยังไม่เห็น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะปฏิรูปการเมืองไทย ส่วนการให้มีจำนวนส.ส. 350 คน ว่า ตนเห็นว่าจำนนวน ส.ส. 1 คนต่อประชาชนกร 2 แสนคน ก็ดูแลประชาชนได้ และการที่ได้เขตใหญ่ เขตละ 3 คนนั้น ตนเห็นด้วย เพราะจะได้ส.ส.ที่มีคุณภาพ ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น

** เลือกนายกฯตรงเหมือนเลือก ปธน.

ส่วนความเห็นฝ่ายอดีตนักการเมือง อาทิ นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ให้เลือกนายกฯ และครม. โดยตรงว่า การเลือกนายกฯโดยตรง ลักษณะเหมือนเลือกประธานาธิบดี แล้วประธานาธิบดี ก็มาแต่งตั้งครม. และข้าราชการ ทั้งหมด แต่เราเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะมีประธานธิบดีขึ้นมาคียงคู่ไม่ได้ ซึ่งประเทศที่มีประธานาธิบดี เขาไม่มีพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ถือเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้บ้านเมืองผิดแปลกหมด ขณะนี้ระบบประชาธิป ไตยอำนาจของประชาชนแทบจะหมดไปแล้ว ยังจะมาลิดรอนอำนาจประชาชน เหมือนระบบอำมาตย์

" ตอนนี้พยายามลดอำนาจของประชาชน ด้วยการลดจำนวน ส.ส.เหลือ 350 คน ซึ่งการลดจำนวน ส.ส.ก็คือการลดอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนแทบจะไม่เหลือที่ยืน และผู้แทนก็ไม่มีความหมาย นายกรัฐมนตรี ที่มาในระบอบประชาธิปไตย คือ มาตามระบอบ ที่ถูกเลือกโดยผู้แทนของประชาชนในสภา เขาจะสำนึกในบุญคุณของประชาชน จะเห็นประชาชนเป็นนาย แต่ถ้ามาจากระบบอื่น เขาจะรู้สึกว่าเป็นนายประชาชน ประชาชนเป็นหนี้บุญคุณเขา" นายพิเชษฐ กล่าว

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการเมืองไทย ไม่ได้อยู่ที่ออกแบบการเลือกตั้งแบบไหน ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาหัวใจหลัก เรื่องการทุจริต ซื้อขายเสียงไม่ได้ ออกแบบไหนก็เป็นปัญหาเหมือนเดิม ดังนั้น อย่าเพลินเรื่องรูปแบบจนลืมเนื้อหา ว่าเราต้องการระบบที่คัดสรร กลั่นกรอง คนดีให้มาปกครองบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นหลักใหญ่ ส่วนรูปแบบการเลือกตั้งทั่วโลก มีพัฒนาการของตนเอง ระบบควบรวมอำนาจ ที่ระบบรัฐสภาไทยใช้อยู่นี้ มันก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันอยู่หลายประเทศ เพียงแต่ของไทยปัญหาใหญ่คือการซื้อเสียงเลือกตั้ง พอได้เป็นรัฐบาล เอาอำนาจไปทุจริตคดโกง ดังนั้นจึงอยู่ที่เนื้ออหาออกแบบแล้วต้องตอบด้วยว่าวิธีการนี้จะจัดการคนทุจรติซื้อเสียงได้อย่างไร ถ้าตอบได้ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ยอมรับได้

"ส่วนการลดจำนวนส.ส.ลง ผมเห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่ามี ส.ส.ทำงานจริงเพียงไม่กี่คน ก็ควรลดจำนวนและจะมีประสิทธิภาพ ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ ทางกลุ่มกปปส. ก็เสนอให้ยกเลิก เพราะเดิมรัฐธรรมนูญปี 50 ให้มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะต้องการรองรับนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ ที่ไม่สามารถไปลงเลือกตั้งแบบเขตได้ แต่สุดท้ายกลายเป็นที่อยู่ของกลุ่มนายทุนพรรคการเมือง นักเลงหัวหมอ นักการเมืองหัวไม้ เจ้าพ่ออาบอบนวด ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกรูปแบบไหน จะเยอรมัน หรือฝรั่งเศส ต้องตอบคำถามเรื่องป้องกันการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ให้ได้ก่อน ส่วนรูปแบบค่อยมาว่ากัน" นายสาทิตย์ กล่าว

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณี นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง ในฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ออกมาเปิดเผยถึงความเห็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยตรงว่า ควรเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐสภาเหมือนเดิม จะเหมาะกว่า เพราะมองว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง คงไม่เหมาะกับประเทศไทยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็จะคล้ายกับรูปแบบการเลือกประธานาธิบดี ที่หลายคนมีความเป็นห่วงกังวล

**โพลหนุนเลือก "นายกฯ-ครม." ตรง

วานนี้ (7 ธ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล จากประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,253 หน่วยตัวอย่าง โดยถามถึงที่มาของนายกรัฐมนตรี พบว่า ร้อยละ 66.80 ระบุ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ร้อยละ 20.27 ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 9.10 นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 2.15 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 1.68 อื่นๆ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง จะมีที่มาอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้เข้ามาแล้วตั้งใจทำงาน สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และเป็นคนดี ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกินบ้านเมือง
เมื่อถามว่า คิดว่าที่มาของส.ส. ควรเป็นอย่างไร ร้อยละ 48.52 แบบเขตละหนึ่งคน (One Man One Vote)ร้อยละ 20.11 แบบเขตใหญ่หลายคน แต่ไม่เกิน 3 คนต่อหนึ่งเขต (ระบบพวงใหญ่) ร้อยละ 16.52 แบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ ร้อยละ 13.41 แบบบัญชีรายจังหวัด ร้อยละ 11.65 ตามกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิชาชีพ ร้อยละ 7.26 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ และ ร้อยละ 3.75 แบบบัญชีรายภาค
เมื่อถามว่า คิดว่าที่มาของคณะรัฐมนตรี ควรเป็นอย่างไร ร้อยละ 72.07 ระบุ คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ร้อยละ 24.50 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เลือกคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 2.79 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.64 อื่นๆ ได้แก่ มาจากทั้งสองรูปแบบ ให้แต่ละกระทรวงคัดเลือก สมาชิกในสภาเป็นผู้คัดเลือก มีคณะกรรมการกลางคัดเลือก

**รัฐมีหน้าที่สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและสิทธิพลเมือง ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความเป็นพลเมือง และสิทธิพลเมือง ที่ระบุว่า

"ให้ รัฐมีหน้าที่สร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รู้เท่าทันสื่อ เลือกที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ พึ่งตนเองได้ เคารพหลักความเสมอภาค เคารพความแตกต่าง มีวินัย เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพกติกา ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม และส่วนรวม ทั้งนี้รัฐจะต้องให้การศึกษาเรื่องพลเมืองด้วยการกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของ หลักสูตรในสถานศึกษาทุกระดับ ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งผู้ที่พ้นวัยศึกษาด้วย" ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหมวดว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

ทั้งนี้กลไกที่จะกำกับให้การดำเนินงานของรัฐเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้น หน่วยงานหลักที่ต้องเป็นฝ่ายปฏิบัติ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องกำหนดโครงการเพื่อดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องกำหนดหลักสูตรที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

** คนรุนใหม่เน้นขจัดคอร์รัปชัน

ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ ฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี่พบว่า กลุ่มเยาวชนให้การตอบรับโดยแสดงความคิดเห็นด้านการปฏิรูปและยก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างดี โดยกลุ่มเยาวชนส่งจดหมายผ่านตู้ ปณ.111 ปณฝ. รัฐสภา และอีเมลเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่อง การป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการเมือง และ การศึกษา โดยกจะนำมาแยกประเภทเพื่อจัดการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชน รุ่นต่อๆไป

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปโดยเยาวชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่อง การป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการเมือง และ การศึกษา โดยกรรมาธิการจะนำมาแยกประเภทเพื่อจัดการปฏิรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเยาวชน รุ่นต่อๆไป โดยอนุกรรมาธิการ เตรียมเสนอตั้งองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานภายใต้สถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้เยาวชนร่วมการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รวมถึงสร้างเครือข่ายในสถาบันการศึกษาเพื่อทำงานหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ทางอนุกรรมาธิการเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นเยาวชน 10 จุด ทั่วประเทศในเร็วๆนี้ โดยแบ่งออกเป็นภาค ซึ่งภาคเหนือ ที่จ.เชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่าง ที่ จ.พิษณุโลก ภาคอีสาน ที่จ.ขอนแก่น และแจ้งให้ทราบอีกครั้งในส่วนของภาคอื่น โดยในแต่ละเวทีรับฟังความคิดเห็นจะใช้เยาวชนตั้งแต่มัธยมศึกษา ที่ 1-6 จำนวน 60 คน แบ่งเป็นชาย 30 หญิง 30 คน เพื่อความเสมอภาคในการแสดงความเห็น ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือไปกระทรวงศึกษาธิการ ประสานไปยังสถานศึกษาต่างๆ รวบรวมความเห็นของนักเรียนแล้วส่งกลับมาคณะกรรมาธิการอีกด้วย

** ต้องรอดูภาพรวม รธน.ทั้งฉบับ

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่าข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่เสนอให้เลือกตั้งนายกฯ และ ครม.โดยตรงจากประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และมีความละเอียดอ่อนมากต่อการเมืองไทย

โดยส่วนตัวมองว่า ข้อเสนอนี้มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แต่จะเหมาะสมกับบริบทการเมืองไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน จริงๆ เราก็เคยมีบทเรียนตอนรัฐธรรมนูญ 2540 เราได้ฝ่ายบริหารที่แข็งแกร่ง แต่กลับพบว่ากลไกอิสระถ่วงดุลอ่อนแอ ล้มเหลวถูกครอบงำเบ็ดเสร็จ เช่นกัน

ที่สำคัญคือสภาวะการเมืองไทยเป็นการเมืองแบบผูกขาด โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง และยังมีกลไกราชการ ที่ยังรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเครื่องมือในการบริหารอำนาจ หากให้นายกฯ และ ครม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ยิ่งจะเพิ่มระดับการผูกขาดทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ ต้องดูในภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นควบคู่กันไป เช่น ระบบเลือกตั้งจะป้องกันการทุจริตได้อย่างไร ต้องดูกลไกตรวจสอบถอดถอน และดูสิทธิอำนาจของประชาชนด้วยว่า จะเพิ่มขึ้นจนมีพลังกำกับและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของฝ่ายบริหารได้ขนาดไหน

บทเรียนอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เราพยายามแก้ปัญหาทุจริตเลือกตั้งกันมาสารพัดวิธี เปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปกลับมากี่แบบก็ตาม แต่กลับพบว่าการทุจริตการเลือกตั้งไม่ได้ลดลงเลย ไม่ว่าจะเป็นแบบเขตเล็กหรือใหญ่

"ผมเป็นห่วงว่าในขณะนี้ เรามองรัฐธรรมนูญและออกแบบการเมืองกันเป็นจุดๆ เป็นรายประเด็นมากเกินไป ซึ่งแก้จุดนี้อาจเกิดปัญหาที่จุดอื่นตามมา ฉะนั้นอยากให้มองรัฐธรรมนูญในภาพรวมทั้งฉบับ" นายสุริยะใส กล่าว

**กกต.รับได้หากถูกลดวาระเหลือแค่ 5 ปี

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอ ลดวาระการดำรงตำแหน่งของ กกต.จาก 7 ปีเหลือ 5 ปี ว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ตกผลึก ถ้าลดจริง ก็รับได้ เพราะเราทำงานเป็นเทอม ก็เชื่อว่าถ้าชุดเก่าไป ชุดใหม่มา ก็สามารถทำงานได้ทันทีไม่เหมือนกับคณะกรรมการป.ป.ช. ที่ต้องทำงานต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม คงสุดแล้วแต่ สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ และการออกแบบก็ต้องดีขึ้น เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน จึงไม่อยากจะไปวิพากษ์วิจารณ์ จะกลายเป็นเตะถ่วง เดี๋ยวจะไม่สำเร็จ จะหาว่าเราเห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง และหากอนุกรรมาธิการฯ อยากออกแบบให้เป็นแบบไหน ก็ถามผู้ปฏิบัติด้วยก็ได้

ส่วนข้อเสนอจะนำระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน รวมทั้งข้อเสนอให้เลือกนายกฯ และครม.โดยตรง ก็มีคำถามว่า วัฒนธรรมไทย จะเหมาะกับประเทศต้นแบบต่างๆ หรือไม่ เราลองผิดลองถูกมา 80 กว่าปีแล้ว ดังนั้นจะใช้แบบเยอรมัน หรือออสเตรเลีย หรืออะไรก็ควรเลือกให้เหมาะสม เมื่อออกแบบมาอย่างไรในหน้าที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งก็ต้องทำตามได้หมด.
กำลังโหลดความคิดเห็น