xs
xsm
sm
md
lg

“อมร” ห่วงแก้ รธน.เสี่ยง สปช.เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองคว่ำร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานอนุ กมธ.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ยันไม่เสียขวัญหลังแก้ รธน. ทำ สปช.อยู่ทำงานแค่ 3 เดือน เชื่อ คสช.เขย่าขวด สปช.เพราะมีอายุมาก ผลงานยังบกพร่อง อภิปรายดรามาเยอะ บางคนแค่ขอออกทีวี บางส่วนสายตรงฟ้องผู้ใหญ่ ห่วงแก้ รธน.เสี่ยง สปช.คว่ำร่าง รธน. หากเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมด้วยนายวรรณชัย บุญบำรุง สปช. และนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล อนุ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวถึงการดำเนินการปฏิรูปที่ผ่านมา นายอมรกล่าวว่า คณะอนุ กมธ.ได้พิจารณาศึกษาและยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมติดตามและเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย พ.ศ. ... เพื่อปฏิรูปการใช้บังคับใช้กฎหมายในภาพรวมของประเทศ เป็นการแก้ปัญหาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ โดยบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล เห็นความสำคัญของกฎหมายนี้ ตนเชื่อว่าแม้ สปช.จะหมดอายุไป แต่คณะอนุ กมธ.ของตนจะได้เข้ามาทำงานนี้ต่อแน่นอน

นอกจากนั้นแล้วยังมีการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง โดยการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องกล่าว รวมทั้งเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนการเสริมาตรการทางภาษีให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ตามมาตรา 247 ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนในการตรวจสอบช่วงต้นของกระบวนการเพื่อคัดกรองบุคคลผู้ประสงค์เข้าสู่กระบวนการใช้อำนาจรัฐ

นายอมรกล่าวอีกว่า สปช.ไม่เสียขวัญที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทำให้ สปช.เหลือเวลาในการทำงานเพียง 3 เดือน ซึ่งทราบว่าสาเหตุที่ต้องมีการเขย่าขวด สปช. เนื่องจาก สปช.ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี ถือว่าสภาพร่างกายมีปัญหา และบางบุคคลเป็นข้าราชการประจำมีภารกิจมากจนไม่มีเวลาประชุม เท่าที่ทราบสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ กำหนดอายุขั้นต่ำ 35 ปี ชัดเจนว่าเขาอยากได้คนที่มีกำลังวังชาเข้ามาทำงาน

“แม้ สปช.ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ แต่ผลงานยังมีข้อบกพร่อง เพราะการอภิปรายในสภามีดราม่าเยอะ เหมือนสภาการเมือง โดยเฉพาะการพูดถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองไม่ต่างจาก ส.ส. บางคนพูดแต่เรื่องธุรกิจของตนเอง หรือบางคนไม่ได้พูดอะไรเลยแต่ชอบย้ายที่นั่งเพื่อได้ออกทีวี สปช. บางคนต่อสายตรงถึงผู้ใหญ่ให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในการทำงานของ สปช. คนเหล่านี้คอยกระซับให้เห็นว่าใครมาทำงานอย่างสม่ำเสมอหรือเซ็นชื่ออย่างเดียวแล้วออกไป ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาในการคัดเลือกสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ต่อไป”

นายอมรกล่าวว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้มีความเสี่ยงที่ สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า สปช.นึกผลประโยชน์ส่วนตัวก็มีแนวโน้มว่าจะร่อแร่ แต่ถ้านึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศก็อยากให้เดินหน้าต่อไป เพราะ สปช.ส่วนใหญ่มีแต่น้ำดีแถวหนึ่งของประเทศ คงไม่มีใครอยากให้เกิดปรากฎการณ์ใช้คนแถวสอง-แถวสามเหมือนในอดีตมาทำงาน

ทั้งนี้ แม้ตนจะขอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 7 แต่หากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่แก้ไขให้ก็ไม่ติดใจ ยังคงโหวตให้ผ่าน แต่ตนไม่แน่ใจกับกลุ่มอื่นที่เสนอแก้ไขเป็นร้อยมาตรา ว่าหากคณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ยอมแก้ไขให้จะโหวตอย่างไร อย่างไรก็ตาม แม้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช. เราก็จะได้เลือกตั้งตามโรดแมพ ซึ่งก่อนการเลือกตั้งรัฐบาลก็จะต้องบริหารประเทศนานเกือบ 2 ปี อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านในชั้น สปช. รัฐบาลก็จะมีข้ออ้างในการอยู่ต่ออยู่แล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น