รองนายกฯ แจง แม่น้ำ 3 สายนัดถก รธน.ชั่วคราว 3 วาระรวด ไม่ได้รวบรัดจบวันเดียว ย้อนอดีตก็เคยทำ รับเป็นไปได้เปิดทางแก๊งบ้าน 111-109 นั่งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ชี้ส่งสัญญาณไม่มีอคติ แจงเขียนถวายสัตย์ฯ ตัดปัญหาไม่ต้องรอ รธน.ใหม่ ยันถามประชามติปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้ แต่ต้องผ่าน สปช.-ครม.ก่อน โต้ 2 พรรคใหญ่กุข่าวคว่ำร่าง ปัดมีใบสั่ง ย้อนทำจริงไม่ต้องลงทุนขนาดนี้
วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนดประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... ในวันที่ 18 มิ.ย. 3 วาระรวด โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมประชุมด้วยว่า ตนจะไปในฐานะตัวแทน ครม.เนื่องจาก ครม.และคสช.เป็นผู้เสนอร่างฯ เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผล และปล่อยให้สมาชิก สนช.อภิปราย จากนั้น สนช.จะมีการลงมติ แต่หากมีข้อเสนอให้แก้ไข ตามมาตรา 46 กำหนดว่า การพิจารณาของ สนช.จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ เว้นแต่ ครม.และ คสช.เห็นชอบด้วย แต่ถ้าไม่แน่ใจ ครม.และ คสช.จะปรึกษากันอีกที และการพิจารณาแบบ 3 วาระรวด ไม่ได้เป็นรวบรัดในวันเดียว เพราะในอดีตวุฒิสภาเคยทำมาแล้วในอดีตเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองสามารถเป็นสมาชิกสภาต่างๆ และรัฐมนตรีได้ จะมีโอกาสที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจแต่งตั้ง แต่เมื่อเปิดทางไว้อย่างนี้ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อก่อนมันปิดทาง แต่มาคิดกันภายหลังว่าการปิดไว้อย่างนั้นจะเหมือนมีอคติ หากเปิดไว้แล้วจะตั้งหรือไม่ตั้งยังพอได้
เมื่อถามว่า หากนำเข้ามานั่งในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะทำให้เกิดการปรองดองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีส่วน แต่บางคนอาจไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร ตั้งให้เป็นเขาอาจจะไม่เป็นก็ได้ แต่เมื่อเปิดทางไว้แล้วเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าไม่มีอคติ ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้าน ไม่เหมือน 6-8 เดือนก่อนที่ยังรู้สึกว่ามองหน้ากันไม่สนิทอยู่ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายคนมีบทบาทสร้างสรรค์ หลายคนที่สื่อเกิดความรู้สึกว่าเป็นฝักเป็นฝ่ายเขาก็เคยส่งข้อเสนอแนะอะไรดีๆ มา
เมื่อถามว่า หากมีการปรับ ครม.หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จจะเป็นการเอื้อให้กันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทุกเรื่องมีสิทธิใช้ได้ทั้งนั้น เริ่มต้นที่ใช้ระดับแรกคือ การขยายเวลา กมธ.ยกร่างฯ ส่วนอันอื่นยังไม่รู้ อาจจะเห็นในเวลาที่ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ อาจจะเห็นคนหน้าแปลกๆ เข้ามาก็ได้ ซึ่งเมื่อก่อนคนเหล่านี้เข้ามาไม่ได้
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตน สาเหตุที่ต้องเขียนเอาไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้ เพราะ กมธ.ยกร่างฯ ได้เขียนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เราจึงมาเขียนฉบับแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า กว่าจะมีผู้แทนพระองค์ไปรับการถวายสัตย์ปฏิญาณได้ต้องรอให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนซึ่งไม่รู้ว่าเดือนไหน แล้วในระหว่างนี้จะทำอย่างไรควรจะใช้ในหลักเดียวกัน
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับคำถามอื่นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอให้ถามในการทำประชามติด้วยนั้น สามารถส่งมาคำถามได้ก่อนลงวันลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือหลังจากลงมติเสร็จแล้วก็ประชุมต่อเนื่องเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันในวันเดียวกันได้ ส่วนคำถามที่ให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง 2 ปีนั้นถามได้ แต่ต้องโหวตกันและเอาชนะกันให้ได้ในที่ประชุม สปช. ก่อน และต้องรอดูว่า ครม.จะว่าอย่างไร เป็นการโยนเผือกร้อนมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การเขียนให้สามารถทำประชามติด้านๆ ต่างได้ไม่ได้เป็นการเขียนไว้เพื่อใช้ทำประชามติสอบถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ม.ค. 59 เท่านั้น เพราะสมมุติว่าเกิดทำประชามติแล้วไม่ผ่าน พอไปร่างใหม่ใช้เวลา 6 เดือน ต้องไปทำประชามติอีกหนตอนปลายปี จะได้สามารถจะเอาเรื่องตั้งคำถามเพิ่มเติมมาใช้ในวันนั้นอีกได้ เผื่อวันนั้นประชาชนชาวไทยนึกคำถามออก สังคมอาจจะเรียกร้องให้ช่วยถาม ดังนั้น เป็นการเผื่อเอาไว้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะไปถามอีกไม่ได้ อย่าไปคิดว่าจะเกิดเรื่องอะไรให้ถามอะไรได้ในตอนนี้
เมื่อถามถึงกรณี 2 พรรคการเมืองใหญ่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ไปคาดคะเนอย่างนั้นไม่ได้ เพราะต้องรอดูว่า กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้อย่างไร หากออกมาดูดีไม่รู้จะไปคว่ำทำไม ให้ลองฟังก่อนว่าเขาปรับแก้อย่างไร และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งจาก ครม.และคสช.ให้คว่ำร่าง มีแต่ไปสันนิษฐานกันเองหมด เรื่องนี้ไม่จริง ถ้าจะต้องคว่ำมีวิธีทำอย่างอื่นตั้งเยอะแยะ ไม่ต้องลงทุนถึงขนาดนี้