xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่ชัดอยู่ต่อ2ปี ลดความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กป้อม" สั่งล่ามือโพสต์ปั่นกระแสปฏิวัติซ้อน ยันสถานการณ์เรียบร้อยดี ไม่มีใครคิดทำ "วิษณุ" ตบปากสมาชิก สปช. ปลุกกระแสคว่ำร่าง รธน. ทั้งที่ยังไม่เห็นร่างฯสุดท้าย ไม่เชื่อว่าจะชักจูงได้ ขู่พวกจ้องขวางประชามติ เจอ ม. 44 แน่ "บิ๊กตู่" เปิดใจกับสำนักข่าวอัลจาซีร่า ย้ำทำรัฐประหาร ตัดสินใจคนเดียว ระบุขอทำหน้าที่ไม่เกิน 2 ปี ยันประชาชนมีความสุขหลัง คสช.เข้ามา ไม่มีเหตุประท้วง ลั่นขอปฏิรูปประเทศ วางพื้นฐาน ไม่ให้รัฐบาลใหม่ทำเหมือนที่ผ่านๆ มา ด้าน สปช.ประชุมลับ ระบายความในใจหลังรู้ว่าจะถูกโละทิ้งก่อนกำหนด ลดวาระปฏิรูปประเทศเหลือ 5 ประเด็นหลัก พร้อมวิเคราะห์ รธน.ถูกคว่ำ เปิดทางรัฐบาลทำงานต่อ 2 ปี

เมื่อวานนี้ (15มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเซ็นคำสั่งให้นายทหารออกจากราชการ เนื่องจากครบเกษียณอายุราชการเร็วกว่าที่ผ่านมาว่า ไม่มี เป็นเรื่องปกติ เป็นการงานรูทีน ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย ยังไม่ถึงเวลา ประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย. ยังมีเวลา

เมื่อถามว่า รายชื่อแคนดิเดต ผบ.ทบ. ระหว่าง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา กับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ. มีใครในใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี และตนตอบไปหลายทีแล้ว เมื่อถามถึงกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี ใครจะปฏิวัติ บอกมาสิ ไม่มีทหารคนไหนหรอก เวลานี้มันเงียบสงบดี ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีเหตุ เขาไม่มีทำอะไรหรอก ยุติได้แล้ว เลิกพูดเถอะ คนที่เขียนลงในโซเชียลมีเดีย ตนกำลังตามอยู่ ให้ตามอยู่ 4-5 สาย เอาโซเชียลมาดู เดี๋ยวจับได้จะเอาตัวมา ไม่รู้ว่าเขียนมาทำไม ระวังเถอะจับได้มีเรื่องกันแน่นอน

เมื่อถามว่าแสดงว่า ยังมีคนยุแยงกองทัพให้แตกกัน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คนสองคน เวลานี้สถานการณ์ปกติดีทุกอย่าง รัฐบาลก็ทำงานดี ไม่มีอะไร เรียบร้อยดี
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึง กรณี สปช.บางคนออกมาแสดงความคิดเห็นจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นไร เขามีสิทธิจะคว่ำ หรือไม่คว่ำ ถ้ารัฐธรรมนูญดี เขาคงจะผ่านเอง ถ้ายังไม่ดี ก็คงยังไม่ให้ผ่านเท่านั้นเอง ถึงบอกว่าเขามีสิทธิทำทุกอย่างตามที่ตัวเองคิด คิดอย่างไรก็เอาตามนั้น ไม่มีใครชี้นำ

ไม่มีปฏิวัติซ้อนล้านเปอร์เซ็นต์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อนว่า ไม่มีล้านเปอร์เซ็น เพราะตนคิดว่าห้วงเวลาขณะนี้ไม่ใช่วาระที่จะมาพูดกัน ประเทศไทยไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ว่าใครอยากทำก็ทำได้ บอกได้เลยว่า เมื่อถึงเวลาที่มันทำได้ ก็จะรู้เอง นั่นหมายความว่า สถานการณ์มันไปไม่ได้ คนเขารู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครอยากทำก็ทำ หรือคิดว่าอยากมี ก็มี ตนตอบได้เลยว่า มันไม่ใช่ ที่บอกว่าไม่มีเพราะ ทหารดี รวมกลุ่มเข้มแข็ง แต่ตราบใดที่คนเห็นว่ารัฐบาลทำงานตอบสนองได้ ไม่โกง ไม่ลุแก่อำนาจ ยังบริหารงานได้ แต่ย้ำว่า แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีรัฐธรรมนูญ เขาก็บอกว่าต้องออก

อย่างไรก็ตาม อายุของรัฐบาลเวลานี้ นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันตามโรดแมป แต่โรดแมปของเดิมไม่มีประชามติ เมื่อมีเรื่องประชามติที่เข้ามา เวลาก็จะยื่นออกไปตามขั้นตอนการทำประชามติเท่านั้น ส่วนเรื่องการปรับครม. เวลานี้ส่วนตัวไม่ทราบ แต่เท่าที่ทำงานคือ รัฐบาลยังสามารถทำงานได้

"วิษณุ" ติงสปช.ปลุกคว่ำร่างรธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง สมาชิกสปช. บางคน ออกมาพูดในลักษณะต้องการให้มีการคว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องของสปช. แต่ละคน แต่สิ่งที่ถูกต้องมันไม่ควรจะเกิดการรณรงค์ใดๆในเวลานี้ ว่าให้ผ่าน หรือให้คว่ำ เพราะอยู่ระหว่างที่กมธ.ยกร่างฯ กำลังปรับแก้ ซึ่งเมื่อถึงระยะหนึ่งจะรู้ว่าจะมีการปรับแก้หรือไม่ ในเมื่อยังไม่เห็นหน้าตา จะรณรงค์ไปทำไม

ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการวิป สนช. ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะตัดเสื้อใหม่มากกว่ามาปรับแก้นั้น ก็แล้วแต่เขา เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่คิดว่าจะสามารถทำให้สมาชิกสปช. 250 คน คิดอย่างนั้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลคุมเสียง สปช.ได้ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คุมไม่ได้ ถ้าคุมได้คงไม่เป็นอย่างนี้ และเราไม่อยากเข้าไปคุมด้วย เมื่อถามว่า ประเมินการทำงานของ สปช. เป็นอย่างไร เพราะถูกมองว่ายังทำงานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นายวิษณุ กล่าวว่า สปช. เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่จะต้องส่งงานต่อให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ดังนั้น การวางกรอบปฏิรูป จะไปคิดอะไรกว้างๆไม่ได้แล้ว อะไรที่เร่งด่วน และนายกฯได้พูดในสภา ช่วยเอาสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไปดู อะไรที่ทำต่อได้ให้ทำต่อ อย่าไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และอะไรที่จะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น ช่วยคิดทำด้วย อย่างเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างราชการ ให้รัฐบาลหน้าไปทำ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะมาถึงวันนี้ปฏิรูปจนเหลือ 20 กระทรวง ถือว่ามีฐานการทำงานแล้ว เพียงแต่ว่าไปดูในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการประชาชน

สำหรับการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป นายวิษณู กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องตั้งทีเดียว 200 คน นายกฯ ทยอยตั้งทีละชุดก็ได้ แต่นายกฯ จะคัดเลือกอย่างไร ตนไม่ทราบ ต้องคอยดูอีกสักระยะ คงมีการประกาศหลักเกณฑ์ที่จะหาตัวคนมาเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูป โดยส่วนหนึ่งเอามาจาก สปช. และอีกส่วนหนึ่งเอามาจากคนนอก โดยสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ก็มีโอกาส เพราะเป็นความตั้งใจของรัฐบาล ถึงได้มีการปลดล็อกเอาไว้ ไม่ใช่เป็นการปลดล็อกเพื่อตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิก คสช. มาแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี อย่างที่เสนอข่าวกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องตั้งคนที่มีแนวทางสอดคล้องกับรัฐบาล แต่ต้องการคนที่มีความคิดในการปฏิรูป โดยเฉพาะคนที่เป็น สปช.อยู่แล้ว ก็จะเห็นการทำงาน และแนวคิดในการปฏิรูป ว่ามีความเข้าใจการปฏิรูปหรือไม่ ส่วนคนนอกจะพิจารณาจากการแสดงความคิดเห็นทางสังคมถึงการปฏิรูป ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางเดียวกันในการปฏิรูป แต่ความเห็นที่แตกต่างสามารถเอาไปทำในรัฐบาลหน้าได้ ซึ่งเมื่อมีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแล้ว คงจะต้องมีการตั้งวิปสภาขับเคลื่อนปฏิรูปขึ้นมา เพื่อประสานงานกับรัฐบาล

งัด ม. 44 ขู่พวกจ้องขวางประชามติ

ส่วนที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ แม้จะเขียนเรื่องความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งรับฟัง โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่พูดแบบนี้เยอะ หลายท่านพูดน่าฟัง แต่ถ้าไปเอาความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่ง เดี๋ยวจะมีความคิดเห็นของผู้ใหญ่คนอื่นโผล่มาอีก แต่พร้อมรับฟังผู้ใหญ่ทั้งหมด และอะไรที่เป็นประโยชน์จะหยิบมาใช้

อย่างไรก็ตาม ยืนยันสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ได้วกวน แต่เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน เราต้องคิดเผื่อไว้สำหรับหลายสถานการณ์ ถ้าไม่สมมุติอะไรก็เขียนง่ายๆได้ แต่ต้องคิดด้วยว่า ระหว่างทางหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะทำอย่างไร สปช.ไม่ให้ผ่าน จะทำอย่างไร หรือแม้แต่ กมธ.ยกร่างฯ น้อยใจคิดลาออก แล้วจะทำอย่างไร ต้องใส่หมดทุกทาง อ่านแล้วอาจจะดูวกวน แต่เป็นการเขียนร่างรัฐธรรมนูญในฉบับเดียวที่เผื่อไว้ 10 สถานการณ์ แต่ความจริงมันคงไม่เกิดพร้อมกัน 10 สถานการณ์

เมื่อถามว่า หากทุกอย่างไม่ลงล็อกตามแผนที่วางไว้ มีทางออกอย่างอื่นด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะบอก รอให้เกิดปัญหาก่อน เพราะถ้าบอกไปก่อน เขารู้ไต๋หมด ถ้ามันไม่เรียบร้อย ก็มีวิธีอื่นมาแก้ มีสารพัดวิธี บางเรื่องไม่ได้เดือดร้อนกับถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเป็นห่วงว่าอาจเกิดการขัดขวางจนไม่สามารถลงประชามติได้ ก็อย่าลืมว่ารัฐบาลยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่

ตัดสินใจทำรัฐประหารคนเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณณ์ สำนักข่าวอัลจาซีร่า และมีการเผยแพร่ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำรัฐประหารนั้นเป็นการตัดสินใจของตนคนเดียวไม่มีอำนาจไหนมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น สำหรับเรื่องภายใน และต่างประเทศ ตนก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจต่อไปว่า ตนเข้ามานั้นทำอะไรบ้าง และไปทำอะไรที่เสียหายหรือไม่ เพราะสังคมโลกดูตนอยู่ทุกเรื่อง และยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป วันนี้รัฐบาลทำงานมาครบ 1 ปีแล้ว หลังจากที่ คสช. เข้ามาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนใน 5 เดือนแรก เช่น ความรุนแรง อาวุธสงครามที่ยังมีอยู่ การทุจริตผิดกฎหมาย การจัดระเบียบสังคม ชายหาด การค้าขาย ซึ่งทำไปได้พอสมควร

เชื่อประชาชนมีความสุขมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากถามว่าประชาชนมีความสุขหรือไม่ จากที่ได้พบปะ และสอบถาม และกระแสตอบรับในการลงพื้นที่รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เขามีความสุขขึ้น เพียงแต่ความสุขกับความทุกข์มาคู่กัน ที่เขามีความสุขมาก คือประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีการใช้อาวุธสงครามไล่ยิงกัน วางระเบิดใส่กัน และไม่ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงยาวนาน ส่วนตัวนั้นมีความสุขเพราะประชาชนมีความสุข แต่ก็ไม่เท่ากันทั้งหมด เพราะมีส่วนได้และส่วนเสีย คนที่เสียประโยชน์ก็ไม่ค่อยพอใจ แต่ตนเลือกว่าใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน โดยตนต้องการทำให้ประชานที่มีรายได้น้อยมีความสุขมากขึ้น และประเทศมีความมั่นคง เดินไปสู่อนาคตข้างหน้า ตนมีความสุขตรงนั้น แต่ไม่ใช่มีความสุขจากการอยู่ในอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนนำมาเป็นแบบอย่าง ในการบริหารประเทศคือ พระมหากษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำอะไรมามากมาย ทั้งเรื่องการพัฒนา แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ในวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย แต่เหมาะกับโลกที่มีความขัดแย้งสูง ตนไม่ได้หมายว่าจะบังคับให้ใครใช้แนวทางนี้ เพียงแต่ว่ามันมีประโยชน์

ขอเวลา 2 ปี แก้ปัญหาความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้คิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เพียงแต่สถานการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นไม่มีใครที่จะทำได้ นอกจากตนคนเดียว เพราะเป็นสถานการณ์ที่ติดขัดด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้ง ที่รัฐบาลที่แล้ว แก้ไขไม่ได้ รวมทั้งงบประมาณที่เดินต่อไม่ได้ เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่มีอำนาจเต็ม โดยมีเพียงกฎอัยการศึกที่ใช้ได้ แต่ตนเป็นผู้ประกาศใช้ได้คนเดียว ยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับคนเสื้อแดง และเสื้อเหลือง ซึ่งคิดว่าถ้าไม่ให้เกิดความขัดแย้งนั้น ทำอย่างไรประชาชนถึงจะไม่ขัดแย้งกันก่อน ต้องไม่มีสี ตนทำหน้าที่ตรงนี้ไม่เกิน 2 ปี และต่อไปแกนนำทุกฝ่ายต้องเดินหน้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยที่ผ่านมาได้รับการประกันตัวกันออกมา ถ้าผิดศาลก็ตัดสินว่าผิด ไม่ได้ไปรังแก และวันนี้ ที่ติดคุกกันอยู่นั้น มีคนเสื้อแดงบอกว่า ไม่รับความเป็นธรรม ตนบอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แม้เหตุที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วงสถานการณ์การเมือง แต่ใครเอาคนเหล่านี้มาเผาศาลากลาง ใครเอาคนเหล่านี้มาใช้อาวุธ ยิงทหาร ยิงเจ้าหน้าที่ ยิงสถานที่ราชการ เขารับกันหรือเปล่า ซึ่งหลักฐานมีอยู่ชัดเจน วันนี้อย่าไปพูดว่า ตนกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แนวทางการสร้างความปรองดอง ตนได้เรียกทุกกลุ่มทุกสี เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนบอกว่า สามารถปรองดองกันได้ แต่อีกแง่หนึ่งกลับบอกว่าการเมืองไม่สามารถปรองดองได้ เพราะทุกคนต้องการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งวันนี้การปฏิบัติของรัฐ ก็ได้เตือนทุกฝ่าย ในการแสดงบทบาท ทางการเมืองที่เกินเลย เป็นการพูดคุยเพื่อให้ทราบและทำความเข้าใจ ว่าตนเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา และหากต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนก็จะดูแลให้ โดยที่ผ่านมาหลายกลุ่มได้ใช้โซเชียล มีเดีย ในการโจมตีรัฐบาล

วางพื้นฐานให้รัฐบาลใหม่สานต่อ

"หลังจากสิ้นสุดรัฐบาลนี้ สิ่งที่จะทำคือ นั่งดูรัฐบาลใหม่เขาทำงาน ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจจะล้มสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็ได้ ถ้าคิดว่าดีกว่า แต่ถ้ามันไม่ดีกว่า ประชาชนเขาก็ไม่ยอม วันนี้สิ่งที่ทำนอกจากการเสี่ยงเข้ามาแล้ว ยังต้องวางอนาคตให้กับประเทศด้วย วันนี้ผมยังไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองมีอำนาจ เพราะอำนาจของผมใช้ในทางสร้างสรรค์ ตื่นมายังนึกอยู่เลยว่าเป็นนายกฯ หรือเปล่า เวลาใครเรียก นายกฯ ผมไม่ค่อยชอบ เพราะไม่ต้องการเป็นนักการเมือง แต่เข้ามาเพราะความจำเป็น"

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่อำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 57 ตนทำงานหนักเพื่อเตรียมตัวเองว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศชาติติดขัดเป็นระยะเวลานาน โดยก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นหัวหน้า คสช. และเมื่อไม่มีใครรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตนจึงทำหน้าที่ด้วยตัวเอง การเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาท่ามกลางความขัดแย้ง ถือเป็นงานหนัก เพราะการปฏิวัติครั้งที่ผ่านๆ มา ไม่มีการแบ่งประชาชนออกเป็นสองฝ่ายอย่าเช่นทุกวันนี้ การเข้ามาครั้งนี้ตนเสี่ยงที่จะปะทะกับทั้งสองฝ่าย แต่โชคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งเขาหยุด แล้วให้ตนเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ว่า สีแดง เหลือง เขียว ตนต้องแก้ไขให้หมด ด้วยกฎหมาย และที่ผ่านมาต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมเยียนตนเป็นระยะ ซึ่งประชาคมที่ต่อต้านเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ก็มาด้วย และให้เกียรติตน ซึ่งต่างประเทศรวมถึงนักธุรกิจบอกว่ารู้สึกสบายใจ โดยบอกอีกว่าจะให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกได้หรือไม่ ตนไม่ได้โกหก แต่รับรองไม่ได้ วันนี้ตนทำได้ แต่วันหน้าหากกลุ่มต่างๆ ออกมา ตนก็ให้สัญญากับเขาไม่ได้ แต่จะทำโดยวางสิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ทั้งนี้เป็นการวางระบบโดยการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลที่จะเข้ามาต้องมีธรรมาภิบาล มีความชอบธรรม ไม่ทำอย่างที่ผ่านมาอีก จึงอยากให้ความมั่นใจในตรงนี้

สปช.ประชุมลับปมคว่ำ-หนุน รธน.

เมื่อวานนี้ มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมลับ เพื่อให้ สมาชิกสปช.ได้ระบายความในใจ หลังจากทำงานด้วยกันมา พร้อมทั้งสั่งการให้ กมธ.ปฏิรูปด้านต่างๆ 18 ด้าน เร่งสรุปผลงานให้แล้วเสร็จโดยด่วน ก่อนพ้นตำแหน่ง เพื่อวางแนวทางการปฏิรูปประเทศให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

เบื้องต้นเร่งรัดให้เสนอการออกกฎหมาย ที่มีอยู่ประมาณ 30 ฉบับ และคาดว่าระยะเวลา 2เดือนที่เหลืออยู่ จะทำให้เสร็จ อย่างน้อยที่สุดร้อยละ 50 หรือประมาณ 15 ฉบับ เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า เข้ามาทำงาน ไม่ใช่มากินเงินเดือน และสิทธิประโยชน์เดือนละหลายแสนบาท แต่ปฏิรูปล้มเหลว

พร้อมกันนี้ สปช. ยังมีการพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องส่งให้ สปช.โหวตรับ หรือไม่รับด้วย โดยสปช.ได้แสดงความเห็นโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งในกลุ่มหนุน และกลุ่มที่จะคว่ำรธน. ซึ่งกลุ่มค้านร่าง รธน. นำโดย นายวันชัย สอนศิริ สปช. ได้ลุกขึ้นอภิปรายให้ สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย และยังเสี่ยงที่จะปล่อยให้รัฐธรรมนูญไปทำประชามติ ที่คาดว่าประชาชนโหวตคว่ำแน่นอน ก็จะเสียงบประมาณอีก 3 พันล้านบาทโดยเปล่าประโยชน์

ขณะที่ฝ่ายที่หนุนร่างรธน. ก็มองว่า หาก กมธ.ยกร่างฯ ยอมแก้ตามคำขอของ สปช. 8 ด้าน และครม. ก็เชื่อว่าจะผ่านในการลงมติของสปช. และเชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมือง ก็จะเดินไปตามโรดแมป

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายที่ประชุมยังวิเคราะห์อายุของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า น่าจะบริหารต่อไปอีก 2 ปี ด้วยเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ จะไม่ผ่าน และใช้วลาที่เหลือหลังจากนี้ ในการเดินหน้าการปฏิรูปประเทศให้มากที่สุด

สรุปแผนปฏิรูปเหลือ 5 ด้าน

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ในฐานะโฆษกวิป สปช. แถลงหลังการประชุมลับ ว่า นายเทียนฉาย ได้กำชับให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญของ สปช.ทั้ง 18 คณะ ที่กำลังพิจารณาเรื่องการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จะต้องทำงานให้เสร็จภายใน วันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อให้สปช.ได้พิจารณาในช่วงเดือนก.ค. เพราะเวลาการทำงานของสปช.จะเหลือเพียงอีกประมาณ 2 เดือนเท่านั้น และ นายเทียนฉาย นัดประชุมเป็นการภายใน อีกครั้ง ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ส่วนเนื้องานทั้งหมดของกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ 36 วาระ ถือว่าเยอะเกินไป ทำให้ประชาชนไม่รับรู้รับทราบ ดังนั้น ควรกำหนดประเด็นหลักๆ ออกมา 5 ด้าน ได้แก่ 1. การปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน 2. การเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม 3. การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการแผ่นดิน 4. การปฏิรูปตำรวจ 5. การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น