xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เบรก สปช.อยู่เฉยๆ งดพล่าม รธน. แย้มเด็กดีได้นั่งสภาขับเคลื่อนฯ จวกข่าวตั้ง “สมคิด” ยุแยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรี ติง สปช. ไม่ควรรณรงค์ผ่าน หรือ คว่ำร่าง รธน. ในระหว่าง กมธ. ยกร่างฯ ปรับแก้ แนะอยู่เฉยๆ บอกข้อเสนอ “วันชัย” แล้วแต่เขา รับเสียง สปช. คุมไม่ได้ เตือนปฏิรูปคิดอะไรกว้างๆ ไม่ได้แล้ว เอาที่รัฐทำอยู่ไปดูอะไรทำได้ให้ทำต่อ เผยสภาขับเคลื่อนทยอยตั้งทีละชุดได้ แต่ไม่รู้ นายกฯ จะเลือกยังไง แบไต๋พวกเคยโดนแบนมีโอกาส เน้นคนคิดปฏิรูป โดยเฉพาะ สปช. ปัดตั้ง “สมคิด” แทน “หม่อมอุ๋ย” จวกยุแยงตะแคงรั่ว ระบุไม่ได้ทำวกวน แต่ต้องเผื่อรับมือสถานการณ์ ลั่นมีทางออกอื่นอีกแต่ยังไม่บอก


วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนออกมาพูดในลักษณะต้องการให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของ สปช. แต่ละคน แต่สิ่งที่ถูกต้องมันไม่ควรจะเกิดการรณรงค์ใดๆ ในเวลานี้ ว่า ให้ผ่านหรือให้คว่ำ เพราะอยู่ระหว่างที่ กมธ. ยกร่างฯ กำลังปรับแก้ ซึ่งเมื่อถึงระยะหนึ่งจะรู้ว่าจะมีการปรับแก้หรือไม่ ควรจะอยู่เฉยๆ เพราะในเมื่อยังไม่เห็นหน้าตาจะรณรงค์ไปทำไม ส่วนที่ นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการวิป สนช. ระบุร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะตัดเสื้อใหม่มากกว่ามาปรับแก้นั้น แล้วแต่เขา อย่าเอาความคิดเขามาถามตน แต่วันหลังช่วยเอาความคิดตนไปถามเขาด้วย ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่คิดว่าจะสามารถทำให้สมาชิก สปช. 250 คน คิดอย่างนั้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า รัฐบาลคุมเสียง สปช. ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คุมไม่ได้ ถ้าคุมได้คงไม่เป็นอย่างนี้ และเราไม่อยากเข้าไปคุมด้วย เมื่อถามว่า ประเมินการทำงานของ สปช. เป็นอย่างไร เพราะถูกมองว่ายังทำงานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นายวิษณุ กล่าวว่า สปช. เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่จะต้องส่งงานต่อให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ดังนั้น การวางกรอบปฏิรูปจะไปคิดอะไรกว้างๆ ไม่ได้แล้ว อะไรที่เร่งด่วนและนายกฯได้พูดในสภา ช่วยเอาสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไปดู อะไรที่ทำต่อได้ให้ทำต่อ อย่าไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และอะไรที่จะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นช่วยคิดทำด้วย อย่างเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างราชการให้รัฐบาลหน้าไปทำ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะมาถึงวันนี้ปฏิรูปจนเหลือ 20 กระทรวง ถือว่ามีฐานการทำงานแล้ว เพียงแต่ว่าไปดูในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการประชาชน

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปไม่จำเป็นต้องตั้งทีเดียว 200 คน นายกฯ ทยอยตั้งทีละชุดก็ได้ แต่นายกฯจะคัดเลือกอย่างไรตนไม่ทราบ ต้องคอยดูอีกสักระยะ ซึ่งคงมีการประกาศหลักเกณฑ์ที่จะหาตัวคนมาเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูป โดยส่วนหนึ่งเอามาจาก สปช. และอีกส่วนหนึ่งเอามาจากคนนอก โดยสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ก็มีโอกาส เพราะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลถึงได้มีการปลดล็อกเอาไว้ ไม่ใช่เป็นการปลดล็อกเพื่อตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิก คสช. มาแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี อย่างที่เสนอข่าวกัน ซึ่งสื่อเข้าใจยุแยงตะแคงรั่ว อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องตั้งคนที่มีแนวทางสอดคล้องกับรัฐบาล แต่ต้องการคนที่มีความคิดในการปฏิรูป โดยเฉพาะคนที่เป็น สปช. อยู่แล้วก็จะเห็นการทำงานและแนวคิดในการปฏิรูป ว่า มีความเข้าใจการปฏิรูปหรือไม่ ส่วนคนนอกจะพิจารณาจากการแสดงความคิดเห็นทางสังคมถึงการปฏิรูป ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางเดียวกันในการปฏิรูป แต่ความเห็นที่แตกต่างสามารถเอาไปทำในรัฐบาลหน้าได้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลบกพร่องที่ไม่ได้บอกเขาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิรูป ซึ่งเมื่อมีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแล้วคงจะต้องมีการตั้งวิปสภาขับเคลื่อนปฏิรูปขึ้นมาเพื่อประสานงานกับรัฐบาล

เมื่อถามว่า คุณสมบัติ สปช. ที่จะมาเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูป จะต้องไปตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมาด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นเกณฑ์หนึ่ง ทั้งเข้าประชุมต่อเนื่อง ทำหน้าที่ได้ดี เสนอความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

ส่วนที่ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุแม้จะเขียนเรื่องความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งรับฟัง โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่พูดแบบนี้เยอะแยะ หลายท่านพูดน่าฟัง แต่ถ้าไปเอาความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่งเดี๋ยวจะมีความคิดเห็นของผู้ใหญ่คนอื่นโผล่มาอีก แต่พร้อมรับฟังผู้ใหญ่ทั้งหมด และอะไรที่เป็นประโยชน์จะหยิบมาใช้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไม่ได้วกวน แต่เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน เราต้องคิดเผื่อไว้สำหรับหลายสถานการณ์ ถ้าไม่สมมุติอะไรก็เขียนง่ายๆ ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่าระหว่างทางหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร สปช.ไม่ให้ผ่านจะทำอย่างไร หรือแม้แต่กมธ.ยกร่างฯน้อยใจคิดลาออกแล้วจะทำอย่างไร ต้องใส่หมดทุกทาง อ่านแล้วอาจจะดูวกวน แต่เป็นการเขียนร่างรัฐธรรมนูญในฉบับเดียวที่เผื่อไว้ 10 สถานการณ์ แต่ความจริงมันคงไม่เกิดพร้อมกัน 10 สถานการณ์

เมื่อถามว่า หากทุกอย่างไม่ลงล็อกตามแผนทุกอย่างที่วางไว้ มีทางออกอย่างอื่นด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะบอก รอให้เกิดปัญหาก่อน เพราะถ้าบอกไปก่อนเขารู้ไต๋หมด ถ้ามันไม่เรียบร้อยก็มีวิธีอื่นมาแก้ มีสารพัดวิธี บางเรื่องไม่ได้เดือดร้อนกับถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเป็นห่วงว่าอาจเกิดการขัดขวางจนไม่สามารถลงประชามติได้ ก็อย่าลืมว่ารัฐบาลยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่






กำลังโหลดความคิดเห็น