รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เผยมติ ครม.- คสช. แก้ รธน. ชั่วคราวเปิดทางประชามติ แต่รอพิจารณาอีกครั้งหลัง สปช. เคาะผ่านหรือไม่ พร้อมเพิ่มเวลา กมธ.ยกร่างฯ อีก 30 วัน เผยส่งความเห็นแก้ไขไปหลายประเด็น นัดประชุม ครม. พิเศษ 25 พ.ค. ถกเฉพาะ แต่ คสช. ไม่ยุ่ง เปรียบ “มหานทีสีทันดร” คาดทำประชามติ ม.ค. ก่อนเลือกตั้ง ส.ค. ปีหน้า “สรรเสริญ” เผยนายกฯ สั่งเร่งสะสางกฎหมายที่คั่งค้าง “ดร.เจษฎ์” ชี้ประชามติไม่กระทบยกร่างฯ แต่กระทบโรดแมป คสช.
วันนี้ (19 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมร่วม คสช. และ ครม. มีมติเอกฉันท์ให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยอาศัยความตามมาตรา 46 แก้ไขเนื้อหาในมาตรา 37 - 38 เพื่อเปิดทางให้สามารถทำการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งตนและคณะทำงานจะดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้แล้วเสร็จก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง สนช. จะต้องพิจารณาภายใน 15 วันหลังจากได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก สนช. จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการแก้ไขในส่วนของการทำประชามติแล้ว ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขเนื้อหาในส่วนของขยายเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มขึ้นอีก 30 วัน จากเดิมที่ กมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 60 วันในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ก่อนส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาลงมติ เมื่อแก้ไขเพิ่มเติม กมธ. ยกร่างฯ จะมีเวลาเพิ่มเป็นไม่เกิน 90 วัน เนื่องจากเห็นว่าข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ มีค่อนข้างมาก เกรงว่า กมธ. ยกร่างฯ จะพิจารณาไม่ทันตามกำหนด
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงการเปิดทางให้มีการทำประชามติเท่านั้น ส่วนจะทำหรือไม่นั้นจะมีขั้นตอนในการพิจารณาอีกครั้งภายหลังจากที่ สปช. มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว โดยต้องมาพิจารณาว่าเมื่อถึงเวลานั้น หากกระแสสังคมยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ แต่ในเวลานี้กระแสสังคม รวมไปถึง สปช. กมธ. ยกร่างฯ และ สนช. เองเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องมีการทำประชามติ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อเปิดช่องทางไว้ก่อน ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียในการทำหรือไม่ทำประชามติอีกครั้ง นอกเหนือจากเรื่องงบประมาณในการจัดการทำประชามติแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะ ผู้รับผิดชอบยังต้องจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 47 ล้านฉบับ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนอีกด้วย โดยส่วนนี้คาดว่าจะใช้เวลาราว 3 - 4 เดือน
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของที่ประชุม ครม. ได้มีการพิจารณาข้อสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มาจากแต่ละกระทรวง รวมทั้งความเห็นจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ไม่ได้จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ ประชาชน นักวิชาการ และนักธุรกิจ โดยมีประเด็นที่จะแจ้งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ หลายสิบประเด็น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เรื่องถ้อยคำที่กำกวม เช่น คำว่า พลเมือง ปวงชนชาวไทย ประชาชน ราษฎร และ บุคคล 2. ข้อความไม่ควรอยู่ในมาตรานั้นๆ หรือควรจะบัญญัติเพิ่มเติม และ 3. เนื้อหาที่อาจกระทบต่อหลักการสำคัญ หลายเรื่องจะเสนอให้ตัดออก ปรับปรุง หรือทบทวน ซึ่งในวันนี้ตนได้นำเสนอต่อที่ประชุมได้ประมาณ 80% แต่ ครม. อยากพิจารณาละเอียดกว่านี้ จึงได้นัดประชุม ครม. วาระพิเศษในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อหารือกันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญเป็นการโดยเฉพาะ จากนั้นจะมีการนำเสนอต่อ กมธ. ยกร่างฯ ในวันเดียวกัน เพราะเป็นวันสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับเนื้อหาที่กระทรวงต่างๆ ส่งมานั้นส่วนหนึ่งมีการเสนอให้ตัดเนื้อหาที่กลุ่มการเมืองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า ในมาตรา 36 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้ สปช. คสช. และ ครม. เป็นผู้เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กมธ. ยกร่างฯ แต่ คสช. ได้หารือกับ ครม. ว่า ในส่วนของ คสช. จะไม่เสนอความเห็นและไม่มีข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจาก คสช. แม้จะเป็นแม่น้ำสายหนึ่ง แต่เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำทั้งหลาย มีอำนาจอยู่ในตัว หากเสนอความเห็นหรือขอแก้ไขแล้ว กมธ. ยกร่างฯ เห็นด้วย และแก้ไขตามจะเป็นช่องทางให้ถูกกล่าวหาว่าทำตามใบสั่ง คสช. ได้ หรือหาก กมธ. ยกร่างฯ ไม่ทำตามจะเป็นช่องทางให้เกิดการประชดประชันส่อเสียดต่อไปได้ว่า มีการแข็งข้อ คสช. แพ้ เสียของ หน้าแตก ส่วนหากจะมีสมาชิก คสช. คนใดคนหนึ่งมีความเห็นถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ให้แจ้งยัง ครม. เพื่อรวบรวมส่งให้ กมธ. ยกร่างฯ ได้
นายวิษณุ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ได้รายชื่อผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจำนวน 3 คนที่จะมาแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องการผ่านพ้นวิกฤตเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยถอดบทเรียนจากประเทศตัวเอง ที่กระทรวงการต่างประเทศแล้ว ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาปารีส 10 ประเทศฝรั่งเศส จะแสดงปาฐกถาพิเศษในวันที่ 22 พ.ค. 2. ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะแสดงปาฐกถาพิเศษในวันที่ 26 พ.ค. และ 3. ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน จะแสดงปาฐกถาพิเศษในวันที่ 27 พ.ค. บุคคลเหล่านี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญ และการสร้างความปรองดอง ส่วนผู้ฟังจะมีการเชิญ กมธ. ยกร่างฯ สปช. สนช. นักวิชาการ และผู้สนใจบางส่วนเข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการตัดสินใจทำประชามติ จะสามารถดำเนินการในช่วงเดือนใด นายวิษณุ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่ผูกมัดกับ ครม. และ คสช. หากมีการตัดสินใจว่า ต้องทำประชามติ ก็คาดว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นภายในเดือน ม.ค. 59 หากผ่านการทำประชามติก็จะมีการทูลเกล้าฯ และประกาศรัฐธรรมนูญต่อไป
เมื่อถามต่อว่า หากมีการทำประชามติจะส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ และจะสามารถเลือกตั้งได้ในช่วงใด นายวิษณุ กล่าวว่า หากมีการทำประชามติ การเลือกตั้งก็จะต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย ส่วนกำหนดการเลือกตั้งนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว กมธ. ยกร่างฯ จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย การเลือกตั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยขั้นตอนของ กมธ. ยกร่างฯ จะใช้เวลาราว 1 เดือน หรือเร็วกว่านั้นหากร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับคู่ขนานไปในช่วงนี้ หลังจากได้ร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับแล้ว ต้องส่งต่อให้ สนช. พิจารณาโดยใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน หรือ 2 เดือน เมื่อ สนช. เห็นชอบก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกราว 1 เดือน แล้วจึงสามารถทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้กฎหมายลูกในการจัดการเลือกตั้งได้ โดยในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้ว่า ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหลังมีการประกาศใช้กฎหมายลูก รวมระยะเวลา 7 เดือน ภายในจากการทำประมติจึงจะมีการเลือกตั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า จากกำหนดเวลาที่นายวิษณุชี้แจงดังกล่าว คาดว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างเร็วที่สุดในเดือน ส.ค. 2559
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า จุดแข็งการทำประชามติ คือ สะท้อนความต้องการของประชาชน สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการทำประชามติมาแล้ว ส่วนจุดอ่อน นอกเหนือจากงบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ที่ต้องใช้แล้ว ยังอาจจะมีเสียงโจมตีว่า รัฐบาลอยากอยู่ต่อ จึงไม่พูดเรื่อประชามติมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งในระหว่างการเผยแพร่เนื้อหาให้ประชาชนรับทราบ คาดว่าจะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม
เมื่อถามว่า ถ้าการทำประชามติไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร จะเขียนระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะแก้ไขด้วยหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องเขียนไว้ เพราะถ้าไม่เขียนจะทะเลาะกันตาย ซึ่งเนื้อหาในคณะทำงานที่ตนพิจารณานั้นจะเสนอให้ ครม. และ คสช. ก่อนที่จะเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนคำถามหากมีการทำประชามติ จะมีแค่รับหรือไม่รับ หรือจะมีคำถามอย่างอื่นอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมก็มีการตั้งประเด็นว่าการทำประชามติจะถามหลายอย่างได้หรือไม่ ถ้าได้จะถามเรื่องอะไร
เมื่อถามว่าถ้ามีการทำประชามติจริงต้องมีการรุณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการพิจารณาผ่อนปรนการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นจุดหนึ่งที่ยังไม่พูดในวันนี้ แต่ถ้าไปถึงจุดที่จะทำประชามติตนเชื่อว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาต่อไปเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการทำประชามติอย่างแท้จริง
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. และ คสช. ได้มีการทบทวนเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้ตระหนักว่ามีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันที่จะทำประเทศเดินหน้านำไปสู่เจตนารมณ์ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืนใน 4 เป้าหมายร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การรักษาความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก การทำงานตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวงกรม เพื่อผลักดันงานแผ่นดินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การวางแผนปฏิรูปประเทศในอนาคต การแก้ไขกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่ที่ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการรวมทั้งกฎหมายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องถูกผลักดันให้ได้ ทบทวนว่าทั้งครม.และคสช.มีเป้าหมายร่วมกันต้องเดินหน้าต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงเกี่ยวกับกฎหมายที่ผ่านมา สรุปว่าในปัจจุบันในส่วนรัฐบาลและ คสช. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าสภาแล้วทั้งสิ้น 110 ฉบับ ผ่านสภาไปแล้ว 84 ฉบับ ค้างสภาอีก 26 ฉบับ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย คสช. และ ครม. ที่จะผลักดันกฎหมายให้เป็นไปตามนโยบายที่เคยบอกกับประชาชนไว้ ส่วนการออกคำสั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้ชี้แจงทำเข้าใจร่วมกับทั้ง ครม. และ คสช. ว่าที่ผ่านมา คสช. ยังไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เกี่ยวกับอำนาจตุลาการที่จะไปตัดสินชี้ผิดชี้ถูกใคร แต่จะให้ไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติเท่านั้น จะใช้เพียงแต่ด้านบริหารกับนิติบัญญัติ
“นายกฯ ได้เน้นย้ำสั่งการว่าระยะเวลาปฏิบัติตามโรดแมปที่เหลืออยู่ หากมีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ที่ยังไม่เรียบร้อยยังต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงดำเนินไปโดยไม่ติดขัด ขอให้แต่ละกระทรวงเร่งรัดดำเนินเสนอร่างกฎหมายให้ครม. พิจารณา ถ้าประเด็นใดต้องใช้เวลานาน เยิ่นเย้อ แต่มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็เสนอมา เพื่อให้หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาเฉพาะหน้าออกไปก่อนแล้วค่อยออก พ.ร.บ. บัญญัติตามภายหลัง ขอให้เร่งรัดดำเนินการ” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในทางปฏิบัติ คณะ กมธ. ยกร่างฯ จะพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 23 ก.ค. โดยหลังจากนั้นคณะ กมธ. ยกร่างฯ จะเตรียมความพร้อมในการร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีการประชามติหรือไม่ จะไม่กระทบต่อขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ. ยกร่างฯ แต่จะส่งผลให้โรดแมปของ คสช. เลื่อนออกไป
“โรดแมปเลื่อนแน่นอน แต่นักการเมืองและประชาขนเห็นพ้องกันว่าควรมีประชามติ ดังนั้น กระทบก็ไม่เป็นไร เพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับทุกคน เพราะทุกคนพร้อมจะขยับ อันที่จริงสิ่งที่จะขยับเป็นเรื่องราว คือเลื่อนเลือกตั้ง ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินก็ยังเหมือนเดิม แต่หากจะทำประชามติก็ควรขยายเวลาในการทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนการประชามติ 6 เดือน เพราะระยะเวลา 3 เดือน คงไม่เพียงพอต่อการชี้แจงรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นรัฐบาลหรือ คสช. ควรเป็นผู้ชี้แจงกับประชาชนถึงการเลื่อนโรดแมป เพราะเป็นผู้เสนอโรดแมปดังกล่าวต่อประชาชนด้วยตนเอง” นายเจษฎ์ กล่าว