xs
xsm
sm
md
lg

รื้อ รธน.จัดแถวองคาพยพ หวดเด็กดื้อ - ยื้อเด็กดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

โดนวิพากษ์วิจารณ์กันขรมเมือง สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 ที่มีการบรรจงเล่นแร่แปรธาตุ 7 ประเด็น เพราะเอาเข้าจริง ไม่ได้มีแค่เรื่องการทำประชามติ ตามที่มีการเรียกร้องกันเท่านั้น แต่ยังมีการขยับเขยื้อนเนื้อหาในประเด็นอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะการปลดเปลื้องข้อจำกัดในการทำงานของรัฐบาล

ตามคิวที่มีการขยายลักษณะของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐมนตรีให้กว้างขึ้นกว่าเก่า จากเดิมปิดประตูตาย ห้ามพวกถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ห้ามมามีตำแหน่งแห่งหนใน ครม. ได้ แต่บัดนี้กลายมาเป็นมีสิทธิคั่วเก้าอี้เสนาบดีแล้ว

โดยเฉพาะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจ หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นเหมือนเงาตามตัว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกหนีบไปต่างประเทศถกประเด็นเศรษฐกิจบ่อยครั้ง คอยเป็น “มันสมอง” ให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลัง ที่มีโอกาสทะยานกลับสู่ตำแหน่งเสนาบดีไปซดเกาเหลากับ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้อีกระลอก

ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่า เป็นไปได้สูงมาก เพราะที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และ “บิ๊กป้อม” เองก็อยากจะดึงมาอยู่หน้าฉากโดยตลอด หลังเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลแทบจะเป็น “จุดอ่อน” ที่แก้ไม่ตก ทีมงานชุดแรกมีไอเดียไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเอาความคิดของผู้นำไปต่อยอดในทางปฏิบัติไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมีที่มาที่ไปเรื่อง “สมคิด” อยู่ไม่น้อยด้วย

แล้วไม่ได้ฮือฮากันแค่ประเด็นคุณสมบัติรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะ 7 ประเด็นที่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ศิษย์พี่ ศิษย์น้อง ไปร่วมกันเนรมิตมาตื่นตาตื่นใจและมีนัยแอบแฝงกันทุกเม็ด อย่างเรื่องการทำประชามติเอง ไปๆ มาๆ “รัฐบาลบิ๊กตู่” เองก็เด้งรับลูก เสียงเร้าของสมาชิก สปช. บางคน ที่ให้ถามคำถามอื่นในการทำประชามติ นอกเหนือไปจาก “รับ” หรือ “ไม่รับ”

โดยมีการเขียนอ้าให้สามารถถามคำถามได้มากกว่า 1 คำถาม แน่นอนว่า สุดท้ายคงไม่พ้นไปจากเรื่องการจะให้โอกาส “รัฐบาลบิ๊กตู่” ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง 2 ปี ก่อน หรือไม่ก็ปมเรื่อง “นิรโทษกรรม” และ “ปรองดอง” ซึ่งน่าจะมีการวัดจากสถานการณ์ตอนนั้นก่อนจะเคาะว่าจะถามอะไรบ้าง

แต่ที่เจ็บจี๊ด ปวดกระดองใจ คงหนีไม่พ้นประเด็นหดอายุสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากเดิมให้อยู่จนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ กรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช. แต่ไปๆ มาๆ “บิ๊กตู่” สั่งทีมงานซือแป๋ ให้เขียนเฉือนเหลือแค่เมื่อลงมติแล้ว ไม่ว่าผลออกมาทางใดก็หมดหน้าที่ไปทันที โดยมีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปที่ “บิ๊กตู่” จะเป็นคนตั้งเองกับมือ 200 คน มารับไม้ต่อ

เรียกว่าจากนี้สมาชิก สปช. นับวันถอยหลังสิ้นสภาพได้เลย เพราะเหลือน้อยเต็มทนแล้ว คิวมีกระแสข่าวว่อนแถวๆ รัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล ส่วนหนึ่งมีเชื้อมาจากความไม่พอใจ สปช. หลายคนที่ชักจะทำตัวดื้อ แตกแถว ไม่อยู่ในร่องในรอย จนฝ่ายอำนาจประเมินสถานการณ์ว่า ปล่อยไว้น่าจะคุมไม่อยู่

หลายเรื่องหลายราวกับปฏิกิริยาของ สปช. หลายคนก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อเสนอแนะ หรือรายงานที่เสนอมายัง ครม. บางฉบับ โอเวอร์ทำยาก บางฉบับขัดแย้งกับแนวทางของรัฐบาล ที่เห็นชัดๆ ก็ความขัดแย้งใน กมธ. พลังงาน ที่เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน หรือแม้แต่ กมธ. การเมือง ชุด “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ที่ตั้งตัวเป็นขั้วบวก ขั้วลบ กับ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญของ “ดร.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในหลายเรื่อง

เมื่อไม่เชื่อฟัง ก็หมดเวลาจะอยู่บนเรือแป๊ะต่อ ขณะที่เด็กดี มีวินัย อยู่ในโอวาท หากกำลังยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ว่า จะออกมาเปรี้ยวเสนอหลักการอะไรแปลกๆ หรือสุดโต่งกับเขาบ้าง เพื่อมีจุดยืนในสังคม น่าจะมีเวลาได้ฉุกคิดใหม่ เพราะหากทำตัวดี อาจมีสิทธิได้ไปต่อในเวที “สภาขับเคลื่อนปฏิรูป” ที่มีโควตาถึง 200 คน

แต่กระนั้นอีกมุมหนึ่งก็มีการมองเหมือนกันว่า นี่เป็นการต่ออายุให้กับ สปช. แบบชอบธรรม และไม่น่าเกลียด โดยเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงหน้า และยี่ห้อใหม่กันเสีย และเลือกเอาบุคลากรใน สปช. นั่นแหละมานั่ง เพียงแต่รอบนี้ สกรีนคนเอาเฉพาะพวกอยู่ในโอวาท ว่านอนสอนง่ายเท่านั้นที่ได้รับการต่อวีซ่า

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวงวดนี้ สปช. จะได้รับผลกระทบกระเทือนแค่ไหน แต่กลับพบว่า “แฝดอิน - จัน” อย่าง กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ยกเว้นหากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ถึงจะมีอันเป็นไปเท่านั้น ไม่ได้ตายตกไปตามกันเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งพิกลอยู่พอสมควร

หากจะตั้งแง่ว่า สปช. แตกแถว กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ก็ไม่เบาเหมือนกัน แต่ละคนพูดไปคนละทิศละทาง ออกอ่าว ออกทะเล แต่กลับไม่โดนอะไรเลย เรื่องของเรื่อง ส่วนหนึ่งก็เพราะสายใยลูกพี่ลูกน้องของ ระหว่าง “เนติบริกรผู้พี่” วิษณุ ที่เป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้ กับ “เนติบริกรผู้น้อง” บวรศักดิ์ เรื่องอะไรจะใจไม้ไส้ระกำต่อกัน

อีกทั้งแม้ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะถูกมองว่า โอเวอร์แอ็กติ้งมากไปหน่อยในการร่างรัฐธรรมนูญ ใส่เนื้อหาแบบเพ้อฝัน แต่ว่ากันว่า สิ่งที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ รังสรรค์ออกมา ยังไม่ได้เท่าครึ่งหนึ่งที่ คสช. ต้องการเลยด้วยซ้ำไป เพียงแต่ต้องรับ “หน้าเสื่อ” แทน

ในภาพรวมที่ผ่านมา มีเพียง สปช. เท่านั้น ที่ค่อนข้างทำตัวเอกเทศ ส่วนแม่น้ำสายอื่นๆ อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังจัดอยู่ในสภาวะที่ “คอนโทรล” ได้ โดยเฉพาะ สนช. ที่คงจะอยู่ยาวไปคู่กับรัฐบาลจนลาโรงอำนาจ เพราะมีหน้าที่ต้องออกกฎหมาย อีกทั้งสั่งแถวตรงได้ดังใจ เนื่องจากมีแม่ทัพนายกองครึ่งค่อนสภา

เช่นเดียวกับ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภาพที่ออกมาแม้ “ดร.ปื๊ด” จะดูหัวดื้อ แต่เอาเข้าจริง พี่น้องสองคน “วิษณุ - บวรศักดิ์” ประสานกันหลังฉากปรับจูนกฎหมายให้เป็นไปตามแนวทางของฝ่ายอำนาจได้สบายอยู่แล้ว ส่วน กมธ. คนอื่นๆ ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ต้องดูเหมือนกัน ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ในอนาคตอาจจะมีการปรับแก้แผนอะไรอีกก็ได้ เพราะหากดูการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในแต่ละครั้ง ประเมินสถานการณ์กันเป็นช็อตๆ แก้กันเป็นเรื่องๆ ในลักษณะมีแผนบี แผนซี แผนสำรอง เตรียมไว้ตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น