xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” เตือน กมธ. ยกร่างฯ อย่ามั่นใจ สปช. ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ชี้ คสช. ลอยแพทำประชามติผ่านยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสรี สุวรรณภานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
สปช. เตือน กมธ. ยกร่างฯ อย่าสำคัญตัวเองผิดว่าเขียนรัฐธรรมนูญยังไงก็ได้ สปช. ให้ผ่าน ทำคำแปรญัตติเพียบ แถมกล่าวหา “เพื่อไทย-ปชป.” เสียผลประโยชน์ ถามกลับมั่นใจได้ยังไงว่าประชามติจะผ่าน หนำซ้ำ คสช. ลอยแพ ไม่ต้าน ไม่ดัน เชื่อคงยากที่จะผ่าน แนะปรับแก้ให้ยอมรับทุกฝ่าย

วันนี้ (31 พ.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงการพิจารณาทบทวนแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่อยากให้ กมธ. ยกร่างฯ สำคัญตัวเองผิดว่ามีอิสระเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ จึงไม่ฟังความเห็นของ สปช. ทำให้คำแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญมีมากมายก่ายกอง ถ้า กมธ. ยกร่างฯ ยังมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นจาก สปช. และผ่านการทำประชามติ บอกได้เลยว่า กมธ. ยกร่างฯ เข้าใจผิด เพราะการทำประชามติเกี่ยวข้องกับคน 40-50 ล้านคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเล็กๆ มีหลักร้อย หลักพัน ตามที่ กมธ. ยกร่างฯ ไปจัดสัมมนารับฟังความเห็น

“ประชาชนส่วนใหญ่รับฟังคนใกล้ชิด คือ ฝ่ายการเมือง ยิ่งพรรคการเมืองแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการให้แก้ไขประเด็นใด แต่ กมธ. ยกร่างฯ ไม่ยอมแก้ไขให้ แล้วยังบอกว่า ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพวกเสียผลประโยชน์ จะยิ่งเป็นการสร้างแรงต้าน แล้วจะยังเชื่อมั่นว่า ประชามติจะผ่านได้อย่างไร” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวว่า ผลการทำประชามติปี 2550 ที่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 21 ล้านเสียงต่อ 19 ล้านเสียง ถือว่าไม่มาก ซึ่ง 21 ล้านเสียง เป็นผลมาจากที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ลงพื้นที่หาเสียง รวมทั้งรัฐบาล หน่วยราชการ และทหารในขณะนั้นช่วยผลักดันเต็มที่จนได้ 21 ล้านเสียง แต่บรรยากาศทำประชามติขณะนี้ถ้าไปทำประชามติ โดยที่ยังขัดแย้งต่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และ สปช. ก็ไม่ช่วยเพราะได้แปรญัตติคัดค้านมากมาย ขณะที่ท่าทีรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในภาวะที่บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ก็ให้ลองคิดดูว่า คสช. อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่

“ผมเชื่อว่า คสช. คงรอดูสถานการณ์อยู่ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีจะให้ผ่านทำไม สู้วางตัวอยู่เฉยๆ ไม่ต่อต้าน ไม่ช่วยผลักดัน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินเองว่า จะเอาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ กมธ. ยกร่างฯ เหมือนถูกลอยแพ ผิดกับรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ทหารออกมาช่วยเต็มที่ ดังนั้น โอกาสที่รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติจึงยาก ดังนั้น ทางออกคือ กมธ. ยกร่างฯ ต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” นายเสรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น