xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.57บังคับทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อนำไปสู่การทำประชามติว่า มีการคุยกันได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีบางอย่างติดอยู่ที่ต้องถามว่า คสช. คิดอย่างไรเพราะเดิมที คสช.ก็ไม่ได้คิดอะไรให้ไปทำกันมา ซึ่งก็ทำกันไม่ถูก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เช่นถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน จะทำอย่างไร
"หลักคือแก้เพื่อไปสู่การทำประชามติ และบัดนี้ก็ดูจะยุติแล้วว่า จะทำประชามติแบบต้องทำ ไม่ใช่เลือก เพราะก่อนหน้านี้บอกว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ แต่วันนี้ครม.ให้สัญญาณชัดเจนแล้วว่า ถ้าผ่านสปช. ก็ให้ไปสู่การทำประชามติ ไม่ต้องมีใครบอกว่าจะไป หรือไม่ไป แต่ให้ไปเลย ตรงนี้ชัด และทำภายในกี่วันก็ชัด ก็ตกอยู่อยู่ในช่วงเดือน ม.ค.59 " นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า เหตุผลที่ตัดสินใจบังคับทำประชามติ คืออะไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่ระบุให้ทำประชามติเชิงบังคับ ก็จะกลับมาที่เดิมว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ทำประชามติ เหมือนโยนเผือกให้คนนั้นอีก สู้ทำไปเลยดีกว่า เพราะอยากให้ทำอยู่แล้ว ส่วน 4 ทางเลือก หากร่างฯไม่ผ่านนั้น จะใช้วิธีใด อยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนัก ข้อดี ข้อเสีย
ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่า กมธ.จะแก้ไข แต่แก้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม วันเสาร์ที่ 6 มิ.ย.นี้ ตนจะเข้าชี้แจงต่อกมธ. ถึงข้อเสนอต่างๆ อย่างละเอียด ว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งเวลา 3 ชั่วโมง ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และตนก็จะไปชี้แจงเพียงคนเดียว
เมื่อถามว่า ภาระหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ จะหมดลงเมื่อไร นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าหากประชามติผ่าน ก็ยังต้องอยู่ต่อเพื่อทำกฎหมายลูก ซึ่งเขียนไว้เองในบทเฉพาะกาล ว่ากมธ.จะต้องอยู่ไปจนถึงวันที่เลือกตั้ง และเปิดสภาวันแรก หรือหากร่างฯไม่ผ่านการโหวตของสปช. ก็หมดหน้าที่ในวันนั้น และถ้าทำประชามติไม่ผ่าน ก็หมดหน้าที่วันนั้นเช่นกัน

** "บิ๊กตู่"ปลอบใจ สปช.อย่ากลัวตกงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่า ไม่ใช่ว่าตนมีมติให้ทำประชามติ แต่เป็นเรื่องที่ตนบอก ถ้าเขาจะต้องทำประชามติ ก็ให้เขาทำได้ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตนไม่ได้มีมติอะไรให้เขา ถ้าเป็นความต้องการของประชาชนที่ต้องการทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็ทำไปสิ หน้าที่ตนคือ ครม.เห็นชอบไหมเล่าถ้าเขาจะทำประชามติ โดยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องไปผ่านเส้นทางขึ้นมา ไปสู่ คสช.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าใจระบบการทำงานแบบนี้นะ ไม่ใช่มีมติให้เขาทำ หรือไม่ให้ทำ ไม่ใช่ อยากทำก็ทำ ตนก็แก้รัฐธรรมนูญให้ ท่านอยากจะทำก็ทำมา ตนก็แก้รัฐธรรมนูญ จะทำอะไรก็ต้องรัฐธรรมนูญทั้งนั้น วันนี้ตนอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจ
เมื่อถามว่า ต้องให้ สปช.พิจารณารับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขั้นตอนต้องเป็นอย่างนั้น 1. สปช.รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าไม่รับร่าง ก็ต้องแก้ไข เดิมให้เขาร่างใหม่ได้อยู่แล้ว เดิมต้องตั้ง สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องมาดูว่า ถ้าจะให้ สปช.อยู่ต่อ ต้องแก้รัฐธรรมนูญไหม และใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องแก้รัฐธรรมนูญไหม ถ้าไม่แก้ ใช้กฎหมายเดิมได้ไหม นั้นแหละต้องไปคิดมา ตนก็มีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญให้เขา ฉะนั้นทั้ง สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าไม่ผ่านแล้วจะไม่มีงานทำ เดี๋ยวมันหาทำกันจนได้แหละ ทุกคนก็มีความหวังดี แต่ข้างหนึ่งก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อีกข้างอยากกลับไปที่เดิม จะได้มีอำนาจมากมาย ที่จะทำอะไร ทั้งดี และไม่ดีได้ มันก็เป็นสองข้างอยู่แบบนี้ตลอด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า เราทำทุกอย่างตามขั้นตอนโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เน้นย้ำว่าต้องเดินไป ไปได้แค่ไหนก็ไป รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ผ่านไม่ผ่านทำอย่างไร
เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงว่า กมธ.ยกร่างฯ จะไม่ยอมปลดล็อกอะไรเลย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นไร ยอมหรือไม่ก็เป็นหน้าที่ สปช. ที่จะลงคะแนน เมื่อถามว่าแม่น้ำ 5 สาย เป็นเนื้อเดียว ก็ต้องไปด้วยกันหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไปด้วยกันไม่ได้หรอก คสช. เป็นต้นกำเนิด เขาไม่เกี่ยวข้อง เขาไม่ได้ไปดูรัฐธรรมนูญ เขาไม่ใช่คนร่างฯ จะเกี่ยวได้อย่างไร ถ้าจะเกี่ยวก็คือ ครม. แต่เกี่ยวน้อยในส่วนเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าเลือกตั้งจะมีในปี 2559 หรือ 2560 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใครก็กำหนดไม่ได้ นายกฯก็บอกไม่ได้ เพราะมีโรดแมปอยู่แล้ว

**กมธ.ยกร่างฯเชิญสื่อออกนอกห้อง

วานนี้ (3มิ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯเป็นประธานในที่ประชุม มีวาระมีรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จากผู้เสนอและผู้รับรองคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่สอง ในลำดับของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ช่วงเช้า เป็นลำดับของกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่นำโดย นายมนูญ ศิริวรรณ สปช. และช่วงบ่ายเป็นลำดับชี้แจงของกลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่นำโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.
ก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณา นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการพิจารณา และการสอบถามของกมธ.ยกร่างฯ โดยหลังจากนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยากจะพูดเต็มที่ จึงมีมติขอร้องผู้สื่อข่าว ขอให้ในห้องประชุมมีเฉพาะกมธ.ยกร่างฯ และเจ้าหน้าที่เท่านั้น จากนั้นได้กล่าวเชิญผู้สื่อข่าว และช่างภาพออกจากห้องประชุม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งก่อนเข้าวาระรับฟังคำชี้แจง หารือในกรอบการทำงาน และได้หารือถึงกติกาที่จะให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ สปช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายบวรศักดิ์ เป็นผู้ยกประเด็นให้ที่ประชุมหารือ และมีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้หารือ และพิจารณาถึงผลดีและผลเสียต่อกรณีที่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าติดตามการประชุมในห้องประชุม โดยเสียงของกมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่เห็นไปทางที่ไม่ควรให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการพิจารณาในห้องประชุมเหมือนช่วงที่ผ่านมา พร้อมยกเหตุผลประกอบ คือ 1. เพื่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ และลดความกดดัน 2. บางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือตกผลึกร่วมกัน อาจทำให้เกิดการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกได้ และ 3. การประชุมที่ได้ข้อสรุปแล้ว จะให้สิทธิ์โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ที่ได้รับมอบหมาย แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ทำให้นายบวรศักดิ์ กล่าวสรุปว่า จะงดให้ผู้สื่อข่าวเข้าติดตามการประชุมหลังจากนี้

**เสนอตัดกลุ่มการเมือง-โอเพ่นลิสต์

นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังเข้าชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของสปช. กลุ่มที่ 3 ต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ได้ส่งคำขอแก้ไขทิ้งสิ้น 68 ประเด็น มีสาระสำคัญได้แก่ ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทุกมาตรา ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ แต่เห็นด้วยกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ส่วนส.ว.ขอให้ปรับลดจำนวนลงเหลือ 150 คน โดยมาจากการสรรหา 73 คน และเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ขณะที่ มาตรา 193 ที่ว่าด้วยการเห็นชอบหนังสือสัญญาของรัฐสภา เห็นว่า มีการกำหนดเนื้อหาไว้กว้างขวาง ครอบคลุมการทำสัญญาระหว่างประเทศมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงขอปรับแก้ให้ครอบคลุมเฉพาะการทำสัญญาเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และสัญญาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐเท่านั้น
สำหรับมาตรา 308 ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี ก็เสนอให้มีการเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสปช.แล้ว ให้มีการทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

** คาดขยายเวลาให้กมธ.อีก 30 วัน

ต่อมาเวลา 14.15 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ทางกมธ.ยกร่างฯได้เปิดให้สปช. เข้าชี้แจงไปแล้ว3 กลุ่ม ซึ่งมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นสิทธิพลเมือง ที่มีการเสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ซึ่งภาพรวมถือว่ายังไม่กระทบกับโครงสร้างหลัก เพราะไม่ใช่เป็นการรื้อเสาเอก ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าทั้ง 315 มาตราจะมีการปรับลดเหลือกี่มาตรา ตนไม่สามารถตอบแทนกมธ.ยกร่างฯอีก 35 คนได้ และยังไม่มีธงอะไรทั้งสิ้น
จากข้อเสนอที่กลุ่มสปช. ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญมานั้น มีบางกลุ่มเสนอให้การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นความลับ ซึ่งตนได้บอกว่า ถ้าเช่นนั้น ก็จะเกิดการจ่ายเงินกันแบบมหาศาล และไม่แน่ใจด้วยว่า รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่เสนอให้มีการตัดกลุ่มการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องไปพิจารณาทบทวนต่อไป แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่น กรณีเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก ก็จะเปิดช่องให้มี ส.ส.อิสระ หรือทำให้พรรคการเมืองตั้งง่ายขึ้น จากเดิมต้องมีสมาชิก 5,000 คน อาจจะเหลือพรรคละ 500 คน เพียง 1 ตำบลก็ได้สมาชิก ครบแล้ว และอาจจะเหลือสาขาพรรคเหลือภาคละ 1 สาขา ทำให้เกิดพรรคนอมินีขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องไปพิจารณา และรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการที่ ครม. มีมติที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ขยายเวลาการทำงานให้กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วันนั้น ก็จะทำให้การทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เลื่อนออกไปด้วย ดังนั้นการพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายที่จะมีการประชุมนอกสถานที่ เดิมกำหนดวันที่ 22 มิ.ย.–3ก.ค.นั้น มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงกลางเดือนก.ค. ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 14- 22 ก.ค. เมื่อถามว่า ขณะนี้เริ่มมีธงเขียวปักตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ทางกมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้เป็นคนทำ ซึ่งธงเขียวนี้เห็นครั้งแรกที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเวทีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
กำลังโหลดความคิดเห็น