xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฉะ กมธ.ยกร่างฯ ตั้งโจทย์ผิดโบ้ยพรรคใหญ่ ชี้ ประชามติให้ชัดไม่ผ่านยังไงต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” รับ เรื่องดีตัด ม.181 - 182 จี้ ทบทวน คกก.อิสระฯ มีอำนาจชง พ.ร.ฎ.ล้างผิด โดยไร้เงื่อนไขรวมคดีโกง สวน ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ตั้งโจทย์ผิดมอง 2 พรรคใหญ่ไม่ยอมกัน แจง สู้ตามอุดมการณ์ ที่ผิดคือใช้อำนาจไม่ตามกม. ฉะ “ประสาร” เปลี่ยนจุดยืน ชี้ ประชามติกระบวนการต้องชัด ไม่ผ่านต้องทำยังไง ยัน ยืดอายุ คสช. 2 ปี ก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ เหตุ ปชช.- พรรคการเมือง ต้องช่วยผลักดัน

วันนี้ (19 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะตัดมาตรา 181 และ 182 ในร่างรัฐธรรมนูญทิ้งว่า เป็นเรื่องดีเพราะทำให้เสียดุลย์อำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ และกังวลว่าถ้าเจอรัฐบาลเหลิงอำนาจจะออกกฎหมายที่สร้างปัญหาความขัดแย้งได้ เหมือนกับกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต ถ้า ครม. หรือ คสช. จะช่วยให้กรรมาธิการทบทวน และกรรมาธิการรับฟังก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก นอกจากนี้ ยังอยากให้ครม. และ คสช. พิจารณาเกี่ยวกับการให้อำนาจคณะกรรมอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษด้วย เพราะเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากที่ต้องไประบุอำนาจและกระบวนการพิเศษในการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแบบนี้ มันไม่เป็นไปตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจง

“ผมไม่เข้าใจว่าท่านพูดได้อย่างไรว่าการตราพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ทั่วไปในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าจะให้อภัยโทษกับบุคคลที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือสำนึกผิดกับคณะกรรมการ โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเลยแม้แต่คดีทุจริต เป็นความผิดปกติที่ไม่ควรเปิดช่องไว้ ถ้าเอาตรงนี้ออกไปทุกคนจะได้สบายใจว่าไม่มีวาระแอบแฝง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และ นายกรัฐมนตรี ยืนยันมาโดยตลอดว่าให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีอนุมาตรานี้ การให้อำนาจแบบนี้จะเกิดปัญหากระบวนการใช้พระราชอำนาจในเรื่องการอภัยโทษและอาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าปัญหาแบบกฎหมายนิรโทษกรรมจะไม่เกิดขึ้นอีก

“ในขณะที่นายกฯย้ำตลอดว่าดีที่สุดให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน แต่การมีอะไรแบบนี้เป็นช่องทางเกิดการล็อบบี้ ต่อรอง ออกกฎหมายที่ขัดกับความรู้สึกของคนจำนวนมากโดยเฉพาะคดีทุจริต ถ้า คสช.ไม่เสนอให้ตัดตรงนี้ออก แล้ววันข้างหน้ามีการเสนอให้อภัยโทษขัดกับสิ่งที่นายกพูดตอนนี้ คสช.ก็ต้องรับผิดชอบเพราะไม่เสนอให้ตัดออกไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ นายบวรศักดิ์ ระบุว่า ปัญหาชาติเกิดจากสองพรรคใหญ่ไม่ยอมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองสองพรรคต่างคนต่างต่อสู้ตามอุดมการณ์ของตัวเอง ที่ผิดคือวิธีการใช้อำนาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาไม่ใช่พรรคก.ทะเลาะกับพรรคข. หรือประชาชนทะเลาะกัน แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขตจนประชาชนออกมาต่อต้าน การตั้งโจทย์ผิดเช่นนี้ทำให้นายบวรศักดิ์ได้คำตอบที่ผิดไปด้วย จึงต้องไปทบทวน

นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความแปลกใจที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. ออกมากล่าวโทษว่าปัญหาประเทศเกิดจากสองพรรคการเมือง โดยย้อนถามกลับถึงนายประสารว่า จุดยืนตอนนี้อยากได้หรือยอมรับการนิรโทษกรรมแล้วใช่หรือไม่ การที่ตนยืนอยู่ที่จุดยืนเดิมกลายเป็นเรื่องผิด หรือคนที่เปลี่ยนจุดยืนควรพิจารณาตัวเองมากกว่า

ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้มีทางเลือกที่ชัดเจนโดยมีการเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งใช้ก่อนการรัฐประหาร อาจระบุเงื่อนไขให้ปรับปรุงแก้ไขได้ถ้าจำเป็น แต่ไม่อยากให้ลงประชามติโดยไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากประชามติไม่ผ่าน ในเวลาเท่าไหร่ เพราะจะเกิดความสับสน เพราะบางคนอาจไม่ชอบรัฐธรรมนูญแต่ไปลงมติให้ผ่านเพื่อไปเลือกตั้ง แต่ถ้าจะไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ตาม รธน. ชั่วคราว 2557 ก็จะเป็นแรงกดดันกลับมาที่ คสช. ตนมองว่าถ้าไม่อยากเปรียบเทียบสองฉบับก็ต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนว่ากระบวนการที่จะทำใหม่เป็นอย่างไรจะต่างจากรอบที่แล้วยังไง เพราะถ้าย้อนไปตั้งต้นใหม่จะมีหลักประกันอะไรว่าไม่มีปัญหาแบบนี้อีก

ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงเรื่องต่ออายุให้คสช.บริหารประเทศต่อ 2 ปี เพื่อปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลา 2 ปี การปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ เพราะการปฏิรูปจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นผู้บีบให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องยอมรับวาระการปฏิรูป ถ้าสังคมเข้มแข็งยืนยันวาระการปฏิรูป พรรคการเมืองต้องตอบสนองจึงเป็นหลักประกันความสำเร็จในการปฏิรูปซึ่งต้องใช้เวลา และล้มลงได้ทุกเมื่อถ้ารัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งไม่อยากปฏิรูปก็เข้ามาล้ม

“พรรคการเมืองต้องตอบสนองประชาชนมีสัญญาประชาคมระหว่างการเลือกตั้งจึงเป็นหลักประกันที่แท้จริง ถ้าต่ออายุไปสองปีสามปี ปีที่สี่รัฐบาลที่เข้ามาก็อาจล้มอีก หรือคิดว่ามีองค์กรสภาขับเคลื่อน กรรมการยุทธศาสตร์ฯก็ไม่มีผลอยู่ดีเพราะคนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปคือรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมีความตั้งใจปฏิรูปแต่ก็มีข้อจำกัดส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ในส่วนของพรรคผลักดันการปฏิรูปหลายเรื่อง โชคไม่ดีที่ไม่มีโอกาสทำได้ต่อเนื่อง ถ้ามีโอกาสบริหารประเทศก็ยืนยันจะผลักดันการปฏิรูป เช่น การกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้บริหารระดับจังหวัด การปฏิรูปตำรวจ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น