xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"หนุนตัดมาตรา181-182 ห่วงกก.ปรองดองนิรโทษคนโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะตัดมาตรา 181 และ 182 ในร่างรัฐธรรมนูญทิ้งว่า เป็นเรื่องดี เพราะมาตราดังกล่าว ทำให้เสียดุลย์อำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ และกังวลว่าถ้าเจอรัฐบาลเหลิงอำนาจจะออกกฎหมายที่สร้างปัญหาความขัดแย้งได้ เหมือนกับกฎหมายนิรโทษกรรมในอดีต ถ้า ครม.หรือ คสช. จะช่วยให้กรรมาธิการฯทบทวนและกรรมาธิการฯรับฟัง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก
นอกจากนี้ ยังอยากให้ ครม.และคสช. พิจารณาเกี่ยวกับการให้อำนาจคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษด้วย เพราะเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก ที่ต้องไประบุอำนาจ และกระบวนการพิเศษในการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแบบนี้ มันไม่เป็นไปตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ชี้แจง
"ผมไม่เข้าใจว่าท่านพูดได้อย่างไรว่าการตราพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ทั่วไป ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จะให้อภัยโทษกับบุคคลที่มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสำนึกผิดกับคณะกรรมการ โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย แม้แต่คดีทุจริต เป็นความผิดปกติที่ไม่ควรเปิดช่องไว้ ถ้าเอาตรงนี้ออกไป ทุกคนจะได้สบายใจว่าไม่มีวาระแอบแฝง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ยืนยันมาโดยตลอดว่า ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีอนุมาตรานี้ การให้อำนาจแบบนี้ จะเกิดปัญหากระบวนการใช้พระราชอำนาจในเรื่องการอภัยโทษและ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า ปัญหาแบบกฎหมายนิรโทษกรรม จะไม่เกิดขึ้นอีก
"ในขณะที่นายกฯ ย้ำตลอดว่าดีที่สุดให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน แต่การมีอะไรแบบนี้ เป็นช่องทางเกิดการล็อบบี้ ต่อรอง ออกกฎหมายที่ขัดกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีทุจริต ถ้า คสช.ไม่เสนอให้ตัดตรงนี้ออก แล้ววันข้างหน้ามีการเสนอให้อภัยโทษขัดกับสิ่งที่นายกฯ พูดตอนนี้คสช. ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เสนอให้ตัดออกไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ปัญหาเกิดจากพวกที่ไม่เคารพ กม.

ส่วนกรณีที่ นายบวรศักดิ์ ระบุว่าปัญหาของชาติ เกิดจากสองพรรคใหญ่ไม่ยอมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองสองพรรคต่างคนต่างต่อสู้ตามอุดมการณ์ของตัวเอง ที่ผิดคือวิธีการใช้อำนาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาไม่ใช่ พรรคก. ทะเลาะกับพรรคข. หรือประชาชนทะเลาะกัน แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขต จนประชาชนออกมาต่อต้าน การตั้งโจทย์ผิดเช่นนี้ ทำให้นายบวรศักดิ์ ได้คำตอบที่ผิดไปด้วย จึงต้องไปทบทวน
นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความแปลกใจที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. ออกมากล่าวโทษว่า ปัญหาประเทศเกิดจากสองพรรคการเมือง โดยย้อนถามกลับถึงนายประสาร ว่า จุดยืนตอนนี้อยากได้ หรือยอมรับการนิรโทษกรรมแล้วใช่หรือไม่ การที่ตนยืนอยู่ที่จุดยืนเดิม กลายเป็นเรื่องผิด หรือคนที่เปลี่ยนจุดยืนควรพิจารณาตัวเองมากกว่า
ส่วนกรณีที่มีการพูดถึงเรื่องต่ออายุให้ คสช. บริหารประเทศต่อ 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศ ก่อนการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลา 2 ปี การปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ เพราะการปฏิรูปจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นผู้บีบให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องยอมรับวาระการปฏิรูป ถ้าสังคมเข้มแข็งยืนยัน วาระการปฏิรูป พรรคการเมืองต้องตอบสนองจึงเป็นหลักประกันความสำเร็จในการปฏิรูป ซึ่งต้องใช้เวลา และล้มลงได้ทุกเมื่อ ถ้ารัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งไม่อยากปฏิรูป ก็เข้ามาล้ม
"พรรคการเมืองต้องตอบสนองประชาชน มีสัญญาประชาคมระหว่างการเลือกตั้งจึงเป็นหลักประกันที่แท้จริง ถ้าต่ออายุไปสองปี สามปี ปีที่สี่ รัฐบาลที่เข้ามาก็อาจล้มอีก หรือคิดว่ามีองค์กรสภาขับเคลื่อน กรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก็ไม่มีผลอยู่ดี เพราะคนที่จะนำไปสู่การปฏิรูป คือรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลนี้จะมีความตั้งใจปฏิรูป แต่ก็มีข้อจำกัด ส่วนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองในส่วนของพรรค ผลักดันการปฏิรูปหลายเรื่อง โชคไม่ดีที่ไม่มีโอกาสทำได้ต่อเนื่อง ถ้ามีโอกาสบริหารประเทศ ก็ยืนยันจะผลักดันการปฏิรูป เช่น การกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้บริหารระดับจังหวัด การปฏิรูปตำรวจ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**ให้ส.ว.มาจากพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง

ตัวแทนเครือข่ายคนไทยรักชาติ สถาบันประชาธิปไตยศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนา เครือข่ายพสกนิกรไทย และ กลุ่มรักราช กว่า 20 คน นำโดย นายสาธุ อนุโมทามิ ประธานสถาบันประชาธิปไตยฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เพื่อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 โดยให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์รอบคอบ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นที่คาดหวังของประชาชน ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกสามัคคีของคนในชาติได้
นายสุรชัย กล่าวว่า จะรับข้อเสนอนี้ เพื่อไปให้คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 20 พ.ค. จะมีการประชุม กมธ. โดยจะนำความเห็นที่หลายฝายได้ยื่นต่อ สนช. พร้อมทั้งความคิดเห็นของสมาชิกสนช. ที่ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. และ วันที่ 22 พ.ค. จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อประมวลความเห็นและสรุปเป็นรายงานก่อนที่ส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พ.ค. นี้
ต่อมา คณะของนายสาธุ อนุโมทามิ ประธานสถาบันประชาธิปไตยฯ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช.เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์จำนวนไม่เกิน 200 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น