xs
xsm
sm
md
lg

เดินเกมชำแหละ รธน. 7 ประเด็น “บิ๊กตู่” รวบอำนาจไว้ในกำมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

จากคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของคณะรัฐมนตรี และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คาดว่า จะยื่นถึงมือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในสัปดาห์นี้ ครม.- คสช. ขอยื่นแก้ไขรวมทั้งสิ้น 7 ประเด็นหลัก ถ้าลงลึกในรายละเอียดทั้ง 7 ประเด็น จะพบว่า มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่น่าสนใจ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึง อนาคตของ ร่าง รธน. ฉบับใหม่เลยทีเดียว

นั่นก็คือ คำขอแก้ไข รธน. ในประเด็นที่ 5 ที่ รัฐบาล - คสช. เสนอแก้ไข รธน. จากปัจจุบันที่บัญญัติว่า เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป ก็ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการดำเนินการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดใหม่

แต่หากที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบให้ผ่าน ร่าง รธน. ฉบับใหม่ ของ กมธ. ยกร่าง รธน. ก็ให้สมาชิก สปช. ทั้งหมด ยังคงมีสถานภาพและทำหน้าที่ สปช. ต่อไป

ทว่า ในคำขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ดังกล่าว มีการไปเขียนใหม่ว่า ให้ สปช. ต้องสิ้นสภาพ ยุติบทบาทไปโดยทันที หลัง สปช. มีการลงมติ ไม่ว่าสุดท้าย ร่าง รธน. ฉบับใหม่ จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช. หรือไม่ แล้วก็มีการโยก “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” จากร่าง รธน. ของ กมธ. ยกร่างฯ มาใส่ไว้ในคำขอแก้ไข รธน. เสียก่อนเลย ซึ่งเชื่อว่างานนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ. ยกร่างฯ รู้กันแน่นอน โดยตัวคำขอแก้ไข รธน. จะให้มีสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ รวมแล้วไม่เกิน 200 คน โดยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้งทั้งหมด

ที่น่าสนใจก็คือ เปิดโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งพวก สปช. ตอนนี้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯได้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการระบุโควตาเอาไว้ ว่าต้องไม่เกินกี่คน ซึ่งแตกต่างจาก ร่างของ กมธ. ยกร่าง รธน. ร่างแรก ที่ให้โควตา สปช. ตอนนี้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯไม่เกิน 60 คน โดยคำขอแก้ไข รธน. ระบุว่า จะให้สภาขับเคลื่อนฯ ทำหน้าที่หลักในเรื่องเสนอแนะการปฏิรูปอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งสิ้น 

ประเด็นนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ ตามมาทันที บ้างก็ว่า เป็นปฏิบัติการของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ที่จะเข้ามาจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ เพราะไม่แฮปปี้กับพวก สปช. ทั้งหลาย ที่ไม่เดินไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาล และ คสช. จนบางครั้งทำให้กระทบกับความเป็นเอกภาพ ของแม่น้ำ 5 สาย

เช่น เรื่องการโหวตของ สปช. ที่ไม่เอาด้วยกับการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนทำให้กระทรวงพลังงาน ต้องล่าถอยการเปิดสัมปทาน เพราะโดน สปช. รุกไล่ทั้งในสภาปฏิรูปฯ และผ่านเวทีต่างๆ หรือท่าทีของ สปช. บางคน ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล และ คสช. อย่างแรงๆ หลายรอบ เช่น เรื่องการออกมาวิจารณ์เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ จนทำให้ “บิ๊กตู่” เสียเครดิตอย่างมาก รวมถึงอีกหลายกรณี เช่น ความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องข้อสรุปต่างๆ ด้านการปฏิรูปของ กมธ. แต่ละคณะของ สปช. เช่น เรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เรื่องที่ดิน เป็นต้น 

ท่ามกลางข่าวว่าความไม่พอใจต่างๆ เหล่านี้ สะสมมาหลายรอบ จนบิ๊ก คสช. สุดทานทน เลยเห็นช่องทางว่า เมื่อจะแก้ไข รธน. ก็จัดโครงสร้างใหม่เสียเลย จึงให้มีการยุบ สปช. เสียเลย แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนฯ แทน โดยลดอำนาจและบทบาทลง ไม่ให้เท่ากับ สปช. ด้วยการอ้างว่า ภารกิจเรื่องรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่ว่าร่าง รธน. จะผ่าน สปช. หรือไม่ก็ตาม ก็มีกลไกอื่นมารองรับไว้อยู่แล้ว ภารกิจของ สปช. จึงหมดนับแต่โหวตร่าง รธน.

ในประเด็นที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาจัดโครงสร้างอำนาจใหม่ ก็เพราะในคำขอแก้ไข รธน. ที่ให้มีสภาขับเคลื่อนฯ สร้างเงื่อนไขให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ 200 คนได้ โดยคนเดียวทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการรับสมัคร - การสรรหาคัดเลือก อะไรให้ยุ่งยากเหมือนตอนตั้ง สปช. อีกแล้ว ตรงนี้ก็จะทำให้อำนาจการควบคุมทิศทางการปฏิรูปประเทศ กลับไปอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง ผ่านเครื่องมือ คือ สมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ที่ตัวเองตั้งมากับมือ 200 คน ที่น่าจะมีการกลั่นกรองมากขึ้นกว่าตอนตั้ง สปช. 

จุดนี้แหละจะทำให้พวก สปช. ที่ยังต้องการมีบทบาท - สถานะ ทางการเมือง ไม่อยากขาลอย นับจากนี้ก็จะต้องเป็นเด็กดี อย่าดื้อ หรือออฟไซด์ จนเกินงาม ไม่อย่างนั้น ก็จะไม่มีตำแหน่งอะไรทางการเมือง เพราะจะไม่ถูกตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ

แม้ สปช. ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม แต่ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่ก็อยากมีตำแหน่ง - สถานภาพทางสังคม การพ้นสภาพ สปช. ไปโดยไม่มีอะไรมารองรับ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ สปช. หลายคนต้องการแน่นอน

ขณะเดียวกัน ก็มีบางคนมองในมุมการเมืองอีกมุมหนึ่งว่า การที่ ครม.- คสช. เล่นให้ สปช. พ้นสภาพไปทันทีหลังมีการโหวตเรื่อง รธน. มันก็เหมือนกับทำให้ สปช. บางส่วนตัดสินใจง่ายขึ้น ในการจะโหวตรับ หรือไม่รับ ร่าง รธน. เพราะไม่ว่า รธน. จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ยังไงก็ต้องพ้นสภาพ สปช. อยู่แล้ว ก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะโหวตแบบไหน บางคนอาจรู้ตัวว่า คงไม่ได้รับการแต่งตั้งกลับมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ อยู่แล้ว อีกทั้งอาจไม่เห็นด้วยกับ ร่าง รธน. ฉบับใหม่ หาก กมธ. ยกร่างฯ ไม่ยอมปรับแก้ร่าง รธน. จากร่างแรกตามที่ สปช. ยื่นคำขอแก้ไขไป แบบนี้ ก็สู้โหวตไม่รับร่าง รธน. ไปเลย ไม่ต้องแคร์อะไร มันก็ตัดสินใจง่ายขึ้นในการไม่รับ ร่าง รธน. ไปเลย

ทว่า ก็มีอีกบางส่วน มองอีกมุมว่า มันก็อาจทำให้ สปช. บางส่วนรอสัญญาณจาก คสช. ว่า จะเอาอย่างไรกับ ร่าง รธน. เพราะหากสุดท้าย กมธ. ยกร่างฯ ไม่ยอมปรับแก้ไขร่าง รธน. ในส่วนที่มีปัญหา และคนไม่เห็นด้วยมาก โดย คสช. ประเมินแล้วว่า คนไม่เอาด้วยกับ ร่าง รธน. แน่นอน หากผ่าน สปช. ไปแล้วไปถึงขั้นตอนประชามติ ถ้าประชามติไม่ผ่าน คสช. จะยิ่งเสียหายมาก ก็สู้ลุ้นให้ สปช. โหวตคว่ำร่าง ดีกว่า

มันก็จะทำให้ สปช. ที่อยากกลับมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ แล้วรับรู้สัญญาณนี้ ก็อาจแสดงตัวออกมาชัดๆ เลยว่า ไม่เอาด้วยกับ ร่าง รธน. และลงมติคว่ำร่าง รธน. เพื่อซื้อใจ คสช. ให้ตั้งตัวเองกลับมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ

กระนั้น ที่ยกมาข้างต้น ก็ยังเป็นแค่การอ่านสถานการณ์ต่างๆ เท่านั้น ถึงความเป็นไปได้ในมิติต่างๆ หลังผู้คนเห็นคำขอแก้ไข รธน. ของ ครม.- คสช. ส่วนผลต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สถานการณ์แปรเปลี่ยนได้ตลอด

ขณะที่ผลทางการเมืองในการแก้ไข รธน. ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ก็เช่น การแก้คุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตรงกับคุณสมบัติต้องห้ามของผู้เป็นรัฐมนตรี โดยแก้ให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่อยู่ระหว่างการถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น พวก อดีต111 ไทยรักไทย สามารถเป็น สนช.- รมต. ได้

พลันที่มีเรื่องนี้ออกมา กระแสการปรับ ครม. ช่วงสิงหาคม - กันยายน หากการแก้ไข รธน. มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมร าบรื่นดี ก็เกิดขึ้นทันที โดยเชื่อกันว่า รอบนี้ “บิ๊กตู่” จะดัน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็นบอร์ด คสช. และเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของ คสช. มานั่งเป็น รมต. ในรัฐบาลแน่นอน ส่วนจะเป็น รมว.คลัง แทน สมหมาย ภาษี หรือ รมว.พาณิชย์ แทน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ต้องดูกันต่อไป หรือจะไม่เข้ามา เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหากับ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่เกาเหลากันมานาน ก็คงยากจะคาดเดา

แต่เชื่อว่าหากจำเป็น “บิ๊กตู่” ไม่เกรงใจ “หม่อมอุ๋ย” แน่นอน เพราะนาทีนี้ ปัญหาเศรษฐกิจประเทศเกินกว่าที่จะมาคิดแต่เรื่องอีโก้ อะไรกันแล้ว
 
เป้าหมายของคำขอแก้ไข รธน. ทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว จึงมีเรื่องของการรักษาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. แฝงไว้อยู่มากมาย เพียงแต่จะถอดลายแทงออกมาเจอหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น