xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” เมินคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แนะดูที่เนื้อหา - หนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแต่ต้องเข้ากับโรดแมป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
สมาชิก สปช. เห็นด้วยปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ต้องทำให้สังคมกระจ่างว่านานแค่ไหน ผลรูปธรรมออกมาแบบใด อีกทั้งต้องสร้างสมดุลตามโรดแมปของ คสช. เมินข้อเสนอคว่ำร่างรัฐธรรมนูญยืดอายุ คสช. แนะพิจารณาเนื้อหา ยึดหลัก 80 - 20 ดูป่าทั้งป่า ไม่ใช่ต้นอุตพิตไม่กี่ต้น ชี้ไม่มีใครวิเศษร่างให้ถูกใจทุกคน ชี้มีบทบัญญัติสิทธิประชาชนแทบทุกเรื่อง

วันนี้ (2 ส.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการเลือกตั้งสำหรับเมืองไทย จะได้นักเลือกตั้งเข้ามาครองเมือง ส่วนใหญ่ของนักเลือกตั้งประเทศไทยก้าวไปไม่พ้นจากทุนและระบบอุปถัมภ์ จึงเป็นกลุ่มคนที่เสพติดอำนาจมากกว่าจะมุ่งมั่นปฏิรูป อย่างเก่งก็ได้แค่หว่านโปรยนโยบายประชานิยมล้นเกินเพื่อคืนสู่อำนาจซ้ำอีก แถมเป็นนโยบายที่สร้างปัญหาระยะยาวให้กับประเทศไทยเช่น นโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำข้าว เป็นต้น

นายประสาร กล่าวต่อว่า การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องทำความกระจ่างต่อสังคมให้ได้ว่า ในระยะเวลาที่แน่นอน จะต้องการให้เกิดผลรูปธรรมระดับไหน ต้องเข้าใจว่าการปฏิรูปไม่อาจเกิดผลได้ฉับพลัน มันไม่ใช่การเปิดปิดสวิทช์ไฟ ไม่ใช่การบ่มมะม่วง มันเป็นงานเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน หลากหลายมิติ ยากลำบากและใช้เวลา เช่น การศึกษาของไทยปฏิรูปมา 20 ปีแล้ว ยังล้าหลังอยู่จนเดี๋ยวนี้

“การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจึงต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างเนื้องานปฏิรูปที่เป็นจริงซึ่งต้องการให้เกิดกับวันเวลาตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาจยืดหยุ่นได้แต่ควรเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ การตั้งคำถามเรื่องนี้ควบไปกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นทางออกอย่างหนึ่ง” นายประสาร กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยืดอายุ คสช. นายประสาร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาจากบทบัญญัติ ถ้าดีก็รับ ไม่ดีก็ไม่รับ การเอาไปผูกโยงกันอย่างนั้น แปลว่าไม่ไยดีกับเนื้อหา ไม่ต้องมองเหตุมองผล เป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรมต่อบทบัญญัติ และไม่ยุติธรรมต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นอนาคตเป็นชะตากรรมของประเทศชาติ จึงต้องการวิจารณญาณที่มีภูมิปัญญาและใช้วุฒิภาวะ ซึ่งถ้า สปช. คว่ำร่างฉบับนี้ คสช. จะต้องตั้งกรรมการยกร่างขึ้นมาใหม่รวม 21 คน ทำร่างใหม่ให้เสร็จภายใน 6 เดือน มีใครประกันได้ว่าร่างใหม่จะวิเศษกว่าร่างนี้

“ผมถือหลัก 80 ต่อ 20 ถ้า 80 รับได้ อีก 20 ยังขัดใจผมอยู่ ผมจะลงมติเห็นชอบ ผมจะดูส่วนทั้งหมด ไม่ใช่ดูเฉพาะส่วน ดูป่าทั้งป่า ไม่ใช่ดูเพียงต้นอุตพิต 5 ต้น” นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวต่อว่า ตนถือว่าไม่มีผู้วิเศษคนไหนที่ร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกใจทุกคนแบบ 100% เราต่างได้ในบางเรื่อง ไม่ได้ในบางอย่างด้วยกันทั้งนั้น ตนอยากให้บทบัญญัติการปฏิรูปกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ผิดหวัง เพราะเขาจะเอาไปเป็นกฏหมายปฏิรูป ส่งให้ สปช. พิจารณาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ตนทักท้วงให้เขาแยกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน เขาก็แยกให้ ตนไม่เห็นด้วยกับ ส.ว. จับสลาก เขาก็แก้ไขให้แล้ว ตนไปรับฟังเวทีประชาชนทั่วทุกภาค ชาวบ้านบอกว่าอย่าให้คนชั่วครองเมือง เขาก็กำหนดตัดสิทธิ์เลือกตั้งนักการเมืองตลอดชีวิตโดยเพิ่มฐานความผิดฉกรรจ์ขึ้นมาอีก 4 ฐานในรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามมาตรการเข้มของ รัฐธรรมนูญปี 2557 มาตรา 35 (4)

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่รวมทั้งสื่อมวลชน มักใส่ใจกับโครงสร้างส่วนบน คือที่มาของ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะได้มาอย่างไร และเข้าใจกันไปว่าเนื้อหานี้จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายประเทศไทย ที่จริงแล้วจะออกแบบด้วยวิธีไหน ไม่ว่าเลือกตั้ง แต่งตั้ง สรรหา หรือเลือกกันเอง ล้วนแล้วแต่เปิดช่องให้คนชั่วเล็ดลอดเข้ามาได้เสมอ ผมจึงเห็นว่าบทกำหนดที่ให้อำนาจประชาชนมีมากไปกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง 4 วินาที เป็นเรื่องสำคัญกว่า

“ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สำรวจดูแล้ว มีบทบัญัติเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนกระจายอยู่ทั่วไปแทบจะทุกเรื่อง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคม สตรี คนด้อยโอกาส ผู้บริโภค พลังงาน ศิลปวัฒนธรรม แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งสมัชชาพลเมืองยังอยู่ในมาตรา 27 ที่จะมี พ.ร.บ. ออกมารองรับด้วยเพื่อให้ประชาชนมีความชอบธรรมในการร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะและตรวจสอบภาครัฐได้จริง แม้ว่าจะตัดสมัชชาคุณธรรมและสภาตรวจสอบภาคพลเมืองออกไปก็ตาม” นายประสาร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น