xs
xsm
sm
md
lg

ท้าสปช.คว่ำรธน.คืนเงินเดือน ชงกกต.จว.รักษาการต่อทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"วันชัย"ยันต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ดีกว่าปล่อยไปทำประชามติ แต่ความขัดแย้งยังไม่จบ "สิระ" ท้าคืนเงินเดือน หากร่างถูกคว่ำ สปช.นัดชี้ชะตา 7 ก.ย.นี้ ต้องได้เสียงหนุน 125 ขึ้นไปจึงจะผ่าน "บิ๊กตู่" ยันยึดตามโรดแมป พร้อมลุกจากเก้าอี้ จะให้มานั่งรักษาความสงบตลอดชาติคงไม่ได้ "มาร์ค"แนะรัฐกำหนดแผนปฏิรูปให้ชัด จะอยู่สั้นอยู่ยาวไม่สำคัญ "วิษณุ" เตรียมชง กกต. ให้ กกต.จังหวัดรักษาการต่อเพื่อทำประชามติ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงจุดยืนต่อเรื่องการเสนอคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของตนว่า ในการประชุมวิป สปช. ก็ไม่มีใครถามเรื่องดังกล่าว มีแต่การปรึกษาหารือเรื่องวาระการประชุม ซึ่งภารกิจของสปช. จะไม่เกินวันที่ 13 ส.ค. ที่จะต้องรายงานผลการปฏิรูปต่อประชาชน หลังจากนั้น จะเป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องติดตามกันต่อไป โดยหลังจากวันที่ 22 ส.ค. เมื่อมีการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมาย และกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. จะวิเคราะห์รายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด และแถลงรายละเอียดให้กับสมาชิก สปช. ทั้งหมดให้ได้ทราบว่าจุดใดที่มีการแก้ จุดใดที่ยังไม่มีการแก้ มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร อะไรสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยจะวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง และให้ประชาชนร่วมกันประเมินร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

โดยการตัดสินใจไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่านนั้น เป็นเพราะว่ายังไม่มั่นใจว่าการปล่อยให้รัฐธรรมนูญออกไปใช้ จะสามารถลดความขัดแย้งได้หรือไม่ การตัดสินใจไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่านไป จึงเป็นการประหยัดทั้งงบประมาณ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่สำคัญที่สุด จะทำให้มีเวลาตั้งต้นใหม่ในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะต้องประกาศความชัดเจนว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร ในระยะเวลาเท่าใด ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ เวลาที่เหลืออยู่ ควรจะเป็นเวลาของการปฏิรูปจริงๆ ตนคิดว่าเวลาและสถานการณ์จะบีบให้รัฐบาลทำการปฏิรูปให้ได้

ส่วนแนวคิดของตนสอดคล้องกับแนวทางของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้ทำประชามติปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี หรือไม่นั้น นายวันชัย กล่าวว่า ความคิดเรื่องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป้าหมายของตน อาจจะเหมือนกับแนวทางของนายไพบูลย์ แต่วิธีการไม่เหมือนกัน คือ ตนเห็นด้วยกับการปฏิรูป แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะอาจทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น การไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่านก่อนดีที่สุด ขอยืนยันว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน สปช. คนที่มีอำนาจจะไม่มีราคาทางสังคม ไม่มีน้ำหนักในการปฏิรูป และถ้ายิ่งผ่านประชามติไปด้วยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะหมดราคา ที่จะทำงานต่อไป เพราะข้าราชการจะเกียร์ว่าง ประชาชนทุกคนรวมไปถึงสื่อมวลชนก็จะไปจับตามองดูว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป เสียงปฏิรูปก็จะไม่มีน้ำหนัก มาตรา 44 ก็จะไร้น้ำหนักไปด้วยเช่นกัน คนที่สามารถทำการปฏิรูปได้ จะต้องมีน้ำหนักทางสังคม จะต้องสามารถแต่งตั้งข้าราชการให้ทำงานได้ ดังนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน น้ำหนักของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะหมดทันที

** รับแค่คุยกันไม่มีการล่ารายชื่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเคลื่อนไหวของ สปช. เพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้นั่งในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เป็นแค่แนวคิด ตนไม่ได้สนใจว่าใครจะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ สิ่งที่เคลื่อนไหวขอยืนยันว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ในกลุ่ม สปช. ขณะนี้ก็มีการคุยกันเพื่อดูว่าใครจะให้ผ่านและไม่ให้ผ่าน แต่ไม่มีการล่ารายชื่ออย่างแน่นอน

สำหรับ สปช. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ตนมั่นใจว่าน่าจะมีความชัดเจน อย่างน้อยในกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ และ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ซึ่งก็เกิน 23 คนแล้ว ซึ่งการตัดสินใจ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของประเทศชาติ ที่มีการคำนึงว่า ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาของชาติได้หรือไม่

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ มีความสอดคล้องกับแนวคิดของมูลนิธิมวลมหาประชาชนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า สอดคล้องกันในเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ไม่ได้สนใจว่า นายสุเทพ จะเคลื่อนไหวอย่างไร ยืนยันว่า ทั้งมูลนิธิฯ และนายสุเทพ ไม่เคยมายุ่งกับการทำงาน สปช. ทุกคนที่นั่งอยู่ในนี้ ต้องตัดสินใจเองได้ แม้แต่ตนก็ไม่สามารถไปล็อบบี้ใครได้

**ท้าสปช.กลุ่มคว่ำรธน.คืนเงินเดือน

นายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. ด้านสังคม ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ามีกระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สมาชิก สปช. ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแลกกับการเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นเรื่องจริง ซึ่งตอนนี้มีสมาชิก สปช. ลงชื่อแล้วประมาณ 100 คน โดยกระบวนการจะเป็นไปในลักษณะให้กลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง ราว 2-3 คน ทำหน้าที่ไปขอให้สมาชิก สปช. ลงนามในกระดาษเปล่า ซึ่งล่าสุดได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง และให้สมาชิกสปช.จังหวัดภาคเหนือตอนล่างคนหนึ่งลงนาม แต่ถูกปฏิเสธ จึงแสดงให้เห็นว่าแม้ตนจะออกมาเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว แต่กลับยังมีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวอยู่

"ผมไม่เข้าใจคุณวันชัย สอนศิริ ที่ออกมาพูดว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่บอกเหตุผลว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ดีตรงไหน และทำไมไม่พูดสิ่งดีๆในร่างรัฐธรรมนูญบ้าง การที่คิดแบบนี้แสดงว่ามีอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า อย่าลืมว่าคุณก็เป็นสมาชิกสปช. ที่ทำคลอดกมธ.ยกร่างฯเหมือนกัน ดังนั้นหากคุณเป็นสุภาพบุรุษ ผมขอท้าว่า คุณวันชัย และสมาชิกสปช.คนไหนที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับ ระหว่างเป็นสมาชิกสปช. ที่เป็นภาษีของประชาชน หรือจะมีวิธีรับผิดชอบอย่างไรกับเงินและเวลาที่เสียไป ซึ่งผมขอประกาศว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ผมจะคืนเงินทุกบาทให้กับประเทศ" นายสิระ กล่าว

** อดีตผู้ว่าฯภาคกลางเอี่ยวล่าชื่อ

แหล่งข่าวจาก สปช.สายจังหวัด กล่าวถึงกระแสกระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สมาชิก สปช. ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแลกกับการเข้าดำรงตำแหน่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยขณะนี้มีสมาชิก สปช. ลงชื่อแล้วจำนวน100 คน ว่า ตอนนี้มีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาชิกก็มีการถามกันว่า จะคว่ำ หรือไม่คว่ำ โดยที่แต่ละคนไม่ได้สนใจในเนื้อหาขอร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว ยืนยันว่า มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และก็เหลือเพียงอีกส่วนหนึ่งที่จะรอการพูดคุยภายหลังการแถลงผลงานของ สปช. ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเชื่อว่าจะมีการหารือเพื่อให้ผลการลงมติออกมาในทิศทางเดียวกันอย่างแน่นอน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ผลดังกล่าวก็คงออกมาเป็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ แหล่งข่าวคนเดิมยังระบุด้วยว่าการเดินหน้าล่ารายชื่อของสมาชิกสปช. มีมาจากสปช.หลายสาย หลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ในภาคกลาง อยู่ด้วย

** 7ก.ย.ชี้ชะตา ต้องใช้ 125 เสียงขึ้นไป

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) แถลงผลการประชุมวิป สปช. ว่า เบื้องต้นได้กำหนดให้วันที่ 7 ก.ย.นี้ เป็นวันลงมติลงมติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับกำหนดประเด็นคำถามเพิ่มเติม ที่ใช้สำหรับการทำประชามติ แต่กำหนดการดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นทางการ เนื่องจากต้องรอให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ออกจากโรงพยาบาลก่อน และจะเสนอผลการประชุมวิปสปช. ให้นายเทียนฉาย พิจารณาอีกครั้ง ส่วนเสียงที่จะใช้ในการโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีเสียงสมาชิกสปช. 125 คนขึ้นไป จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 249 คน

สำหรับการกำหนดประเด็นคำถามการทำประชามตินั้น สปช.จะนัดประชุมในวันใดวันหนึ่ง ระหว่างวันที่ 17-21 ส.ค.นี้ โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการถามที่ประชุมว่า สปช. ควรจะกำหนดคำถามเพิ่มเติมในการทำประชามติหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็จะดำเนินการเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.ได้เสนอคำถามได้อย่างเป็นอิสระ ก่อนจะนำคำถามทั้งหมดมาชี้ขาดในวันลงมติร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะส่งคำถามที่สปช.เห็นชอบแล้วให้ครม.ได้พิจารณาต่อไป

** สปช.นัดถกปฏิรูปตำรวจ 10 ส.ค.

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า จะมีการประชุมสปช.ในระหว่าง วันที่ 10-11 ส.ค. เพื่อพิจารณาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีวาระสำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.แผนปฏิรูปกิจการตำรวจ 2.การปฏิรูปองค์การมหาชน และ 3.การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมในวิถีอิสลาม

** วางกรอบให้ชัดก่อนส่งต่อนักการเมือง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้แม้จะผ่านประชามติไป แต่ก็คงไม่ทำให้การปฏิรูปมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะการปฏิรูป ต้องเดินควบคู่กันไประหว่าง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ และผู้ทำหน้าที่ปฏิรูป และจะต้องมีการนำเสนอประเด็นปฏิรูปให้ชัดเจนก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ แล้วหลังจากนั้นพรรคการเมืองต่างๆ ก็สามารถหยิบประเด็นปฏิรูปต่างๆ นำไปเป็นนโยบายของพรรคที่สามารถจับต้องได้ และจะได้นำเสนอเป็นสัญญาประชาคมว่าถ้าพรรคนั้นเป็นรัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่าไม่น่าจะยากเกินไปที่จะทำ และไม่ต้องไปขยายโรดแมปแต่อย่างใด

**สปช.เริ่มหาเสียง อยากเป็นส.ว.

นายวิรัตน์กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาการทำงานของ สปช. ที่ผ่านมา ตนมองว่า สปช. หลายคน เดินหาเสียงเหมือนต้องการจะให้ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ว. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลายคนเข้าไปขึ้นคัตเอาต์ ไประดมหาเสียงในพื้นที่ เสมือนต้องการให้ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามา

***"บิ๊กตู่"เชื่อสปช.บางคนหวังดี

ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า ก็ประเมินมาแล้ว ยังไม่เกิดอะไรขึ้น และในวันนี้ ก็ยังไม่จบ ยังไม่ถึงเวลา เมื่อถึงเวลาก็มีวิธีแก้ไขปัญหาของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งมีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องร่างใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนไม่ใช่ตนเป็นคนร่าง

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับกระแสข่าวการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงไม่ได้อะไรถึงขนาดหรอกมั้ง ทุกคนต่างก็มีความคิดเป็นผู้ใหญ่กันทั้งหมดแล้ว ถ้าเขาจะไม่ผ่าน ก็น่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคล และตนคิดว่าบางทีเราไปวิตกกังวลมากไปหรือเปล่า สปช. บางคนเขาก็หวังดีพูดนั่นนี่ออกมา แล้วก็มีคนจับไปเป็นประเด็นก็ต้องระมัดระวัง สำหรับตนถือว่าอะไรยังไม่เกิดก็คือยังไม่เกิด และไม่เกี่ยวว่าจะเป็นการต่ออายุให้รัฐบาล หรือเพื่อให้มีเวลาทำเรื่องการปฏิรูป ไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ถ้าผ่าน ตนก็ต้องไปตามเวลา

เมื่อถามว่า หลายคนเป็นห่วงว่าหากนายกฯ จะลุกออกจากตำแหน่งแล้ว จะไปแบบไม่สนิทใจ เพราะงานหลายอย่างยังไม่สำเร็จลุล่วง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไม่ใช่เรื่องของตนแล้ว เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนรวมถึงสื่อมวลชนที่ต้องไปช่วยกันทำให้ทุกอย่างมันสงบ ไม่ใช่ให้ตนมานั่งรักษาความสงบตลอดชาติเสียเมื่อไร

“ถ้าผมไม่อยู่แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันจะต้องฆ่ากัน เพราะผมไม่อยู่ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะผมก็ต้องไป”

** มาร์ค ยันปชป.-สุเทพ อิสระต่อกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เราก็ทำหน้าที่พรรคการเมืองเท่าที่จะทำได้ ในภาวะที่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ส่วนมูลนิธิ เขาตั้งขึ้นมามีวัตถุประสงค์ตามที่เคยประกาศกับมวลชน คือ การผลักดันการปฏิรูป นายสุเทพก็แสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่าจะไม่หวนกลับมาเป็นนักการเมืองในระบบพรรคการเมือง จะทำงานในภาคประชาชน

***หวั่นกลายเป็นปมขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ควรให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ และดุลพินิจของ สปช. แต่ต้องมีเหตุมีผลว่าการจะรับหรือไม่รับร่างเพราะเหตุใด ความจริงแล้วควรพิจารณาไปตามเนื้อผ้า หากเห็นว่าเป็นร่างที่ดี ก็ควรเห็นชอบ แต่ถ้าเห็นว่ามีปัญหา สมควรต้องทำใหม่ ก็ต้องทำใหม่ ไม่ควรไปเอาปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องปฏิรูป ตนคิดว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือ นายกฯ หรือ คสช. ต้องมีความชัดเจนการปฏิรูปจะเดินไปทางใด รูปแบบไหน ถ้าทำไปแล้ว ต้องปรับแก้กรอบเวลา ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากพูดลอยๆ จะมีการเปลี่ยนกรอบเวลา จะกลายเป็นปมขัดแย้งได้

***“วิษณุ”ไม่รู้ข่าวคว่ำร่างแลกเก้าอี้สภาขับเคลื่อนฯ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวมีการล็อบบี้สมาชิก สปช. ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แลกกับการได้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า เท็จหรือจริงอย่างไรไม่รู้

เมื่อถามว่า ข่าวระบุถึงขั้นมีนายทหารที่ใกล้ชิดกับรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกไปต่อรอง นายวิษณุ กล่าวว่า “บ้า ไม่ใช่ผม และผมก็ไม่มีสิทธิในการคัดเลือกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วย เวลานี้ยังไม่มีการคัดเลือก เพราะยังเหลือเวลาอีกเป็นเดือน และถึงเวลานี้ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน และแม้จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญในฝัน แต่ก็ถือว่าได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำเยอะมาก และหากทุกอย่างไปตามปกติ ไม่ไปล้มตรงไหน ประมาณ ส.ค.หรือ ก.ย.2559 ก็จะเลือกตั้งได้ และหากจะล้มในขั้นตอน สปช. การเลือกตั้งก็ยังอยู่ในช่วงปี 2559 แต่ถ้าล้มช่วงม.ค.2559 ช่วงทำประชามติ ถ้าเป็นแบบนี้อาจทำให้การเลือกตั้งช้าไปถึงปี 2560

ส่วนการดำเนินการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สัปดาห์หน้าจะนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ เป็นครั้งที่ 2 เพื่อติดตามความคืบหน้าและความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งการจัดเตรียมกระดาษ จำนวนงบประมาณ และความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ที่ขณะนี้ในส่วนของ กกต.จังหวัด หลายจังหวัดหมดวาระลง ซึ่งการทำประชามติต้องให้กกต.จังหวัดทั้งประเทศเข้ามาดำเนินการ ทางกกต.เตรียมความพร้อมตรงนี้อย่างไร จะใช้เจ้าหน้าที่ส่วนไหนทำหน้าที่แทน เพราะไม่อยากให้แต่งตั้งกกต. จังหวัดใหม่ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้มีการบัญญัติให้มีกกต.จังหวัด โดยตนจะเสนอให้กกต.จังหวัดที่หมดวาระรักษาการต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับกกต.ตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น