xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” อ้างไม่มีใครบ่นข่าวล็อบบี้ ปัดมีพวกล่าชื่อ ชูคว่ำร่างฯ ดีกว่าปล่อยประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สปช.วันชัย” อ้างประชุมเมื่อเช้าไม่เห็นใครบอกไม่สบายใจข่าวลือล็อบบี้ รอเสร็จส่งแผนปฏิรูปคงตามติดร่างรัฐธรรมนูญเพิ่ม เผย 2 กมธ.รอชำแหละจุดดี-จุดด้อยอย่างละเอียด รับแนวทางต่าง “ไพบูลย์” แต่จุดหมายเดียวกันปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยันทำประชามติเรื่องนี้อาจก่อความแตกแยก บอกถูกมองว่าเหมือนกับทาง “สุเทพ” ก็เป็นสิทธิ ปัดมีล่าชื่อหนุน-ค้าน เชื่อสมาชิกประเมินสถานการณ์ประกอบโหวต

วันนี้ (5 ส.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.45 น. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง กระแสข่าวสมาชิก สปช.ไม่พอใจการปล่อยข่าวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนเข้าประชุมกับวิป สปช.เมื่อช่วงเช้า ก็ไม่เห็นมีสมาชิกคนไหนมาถามตน และไม่เห็นมีใครไม่สบายใจต่อกรณีดังกล่าว ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก สปช.แต่ละคนจะคิดและตัดสินใจลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนเชื่อว่าในระยะนี้เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการจัดทำแผนปฏิรูป สมาชิก สปช.ก็จะติดตามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น ช่วงนี้ที่การประชุมกันจนถึงดึก สมาชิกต่างก็เริ่มแลกเปลี่ยนความเห็นขยายเป็นวงกว้าง

นายวันชัยกล่าวว่า เมื่อได้รับมอบร่างรัฐธรรมนูญจาก กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 22 ส.ค.แล้ว กมธ.การเมืองกับ กมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็จะนำตัวร่างรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์อย่างละเอียดแสดงให้สังคมเห็นถึงข้อดีข้อเสีย จุดเด่นจุดด้อย ส่วนที่เคยเสนอขอแก้ไขได้รับการปรับแก้ให้หรือไม่ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ประเด็นการเมืองมีความสำคัญมากที่สุด หากร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ เรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ก็ถือว่าล้มเหลวไปด้วย โดยกระบวนการดังกล่าวนี้พร้อมเปิดให้สมาชิก สปช.รายอื่นเข้าร่วมรับฟัง ไม่ถือว่าเป็นการชี้นำ เป็นแต่เพียงการชี้แจงข้อมูลให้รับทราบ ไม่ได้บังคับให้ใครมาทำตาม

เมื่อถามว่า มองข้อเสนอประชามติปฏิรูปอีก 2 ปีก่อนเลือกตั้งของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.และกมธ.ยกร่างฯ อย่างไร นายวันชัยกล่าวว่า แนวทางของตนกับนายไพบูลย์ใช้วิธีต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ตนมองว่าคำถามประชามติดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ฝ่ายการเมืองอาจลุกขึ้นคัดค้านได้ แต่แนวทางของตนนั้นประหยัดเวลา ไม่เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง ทำให้รัฐบาลมีเวลาปฏิรูปบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ และรัฐบาลเองก็ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร อย่างไรบ้าง เวลากับสถานการณ์จะผลักดันให้รัฐบาลปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ ประเด็นปฏิรูปนี้ก็อาจมองได้อีกว่าเหมือนกับของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ก็เป็นสิทธิของทุกคน

“จำเป็นที่รัฐบาลต้องอยู่ปฏิรูปต่อไป โดยที่รัฐธรรมนูญต้องไม่ผ่าน เพราะหากรัฐธรรมนูญผ่าน คนจะมองไปที่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อำนาจตามมาตรา 44 ที่ต้องใช้ผลักดันให้มีการปฏิรูปจะไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป” นายวันชัยกล่าว

เมื่อถามว่า มีการเดินสายล่ารายชื่อแล้วหรือไม่ กระแสเห็นชอบไม่เห็นชอบเป็นอย่างไร นายวันชัยกล่าวว่า ก็มีความพยายามเช็คเสียงทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย แต่ถึงขนาดมาล่ารายชื่อให้เซ็นชื่อนั้นไม่มี ส่วนที่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็แน่นอนว่ามีเบื้องต้น 21 คนที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ไม่เห็นชอบ เบื้องต้นก็มีสมาชิกของ กมธ.การเมือง และกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กว่า 30 คน ส่วนกระแสก็ถือว่าตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ

“สุดท้ายก่อนการลงมติ ผมเชื่อว่าสมาชิกไม่ได้ประเมินแต่เพียงเนื้อหาร่างรัฐธรรมเท่านั้น แต่จะมีการประเมินสถานการณ์การเมืองประกอบการตัดสินใจลงมติด้วยแน่นอน” นายวันชัยกล่าว

“ต่อเวลา” เงื่อนไขปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง อ่อนไหวน่าหวาดเสียว!!
“ต่อเวลา” เงื่อนไขปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง อ่อนไหวน่าหวาดเสียว!!
สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นของบรรดาเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เพราะมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่ยังมีโอกาสหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง แต่หากการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ความหวังก็พลังทลาย และภายใต้เงื่อนไขแบบ “เท่ๆ” ในเรื่อง “ประชาธิปไตย” มันก็มีสิทธิ์พลิกได้เหมือนกัน เมื่อพิจารณาผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ทั้งในเรื่องผลงานรัฐบาล และเรื่องผลสัมฤทธิ์เรื่องการปฏิรูปที่บอกว่าจะ “ปฏิรูปทุกด้าน” นั้นมีความจริงจังแค่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น