xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” จ่อคุย กกต.ถกประชามติ ยันมีแผนแก้ สปช.โหวตไม่ผ่าน รับ รธน.ไม่ถูกใจแต่ก็พอใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีบอกความเห็น “วันชัย” ไม่สามารถโยงเป็นความคิดของ คสช.ได้ เตรียมเรียก กกต.ประชุมประชามติ ยันแผนกำหนดไว้ในรธน.ฉบับแก้ไขแล้ว รับรัฐธรรมนูญใหม่แม้ไม่ถูกใจทั้งหมดแต่ก็พอใจแล้ว ชี้เจ้าตัวมีสิทธิ์พูดอาจสะท้อนความเห็นของกลุ่ม วอนถ้าเห็นว่าดีขอให้ช่วยเชียร์ให้ผ่าน ส่วน “ไพบูลย์” ก็มีสิทธิ์เสนอคำถาม ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้ ไม่คอมเมนต์ “สุเทพ” บอกถ้าผิดทางโรดแมปก็คงเป็นอุบัติเหตุ


วันนี้ (3 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อว่า เป็นความคิดเห็นของนายวันชัย และที่ผ่านมานายวันชัยได้แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด แสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอ ความเห็นของนายวันชัยไม่สามารถนำมาผูกโยงว่าเป็นความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้ คสช.และรัฐบาลจะต้องยึดตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้พูดไว้จะยึดตามโรดแมปซึ่งมี 3 ระยะ เพียงแต่ละระยะนั้นไม่ได้ผูกกันว่ากี่วันหรือกี่เดือน แต่เป็นการผูกกับเหตุการณ์ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ แม้เวลานี้โรดแมปดังกล่าวอาจถูกกระทบจากการเปิดให้มีการลงประชามติซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ตนจะเรียกคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประชุมอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการทำประชามติ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีการล้มรัฐธรรมนูญก็สามารถอยู่ในโรดแมปได้ เพราะมีกำหนดระยะเวลาไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าเมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ส่งให้ สปช.ปลายเดือนสิงหาคม โดย สปช.จะลงมติในต้นเดือนกันยายน ซึ่งก็มีขั้นตอนอยู่แล้วว่าถ้าผ่านหรือไม่ผ่านควรทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯได้มีการปรับแก้ไขตามที่รัฐบาล และ คสช.เสนอความเห็นในหลายประเด็น แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมดก็ตาม ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่สามารถที่จะทำให้ถูกใจคนทุกกลุ่มที่เสนอความเห็นไปได้ แต่คิดว่าทำได้แค่นี้ก็ถือว่าพอใจแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดลักษณะนี้ของ สปช.ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายวันชัยเป็นสมาชิก สปช.มีสิทธิ์ที่จะพูด นอกจากนี้ยังเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. (วิป สปช.) จึงอาจพูดเพื่อสะท้อนความเห็นภายในกลุ่มซึ่งไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะมีสิทธิลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากนายวันชัยไม่ได้เป็น สปช.แล้วออกมาพูดก็อาจจะดูแปลก

“ที่ผ่านมาไม่มีใครไปปิดปากหรือไปบอกว่าพูดไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ถ้าเห็นว่าดีก็ขอให้ช่วยกันเชียร์ให้ผ่าน แต่ถ้าเห็นว่ามีส่วนไม่ดีมากก็ไม่ผ่าน ซึ่งผมดูแล้วเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ไขหลายประเด็นจนเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว” รองนายกฯ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เตรียมเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า นายไพบูลย์มีสิทธิเสนอเพื่อนำไปสู่การบรรจุเข้าไปเป็นหัวข้อของการลงประชามติ วันนี้หากใครมีความคิดแบบใดก็สามารถเสนอความเห็นออกมาได้ จากนั้นก็ค่อยมาโหวดกันอีกครั้งใน สปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การแสดงความคิดเห็นออกมาก็ดีกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วพอถึงเวลาก็โผล่ออกมา ตรงนี้อาจทำให้หลายคนทำใจกันไม่ทัน

“หาก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนนี้ และผ่านประชามติในเดือนมกราคม จากนั้นจะใช้เวลา 2 เดือน ให้ กมธ.ยกร่างฯ ร่างกฏหมายลูก แล้วส่งให้ สนช.พิจารณาอีก 3 เดือน จากนั้นส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1 เดือน และจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหรือ 90 วัน นั่นแสดงว่าความเดือนกันยายนปี 2559 จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ก็จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน และใช้เวลาในการลงประชามติ 4 เดือน และจากนั้นก็อยู่ที่ขั้นตอนการทำกฎหมายลูกและส่ง สนช.อีก 9 เดือนจึงจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เสียเวลาคือการที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เสียเวลาไม่มาก” รองนายกฯ กล่าว

นายวิษณุยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ว่า ตนไม่กล้าแสดงความเห็น ใครจะพูดอะไรก็พูดไป รัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องยึดตามที่ได้ประกาศตามโรดแมป ตามขั้นตอน แต่หากมีเหตุใดที่ต้องเบี่ยงเบนออกไป ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นอุบัติเหตุ รัฐบาลไม่ได้ไปเชียร์หรือห้าม ไม่ได้ควบคุม รัฐบาลมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งจะค่อยๆประกาศออกไป และจะไม่ต่างกับที่ตนได้พูดออกมาเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้พูดแทนรัฐบาลแต่พูดจากสิ่งที่ได้ยินจากรัฐบาล ซึ่งการออกมาของนายสุเทพ ตนไม่คิดว่าจะเป็นการกดดันรัฐบาล แต่อาจกดดันคนอื่น เช่น สปช. ทั้งนี้ประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูปมีการพูดมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น กปปส.ไม่ได้พูดผิดไปจากอดีตที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น