xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"แจงไทม์ไลน์สปช.คว่ำรธน. เลือกตั้งลากยาวไปปี60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (3ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรัฐบาลคสช. ได้อยู่บริหารประเทศต่อว่า เป็นความคิดเห็นของนายวันชัย และที่ผ่านมา นายวันชัยได้แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด แสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอ ความเห็นของนายวันชัย ไม่สามารถนำมาผูกโยงว่าเป็นความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้ ซึ่งคสช.และรัฐบาล จะต้องยึดตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ได้พูดไว้ว่า จะยึดตามโรดแมป ซึ่งมี 3 ระยะ เพียงแต่ละระยะนั้นไม่ได้ผูกกันว่ากี่วัน หรือกี่เดือน แต่เป็นการผูกกับเหตุการณ์ เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ แม้เวลานี้โรดแมปดังกล่าว อาจถูกกระทบจากการเปิดให้มีการลงประชามติ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้น ในวันที่ 10 ม.ค.59
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ตนจะเรียกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องการทำประชามติ ดังนั้นเมื่อไรที่มีการล้มรัฐธรรมนูญ ก็สามารถอยู่ในโรดแมปได้ เพราะมีกำหนดระยะเวลาไว้หมดแล้วในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า เมื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างเสร็จแล้ว ส่งให้สปช.พิจารณาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยสปช.จะลงมติในต้นเดือนกันยายน ซึ่งก็มีขั้นตอนอยู่แล้วว่า ถ้าผ่าน หรือไม่ผ่าน ควรทำอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากมธ.ยกร่างฯ ได้มีการปรับแก้ไขตามที่รัฐบาล และ คสช. เสนอความเห็นในหลายประเด็น แม้จะไม่ถูกใจทั้งหมดก็ตาม ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่สามารถที่จะทำให้ถูกใจคนทุกกลุ่มที่เสนอความเห็นไปได้ แต่คิดว่าทำได้แค่นี้ ก็ถือว่าพอใจแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดลักษณะนี้ ของคนที่เป็นสปช. ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายวันชัย เป็นสมาชิกสปช. มีสิทธิ์ที่จะพูด นอกจากนี้ยังเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช.(วิป สปช.) จึงอาจพูดเพื่อสะท้อนความเห็นภายในกลุ่ม ซึ่งไม่ถือว่าผิดอะไร เพราะมีสิทธิ์ลงมติรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากนายวันชัย ไม่ได้เป็น สปช. แล้วออกมาพูด ก็อาจจะดูแปลก
"ที่ผ่านมาไม่มีใครไปปิดปาก หรือไปบอกว่าพูดไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ถ้าเห็นว่าดี ก็ขอให้ช่วยกันเชียร์ให้ผ่าน แต่ถ้าเห็นว่ามีส่วนไม่ดีมาก ก็ไม่ผ่าน ซึ่งผมดูแล้วเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ไขหลายประเด็น จนเป็นที่น่าพอใจอยู่แล้ว"

เมื่อถามถึงกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เตรียมเสนอให้ทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนว่า จะให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปให้เสร็จก่อนค่อยเลือกตั้ง หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า นายไพบูลย์ มีสิทธิ์เสนอ เพื่อนำไปสู่การบรรจุเข้าไปเป็นหัวข้อของการลงประชามติ วันนี้หากใครมีความคิดแบบใด ก็สามารถเสนอความเห็นออกมาได้ จากนั้น ก็ค่อยมาโหวตกันอีกครั้ง ใน สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การแสดงความคิดเห็นออกมา ก็ดีกว่าอยู่นิ่งๆ แล้วพอถึงเวลาก็โผล่ออกมา ตรงนี้อาจทำให้หลายคนทำใจกันไม่ทัน
"หากสปช.รับร่างรัฐธรรมนูญ ในเดือนกันยายนนี้ และผ่านประชามติในเดือนมกราคม จากนั้นจะใช้เวลา 2 เดือน ให้ กมธ.ยกร่างฯ ร่างกฏหมายลูก แล้วส่งให้ สนช.พิจารณาอีก 3 เดือน จากนั้นส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลา 1 เดือน และจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน หรือ 90 วัน นั่นแสดงว่า เดือนกันยายนปี 2559 จะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีการคว่ำรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็จะต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน และใช้เวลาในการลงประชามติ 4 เดือน และจากนั้น ก็อยู่ที่ขั้นตอนการทำกฎหมายลูก และส่ง สนช.อีก 9 เดือน จึงจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เสียเวลาคือ การที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็เสียเวลาไม่มาก" รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุ ยังกล่าวถึง การเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ว่า ตนไม่กล้าแสดงความเห็นหรอก ใครจะพูดอะไรก็พูดไป รัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียวคือ ต้องยึดตามที่ได้ประกาศตามโรดแมป ตามขั้นตอน แต่หากมีเหตุใดที่ต้องเบี่ยงเบนออกไป ก็คงเป็นเรื่องที่เป็นอุบัติเหตุ รัฐบาลไม่ได้ไปเชียร์ หรือห้าม ไม่ได้ควบคุม รัฐบาลมีจุดยืนของตัวเอง ซึ่งจะค่อยๆ ประกาศออกไป และจะไม่ต่างกับที่ตนได้พูดออกมาเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้พูดแทนรัฐบาล แต่พูดจากสิ่งที่ได้ยินจากรัฐบาล ซึ่งการออกมาของ นายสุเทพ ตนไม่คิดว่าจะเป็นการกดดันรัฐบาล แต่อาจกดดันคนอื่น เช่น สปช. ทั้งนี้ ประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป มีการพูดมาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ดังนั้น กปปส.ไม่ได้พูดผิดไปจากอดีตที่ผ่านมา

**สปช.ส่วนหนึ่งหนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการล่ารายชื่อสมาชิก สปช. เพื่อสนับสนุนตั้งคำถามประชามติว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับสมาชิกสปช. เบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีผู้เห็นด้วยกับแนวทางนี้มากพอสมควร แต่ขณะนี้การรวบรวมรายชื่อยังไม่แล้วเสร็จ โดยกลุ่มสปช. ที่เห็นด้วยมาจากหลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็น สปช.ด้านใด หรือเป็นสปช.จังหวัด ซึ่งหากได้รายชื่อครบตามระเบียบข้อบังคับการประชุม ที่ผู้เสนอญัตติต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 คนแล้ว ตนก็จะนำเสนอต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งสมาชิกสปช. จะต้องทำหน้าที่ลงมติรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 7 ก.ย. แต่หาก สปช. มีมติว่า จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีการพิจารณา เรื่องการตั้งคำถามทำประชามติอีกต่อไป
"ต้องขอชี้แจงกับคนที่เข้าใจผิดว่า ในวันลงมติรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถพิจารณาวาระอื่นๆ ได้อีกนั้น ไม่เป็นความจริงเนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ชัดเจนว่า สปช.สามารถดำเนินได้ทั้งลงมติ รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาประเด็นคำถามในการดำเนินการจัดทำประชามติ" นายไพบูลย์ กล่าว

**"บิ๊กโด่ง"ยันคสช.ไม่เอียงข้าง"เทือก"

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ว่า ตนก็ดีใจที่แต่ละกลุ่มมีความเข้าใจรัฐบาล พร้อมทั้งมีความปรารถนาดี ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างทางนายกรัฐมนตรี ได้บอกแล้วว่าทุกกลุ่มก็ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และข้อเสนอที่ดี ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีต้องพยายามทำความเข้าใจ เพื่อปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ก็ขอให้แต่ละกลุ่มมีความสบายใจ ซึ่งตนมองว่าถ้าออกมาในแนวทางที่ดี มีความเข้าใจกัน สนับสนุนกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้ารัฐบาล และคสช. ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง ทุกก็กลุ่มสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าหากมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไข เพราะเราพร้อมยอมรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ อีกทั้งตนได้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง อะไรที่มีข้อบกพร่อง ก็สามารถเสนอแนะมาได้ เพื่อนำเอาข้อเสนอเข้ามาสู่ระบบการประชุมหารือ ว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ถ้าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม เราจะดูว่าอยู่ในกรอบหรือไม่ ถ้าเกินกรอบที่คสช.กำหนด เราก็จะใช้วิธีการพูดคุยกันต่อไป
พล.อ.อุดมเดช กล่าวถึงกระแสข่าวที่ คสช.ให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ ว่า ตนไม่ได้มองเช่นนั้น เพราะยังมีอีกหลายกลุ่มที่มีแนวคิดต่างๆ ถ้าดีก็ดี ถ้าอะไรที่ไม่ดี ก็จะพูดคุยทำความเข้าใจกัน ซึ่งคสช.ก็ได้ทำแบบนี้มาตลอด ประกอบกับปัจจุบันในภาพรวม ก็ได้รับความร่วมมือกับทุกกลุ่ม แต่อาจจะมีบางช่วงบางตอนที่ไม่เข้าใจกัน ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจ ก็จะส่งผลให้ภาพรวมของประเทศชาติอาจถูกมองในแง่ไม่ดีได้ และที่ผ่านมาก็ได้มีการตักเตือนกันไป ตนก็ขอขอบคุณที่กลุ่มต่างๆ ที่เข้าใจ และให้ความร่วมมือ
ทั้งนี้ตนขอเน้นว่า การทำงานของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ยังดำเนินการอยู่ ในขณะเดียวกันก็จะมีการจัดเวทีให้ร่วมแสดงวามคิดเห็นได้
เมื่อถามว่า จะเสนอให้ทุกกลุ่มนำข้อเสนอแนะไปที่ ศปป. ดีกว่าออกมาแสดงความคิดเห็นกันเอง พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรามีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ได้คัดเลือกมาตามลำดับ โดยมีผู้แทนแต่ละจังหวัด เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถส่งข้อคิดเห็นมาให้ผู้แทน สปช. ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง พร้อมทั้งยังมีเวทีของ ศปป. ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันได้
อย่างไรก็ตามตนคิดว่าเป็นการให้ความมั่นใจกับประชาชนว่คสช.รับฟังความคิดเห็นของประชาชนจริงๆไม่ใช่รับฟังมาเฉยๆ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ทางรัฐบาลก็จะนำไปสานต่อได้
เมื่อถามถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มนปช. ออกมาแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาล และคสช. เลือกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า "ขอให้มั่นใจเถอะครับ เรารู้อยู่แล้วสิ่งต่างๆ จะออกมาแบบนี้ ฝ่ายความมั่นคงก็ระมัดระวัง เพราะฉะนั้น ถ้าอะไรไม่เกินกรอบ และแสดงความเห็นที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่นำเอามวลชนออกมาชุมนุม ที่อาจให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งถ้ามามาในลักษณะนั้นทางเจ้าหน้าที่ คงจำเป็นต้องออกไประงับไม่ให้กลุ่มต่างๆ ดำเนินการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏเช่นนั้น ผมก็ให้กลุ่มอื่นๆ สบายใจได้ ว่าฝ่ายความมั่นคงให้ความเท่าเทียมกัน "
เมื่อถามถึง สปช. และนายสุเทพ ออกมาแสดงความคิดเห็นให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง อาจส่งผลให้ คสช.ขยายโรดแมป พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ก็เป็นตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 โดยความคิดเห็นดังกล่าว เป็นมุมมองส่วนตัวของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้เราจะมีขั้นตอนว่า จะรับหรือไม่รับความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งมีคณะที่ดูแลอยู่ แต่ว่าทางนายกรัฐมนตรี ยืนยันเสมอว่าต้องเป็นไปตามโรดแมป แต่บางช่วงอาจมีการปรับระยะเวลา เนื่องจากอาจมีเหตุการณ์บางประการ อย่างไรก็ตาม ทุกคนพยายามอย่างยิ่ง และดำเนินการให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า โรดแมปดังกล่าว จะขยายเวลาไปเป็นปี 2560 เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า "ต้องไปบวกลบคูณหาร วันเวลากันอย่างละเอียด ถ้าผมบอกไป มันอาจจะคลาดเคลื่อนได้ "
กำลังโหลดความคิดเห็น