ประชุม สปช. ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองชี้แจงยึดไพรมารีโหวต ยกเลือกตั้งสัดส่วนคู่ขนานเหมาะสุด “อลงกรณ์” ย้ำ สปช.ไม่ได้เสนอรัฐบาลแห่งชาติ ย้อน กมธ.ยกร่างฯ มั่นใจอย่างไรเลือกตั้งแล้วไม่วุ่นอีก ชี้กุญแจแก้ต้องสร้างมาตรฐานการเมือง แต่รับสังคมศรีธนชัยทำได้ทุกอย่าง ก่อนสมาชิกมีมติเห็นชอบรายงาน “วันชัย” รับกลุ่ม 40 ส.ว.ยังติดต่อกัน มีการประเมิน รธน. แต่ยันไม่มีล็อบบี้ วิป สปช. จี้มีข่าวให้รีบแก้ต่าง
วันนี้ (13 ก.ค.) ในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อแผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจ ระบบพรรคการเมือง (รอบ 2) โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ชี้แจงว่า การปฏิรูปการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคต้องผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นของสมาชิกในพื้นที่ (PRIMARY VOTE) และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องลาออกจากการเป็นกรรมการใหญ่พรรคและกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ ระบบพรรคการเมืองต้องเป็นแบบหลายพรรคโดยไม่มีกลุ่มทางการเมือง ส่วนการยุบพรรคการเมืองนั้น ห้ามมิให้ยุบพรรคการเมือง เว้นแต่พรรคการเมืองได้กระทำผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำลายความมั่นคงของชาติ
นายสมบัติกล่าวต่อว่า สำหรับระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทยคือระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน โดยมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบปิด 100 คน ทั้งนี้ ต้องปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรและกลไกจัดการเลือกตั้ง ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องปรามการซื้อสิทธิขายเสียง อย่างไรก็ตาม แผนปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอิสระต้องลดการแทรกแซงทางการเมือง โดยให้มีการเติบโตอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งการปฏิรูปองค์กร กลไกการทำงานขององค์กรอิสระเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. กล่าวว่า จากที่มีข่าวเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยืนยันว่า สปช.ไม่เคยเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติแม้แต่คนเดียว และเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วไปสู่การเลือกตั้ง จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าวิกฤตทางการเมืองโดยเฉพาะการจากระบบการเมืองและระบบการเลือกตั้งในอดีตจะไม่มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยความรุนแรงทางการเมืองจนเกิดการยึดอำนาจอีก ซึ่งรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่เริ่มต้นการเข้าสู่อำนาจองค์กรจัดการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งความจริงแล้วเรื่องระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริงคือระบบสัดส่วนผสม การคำนวณ ส.ส.เขตใหญ่ขึ้น แต่ไม่ใหญ่เกินกว่าที่จะดูแลประชาชน ซึ่งขณะนี้ไม่มีสถาบันทางการเมืองที่แน่นอน ดังนั้น ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคต้องทำการพิสูจน์ตัวเองอย่างน้อย 6 เดือน ให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคยอมรับ เพราะหัวใจของระบบพรรคการเมืองอยู่ที่ประชาชน นี่คือวิวัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมา แต่กุญแจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องสร้างคุณภาพและมาตรฐานทางการเมือง ทั้งในส่วนพรรคการเมือง องค์กรที่ดูแลกำกับการเลือกตั้ง องค์กรตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในรายงานฉบับนี้เราพยายามพูดถึงปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง พยายามสร้างมาตรการต่างๆ รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนที่สุดในสังคมศรีธนชัยนั้นทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือกฎกติกาอะไรออกมาอย่างไร
จากนั้นสมาชิก สปช.แสดงความคิดเห็นเรื่องการเลือกคณะกรรมการ กกต.จังหวัด โดยสมาชิก สปช.เสนอให้รับสมัครและเลือกที่ส่วนกลางเพียงที่เดียวแล้วจึงส่งลงไปประจำแต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันความเป็นอิสระ และปลอดจากคนของนักการเมือง โดยนายสมบัติกล่าวว่า ขอน้อมรับคำแนะนำและความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนไปประกอบการพิจารณาต่อไป จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าวพร้อมส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 200 ต่อ 2 งดออกเสียง 5
อย่างไรก็ตาม นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ขอหารือต่อที่ประชุม สปช.ว่า ตามที่มีสื่อเสนอข่าวว่ามีกลุ่ม 40 ส.ว.ไปหารือกันและจะทำการล็อบบี้ให้สมาชิกสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิกสปช.ส่งไลน์มาบอกว่า พวกเรามีสติปัญญา ไม่ได้กินแกลบกินรำสามารถที่จะให้ใครครอบงำได้ ถ้าเรื่องนี้ไม่มีการชี้แจง พวกเราก็จะเข้าใจผิดไปใหญ่ 40 ส.ว.ความจริงเลิกกันไปแล้ว บังเอิญเคยร่วมเป็น ส.ว. ปัจจุบันบางส่วนไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.ตนเรียนว่าเดือนหนึ่งเรากินข้าวและคุยกันบ่อย เหมือนกลุ่มจังหวัด หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานในลักษณะปรึกษาหารือกัน ในฐานะที่เคยทำงานทางการเมืองมาต้องยอมรับว่ามีการพูดคุยกินข้าวกันและติดตามสถานการณ์การเมืองแลกเปลี่ยนกันตามปกติจริงๆ เคยเป็นข่าว
“ผมไม่แน่ใจว่าข่าวนี้รั่วมาได้อย่างไร และรั่วมาแล้วถ้าตรงก็ไม่เป็นไร แต่รั่วมาแล้วผิดมีการบิดเบือนเสียหายไปใหญ่ ตนขอทำความเข้าใจว่ามีการกินข้าวพูดคุยกันจริงตามที่รายงาน และที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนกันจริงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและคุยกันว่าผ่านไปเป็นอย่างไร ถ้าไม่ผ่านเป็นอย่างไร มีการประเมินวิเคราะห์ถกแถลงกันเป็นเรื่องปกติของคนทำงานการเมือง แต่ไม่เคยมีการพูดเลยว่าให้พวกเราไปล็อบบี้ สปช. จึงเรียนว่าไม่มีเรื่องที่จะให้พวกเราไปล็อบบี้สมาชิกโดยเด็ดขาด ข่าวนี้ออกมาคลาดเคลื่อนไม่ตรงและไม่อยากให้พวกเราเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน”
ด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า ความจริงต้นตอที่ออกมาไม่ว่าข่าวจะตรงหรือไม่ตรงควรจะรีบแก้ไขทันที ไม่ควรปล่อยเป็นเวลา 2-3 วัน อย่างกรณีกลุ่ม 40 ส.ว. มีการอ้างอิงรายงานเรื่องมาล็อบบี้สปช. สมาชิกย่อมไม่พอใจและเขียนไลน์ว่าเราไม่ได้กินแกลบ มีดุลยพินิจของตัวเองความจริงไม่ควรมาพูดในที่ประชุม สปช. เพราะไม่ใช่เรื่องของ สปช. กลุ่ม 40 ส.ว.ต้องแถลงวันรุ่งขึ้นเลย รวมถึงกรณีที่มีข่าวว่า สปช.จะเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ทั้งประธานและตนออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เคยมีการเสนอข่าวดังกล่าว
“ขณะนี้มีหลายเรื่องที่กระทบความน่าเชื่อถือของ สปช.ไม่อยากให้ สปช.ดำเนินงานต่อ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ต้องการให้ สปช.ทำงานให้เสร็จ เราไม่ประสงค์จะไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของใคร เราต้องการทำพิมพ์เขียวประเทศให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่านั้น ขอสื่อไปถึงหลายกลุ่มว่าเรามาจากหลายฝ่าย ดังนั้นอาจจะได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงโดยอ้อมโดยเฉพาะ สปช.ต่อข่าวที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะมีอีกเรื่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างนี้ ขอให้แต่ละกลุ่มรีบออกมาปฏิเสธข่าว”
ด้าน น.ส.ทัศนากล่าวว่า ขณะนี้สปช.มีวาระเข้ามาพิจารณาเยอะขึ้น แต่มีเวลาเหลืออยู่น้อย จึงขอความกรุณาไม่ต้องมาปฏิเสธกันในห้องนี้