xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ คงวุฒิสภา 200 ให้เลือกตั้ง จว.ละคนโดยตรง หวัง สปช.เห็นฉบับเต็มจะยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผย ที่ประชุมเห็นชอบคงวุฒิสภา 200 คน เลือกตั้งจังหวัดละคนโดยตรง ไม่ต้องมีกรรมการกลั่นกรอง ส่วนสรรหาแบ่งให้อดีตปลัด, อดีต ผบ.ทัพ ฝั่งละ 5 คน ผู้แทนวิชาชีพ 15 คนให้ กกต. จับสลาก ตั้งกรรมการคัดผู้แทนด้าน เกษตร, แรงงาน, วิชาการ, ชุมชนและท้องถิ่น เลือกด้านละ 6 คน รวม 30 คน และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิเป็น 68 คน ให้ ยันปรับบัญชีรายชื่อไม่กระทบเจตนารมณ์เดิม เชื่อ สปช. เห็นร่างฯ เต็มจะยอมรับ ด้าน “เลิศรัตน์” ยันสมาชิกพรรคโหวตเลือกผู้สมัครยังไม่เริ่มสมัยหน้า

วันนี้ (7 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างได้พิจารณาในภาคที่ 2 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยวุฒิสภา โดยเห็นชอบให้คงจำนวนตามร่างแรกไว้ที่ 200 คน ส่วนที่มาที่เดิมให้มาจาก 5 ที่มานั้น เฉพาะที่มาที่ 5 ที่ระบุให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้ได้ ส.ว. จังหวัดละ 1 คนนั้น จากเดิมที่จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพให้เหลือ 10 คนแล้ว ค่อยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกมานั้น ให้ยกเลิกวรรคที่ว่าด้วยการตั้งกรรมการกลั่นกรองไปทั้งวรรค ส่งผลให้เหลือการเลือกตั้งโดยตรงทั้ง 77 คน ส่วนที่เหลืออีก 123 คนนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาที่มาโดย กมธ. ยกร่างฯ ในภาคบ่าย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยผลการพิจารณาที่มา ส.ว. ใน 4 วงเล็บที่เหลือดังนี้ วงเล็บหนึ่ง จากเดิม ให้ผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่าเลือกกันเองมา 10 คน ให้ลดเหลือ 5 คน และผู้เคยเป็น ปลัดกลาโหม ผบ.เหล่าทัพ หรือเทียบเท่า จากเดิมเลือกกันเองมา 10 คน ให้ลดเหลือ 5 คน วงเล็บสอง ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรือ อาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง จากเดิมเลือกกันเองมาไม่เกิน 15 คน ให้ กกต. เป็นผู้จับสลากมา

วงเล็บสาม ผู้แทนองค์กร 5 ด้าน เกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน และ ท้องถิ่น จากเดิมเลือกกันเองมาไม่เกิน 30 คน เป็นให้มีคณะกรรมการสรรหามาด้านละ 6 คน เพื่อป้องกันการล็อบบี วงเล็บสี่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง กฎหมาย การบริหารท้องถิ่น ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จากเดิมให้สรรหามา 58 คน เพิ่มเป็น 68 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาบุคคลในวงเล็บสามและสี่ ให้กำหนดโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที ส่วนอนาคตหากมีจังหวัดเพิ่มก็ให้ลดจำนวนในวงเล็บสี่ทดแทน)

นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตจาก 250 คน เป็น 300 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 200 คน เป็น 150 คน และปรับให้การเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นบัญชีเดียวทั้งประเทศ ว่า ไม่กระทบต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ได้มีการพิจารณาไว้แล้ว ซึ่งการแก้ไขรายมาตราที่ผ่านมาเป็นเพียงการปรับรายละเอียด โดย กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พยายามนำทุกคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและรักษาเจตนารมณ์เดิมเอาไว้ เช่น ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่คงระบบสัดส่วนผสมเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนมีค่า มีความหมาย และพรรคการเมืองได้รับจำนวน ส.ส. ที่ตรงตามเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และยืนยันว่า เจตนารมณ์เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. คือ 1. ทุกคะแนนเสียงประชาชนมีความหมาย และ 2. พรรคการเมืองมีความหมาย ได้จำนวน ส.ส. ตรงตามคะแนนนิยม

นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มี สปช. เสนอให้การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปโดยลับ ว่า ตนไม่ทราบ เพราะเป็นข้อเสนอส่วนบุคคล ซึ่งการจะใช้วิธีการใดต้องยึดข้อบังคับการประชุม สปช. แต่ที่ผ่านมาการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญก็ใช้การโหวตโดยเปิดเผย ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการลงมติร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นไปตามข้อบังคับและยึดถือตามประเพณีปฏิบัติที่เคยเป็นมา และมองด้วยว่าโดยพื้นฐานเชื่อมั่นในวิจารณญาณของ สปช. ที่จะใช้วิจารณญาณพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ตนเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการปรับแก้และเสนอให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาอย่างเป็นทางการ เมื่อ สปช. เห็นจะเกิดการยอมรับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนจะไม่ขอก้าวก่ายการตัดสินใจหรือสิทธิ์การแสดงความเห็นของ สปช.

โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการกำหนดให้ สปช. ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้ารับฟังการชี้แจงรายละเอียดของการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่ได้กำหนดเพราะต้องดูการทำงานและช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อน โดยก่อนหน้านี้ทาง กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือถึงประธาน สปช. เพื่อให้พิจารณาในสองประเด็น คือ 1. ส่ง สปช. ให้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมาธิการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป และ 2. การเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมารับฟังรายละเอียดของการปรับแก้ ขณะที่ในส่วนของคณะรัฐมนตรี ก็จะเชิญมาในฐานะผู้ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเช่นกัน

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และ โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาแสดงความคิดเห็นประเด็นการเปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองได้หยั่งเสียงส่งผู้สมัครก่อนลงเลือกตั้ง ว่า ประเด็นการหยั่งเสียงสมาชิกพรรคในการเลือกตั้งครั้งแรก เราจะเขียนยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็อาจจะมีการตั้งพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จากเดิม 375 เขต มาเป็น 300 เขต ดังนั้น เขตเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปและใหญ่ขึ้น ดังนั้น การหยั่งเสียงจึงทำไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งแรก จึงต้องเขียนยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล


เคาะส.ว.200คนเลือกตรง77คน
กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาโครงสร้างที่มาของวุฒิภา เห็นชอบให้คงจำนวนตามร่างแรกไว้ที่ 200 คน แต่มีข้อยุติให้ปรับที่มาในวงเล็บที่ห้า จากเดิมให้มีคณะกรรมการกลั้นกรองผู้สมัครให้เหลือจังหวัดละ 10 คน เป็นเปิดกว้างให้ประชาชนเลือกตั้งได้ จังหวัดละ 1 คน ส่วนที่มาของสัดส่วนข้าราชการเลือกกันเอง จากเดิม 20 คน ลดเหลือ 10 คน แล้วไปเพิ่มให้ตัวแทนกลุ่มที่หลากหลายจาก 58 คน เป็น 68 คน และให้เลือกโดยกรรมการสรรหา เช่นเดียวกับผู้แทนองค์กรเกษตร ชุมชน ฯลฯ 5 องค์กรในวงเล็บ 3 ต้องมีกก.สรรหา ส่วนตัวแทนภาควิชาชีพ องค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง จำนวนเท่าเดิม แต่ให้กกต.จับสลากมา แทนการเลือกกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น