xs
xsm
sm
md
lg

เคาะส.ว.200คนเลือกตรง77คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (7ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาในภาคที่ 2 ส่วนที่ 3 ว่าด้วยวุฒิสภา โดยเห็นชอบให้คงจำนวนตามร่างแรกไว้ที่ 200 คน ส่วนที่มา จากเดิมให้มาจาก 5 ที่มานั้น เฉพาะที่มาที่ 5 ที่ระบุให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้ได้ ส.ว. จังหวัดละ 1 คนนั้น จากเดิมที่จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพให้เหลือ 10 คนแล้วค่อยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกมานั้น ให้ยกเลิกวรรคที่ว่าด้วยการตั้งกรรมการกลั่นกรองไปทั้งวรรค ส่งผลให้เหลือการเลือกตั้งโดยตรงทั้ง 77 คน ส่วนที่เหลืออีก 123 คนนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาที่มาโดย กมธ.ยกร่างฯ
แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยผลการพิจารณาที่มา ส.ว. ใน 4 วงเล็บที่เหลือดังนี้
วงเล็บหนึ่ง จากเดิมให้ผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนระดับปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่าเลือกกันเองมา 10 คน ให้ลดเหลือ 5 คน และผู้เคยเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.เหล่าทัพหรือเทียบเท่า จากเดิมเลือกกันเองมา 10 คน ให้ลดเหลือ 5 คน
วงเล็บสอง ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง จากเดิมเลือกกันเองมาไม่เกิน 15 คน ให้ กกต.เป็นผู้จับสลากมา
วงเล็บสาม ผู้แทนองค์กร 5 ด้าน เกษตร แรงงาน วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น จากเดิมเลือกกันเองมาไม่เกิน 30 คน เป็นให้มีคณะกรรมการสรรหามาด้านละ 6 คน เพื่อป้องกันการลอบบี้
วงเล็บสี่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคง กฎหมาย การบริหารท้องถิ่น ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯจากเดิมให้สรรหามา 58 คน เพิ่มเป็น 68 คน
ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาบุคคลในวงเล็บสาม และสี่ ให้กำหนดโดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที (รวมแล้ว วงเล็บหนึ่ง 10 คน วงเล็บสอง 15 คน วงเล็บสาม 30 คน วงเล็บสี่ 68 คน และวงเล็บห้า 77 คน เป็น 200 คน ส่วนอนาคต หากมีจังหวัดเพิ่มก็ให้ลดจำนวนในวงเล็บสี่ทดแทน)
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต จาก 250 คนเป็น 300 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 คน เป็น 150 คน และปรับให้การเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นบัญชีเดียวทั้งประเทศว่า ไม่กระทบต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่ได้มีการพิจารณาไว้แล้ว ซึ่งการแก้ไขรายมาตราที่ผ่านมา เป็นเพียงการปรับรายละเอียด โดย กมธ.ยกร่างฯ ได้พยายามนำทุกคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และรักษาเจตนารมณ์เดิมเอาไว้ เช่น ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่คงระบบสัดส่วนผสม เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนมีค่า มีความหมาย และพรรคการเมืองได้รับจำนวนส.ส. ที่ตรงตามเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และยืนยันว่า เจตนารมณ์เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ส.ส. คือ 1. ทุกคะแนนเสียงประชาชนมีความหมาย และ 2. พรรคการเมืองมีความหมาย ได้จำนวนส.ส. ตรงตามคะแนนนิยม
ส่วนกรณีที่มี สปช. เสนอให้การลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปโดยลับนั้น ตนไม่ทราบ เพราะเป็นข้อเสนอส่วนบุคคล ซึ่งการจะใช้วิธีการใด ต้องยึดข้อบังคับการประชุม สปช. แต่ที่ผ่านมาการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ใช้การโหวตโดยเปิดเผย ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการลงมติร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นไปตามข้อบังคับ และยึดถือตามประเพณีปฏิบัติที่เคยเป็นมา และมองด้วยว่าโดยพื้นฐานเชื่อมั่นในวิจารณญาณของ สปช. ที่จะใช้วิจารณญาณพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

**"วิษณุ"บอกไม่มีเหตุผลโหวตลับ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงกรณีที่มีกระแสข่าว สปช.เสนอขอโหวตลับ ร่างรธน.ว่า ตนไม่ทราบข้อเสนอดังกล่าว แต่ตามข้อบังคับ ต้องโหวตเปิดเผย ถ้าจะโหวดลับ ต้องไปแก้ข้อบังคับ ซึ่งมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำแบบนั้น เรื่องดังกล่าวมีคนพูดขึ้นมา แต่อาจไม่ได้เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่
"ที่ผ่านมาการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ จะโหวตเปิดเผย แต่ผมนึกไม่ออกว่าเคยมีการโหวตลับในสมัยไหน หรือไม่ มันไม่มีเหตุอะไรที่ทำให้ต้องลงมติลับ แต่ผมไม่รู้คงแล้วแต่เขาไม่ขอวิจารณ์อะไร แต่ปกติกฎหมายอะไรก็ตามไม่ใช่เพียงรัฐธรรมนูญลงมติก็ต้องลงแบบเปิดเผย จะลงมติลับก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องของตัวบุคคล" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น